×

จีนจัดทัพใหม่ในรอบ 50 ปี! การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ที่อาจเปลี่ยนทิศทางโลก

19.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ศ.ดร. จุลชีพ ชิณวรรโณ ชี้จำนวนคณะกรรมการประจำกรมการเมืองชุดใหม่ที่จะเผยโฉมในช่วงวันที่ 25 ตุลาคมที่จะถึงนี้ อาจสะท้อนนัยทางการเมืองของจีนในอนาคต ซึ่งผูกโยงไปถึงการกระชับอำนาจอย่างเต็มที่ของตัวผู้นำรุ่นที่ 5 อย่าง สีจิ้นผิง และการเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่
  • มีความเป็นไปได้สูงมากที่สีจิ้นผิงจะได้รับมติให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนต่ออีก 1 สมัย ในที่ประชุม ‘สภาประชาชนแห่งชาติ’ ในเดือนมีนาคมปีหน้า และได้รับการยกย่องใกล้เคียงกับ 2 สุดยอดผู้นำจีนอย่าง เติ้งเสี่ยวผิง และ เหมาเจ๋อตุง

     การประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 19 ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 5 ปีเปิดฉากขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) ทั่วโลกต่างจับจ้องท่าทีและแถลงการณ์ของมติพรรค รวมถึงโฉมหน้าของคณะผู้บริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ที่จะมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศ ภายหลังจากที่คณะทำงานชุดเก่ามากกว่า 70% เกษียณอายุ (โดยทั่วไปแล้วสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่จะเกษียณอายุในวัย 68 ปี) นับเป็นการปรับทัพขุนพลจีนครั้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 5 ทศวรรษ ภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 5 อย่าง สีจิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนปัจจุบัน และประธานาธิบดีคนสำคัญของจีนที่กำลังจะหมดวาระ (แรก) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

     THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร. จุลชีพ ชิณวรรโณ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและนโยบายมหาอำนาจ โดยเฉพาะการเมืองจีน ถึงทิศทางแนวนโยบายของ ‘พญามังกร’ นับจากนี้ ภายหลังจากที่การประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เปิดฉากขึ้น

 

 

การประชุมครั้งนี้สำคัญอย่างไรและจะเกิดอะไรขึ้น

     ศ.ดร. จุลชีพ กล่าวว่า “การประชุมใหญ่ในครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลจีนจะทำสองเรื่องใหญ่ด้วยกัน เรื่องแรกคือการประเมินนโยบายในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้ว พร้อมกำหนดทิศทางของนโยบายในอีก 5 ปีข้างหน้า และเรื่องที่สองคือ การเลือกผู้นำชุดใหม่ ที่คณะทำงานชุดเก่าเกษียณอายุกันเป็นจำนวนมาก”

     โดยผู้แทนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กว่า 2,287 คน เดินทางมายังกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ระดับชาติในครั้งนี้ ซึ่งพวกเขาจะคัดเลือกคณะกรรมการกลาง (Central Committee) ชุดใหม่กว่า 205 คน รวมถึงคัดเลือกและรับรองคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) 25 คน และคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee : PSC) อีก 5-9 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศจีนในอนาคต

     ทั้งนี้คณะกรรมการกลางยังจะทำหน้าที่คัดเลือกผู้นำสูงสุดของพรรคให้ดำรงตำแหน่ง ‘เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่’ ซึ่งจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนอีกด้วย

     คาดการณ์ว่า สีจิ้นผิง อาจจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนต่ออีก 1 สมัย (5 ปี) เช่นเดียวกันกับผู้นำจีนคนก่อนหน้าอย่าง เจียงเจ๋อหมิน และ หูจิ่นเทา ที่เป็นผู้บังคับหางเสือเรือบริหารประเทศมานานกว่า 10 ปี

     หลังจากที่เมื่อต้นปี 2016 สีจิ้นผิงมีคำสั่งปฏิรูปกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army : PLA) โดยยุบและสลายอำนาจของกองบัญชาการใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ที่เปรียบเสมือนเป็นแขนขาและเป็นกำลังหลักให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่มีแนวทางการปฏิบัติงานที่อาจจะขัดแย้งกับคณะกรรมธิการทหารส่วนกลาง (Central Military Commission) ก่อนที่จะจัดตั้งโครงสร้างใหม่ขึ้น ประกอบไปด้วย 7 กรม 3 คณะกรรมธิการ และ 5 สำนักงาน เพื่อทดแทนหน่วยงานดังกล่าวที่ถูกยุบลง

 

 

ถ่ายเลือดใหม่ กระชับอำนาจ ปราบคอร์รัปชัน

     นอกจากนี้ในที่ประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ยังมีการเปลี่ยนถ่ายตำแหน่งให้แก่ ‘สายเลือดใหม่’ ให้เข้ามามีสิทธิ์มีเสียงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นบุคคลที่ประธานาธิบดีไว้วางใจ ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในทางหนึ่ง รวมถึงกระชับอำนาจให้อยู่ที่ตัวประธานาธิบดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยคาดการณ์ว่าคณะกรรมการประจำกรมการเมืองชุดใหม่จะขึ้นเผยโฉมต่อสายตาชาวจีนและประชาคมโลกในวันที่ 25 ตุลาคมที่จะถึงนี้

     โดย ศ.ดร.จุลชีพ มองว่า “การแต่งตั้งคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (PSC) เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เนื่องจากจำนวนสมาชิกของคณะทำงานนี้กำลังบอกอะไรบางอย่างกับเราในอนาคต ซึ่งอาจจะมีสมาชิก 7 คนตามเดิม หรืออาจจะลดลงเหลือเพียง 5 คนก็ได้ เพราะคราวที่แล้วก็เคยลดจาก 9 เหลือเพียง 7 คน สาเหตุที่ลดลงอาจเป็นเพราะว่า สีจิ้นผิงอาจจะยังไม่ต้องการแต่งตั้งทายาททางการเมือง หรือไม่ก็อาจจะเพิ่มก็ได้ ก็เพื่อที่จะเพิ่มพื้นที่ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแวว แต่ถ้าหากเหลือเพียง 5 คน 3 คนที่เพิ่มมา (นอกจากสีจิ้นผิงและหลี่เค่อเฉียง) อาจจะเป็นคนที่ใกล้ชิดกับสีจิ้นผิงมาก นั่นหมายความว่าสีจิ้นผิงจะกุมอำนาจได้อย่างเต็มที่”

 

 

พญามังกรภายใต้การบริหารงานของผู้นำรุ่นที่ 5

     ตลอดระยะกว่า 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารประเทศของสีจิ้นผิง จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่สำคัญประเทศหนึ่งในเวทีประชาคมระหว่างประเทศ มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ประชาชนกว่า 60 ล้านคนขยับขึ้นมาอยู่เหนือเส้นความยากจน พร้อมเดินหน้าขจัดความยากจน (ให้ลดลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้) ภายในปี 2020

     พร้อมกันนี้ผลงานชิ้นโบแดงที่จีนพยายามผลักดันมาโดยตลอดอย่าง เส้นทางการค้าสายไหม (One Belt One Road) ที่เชื่อมโยงทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงเงินลงทุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ยิ่งช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของการเป็น ‘พญามังกรของจีน’ ภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 5 อย่างแท้จริง

     ความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม (Ecological Progress) และปัญหาคอร์รัปชัน เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในแถลงการณ์มติจากการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 (2012) ช่วงที่ผู้นำรุ่นที่ 5 เผยโฉมต่อประชาคมโลกอย่างเป็นทางการ จนถึงวันนี้ วันที่วาระแรกในการบริหารประเทศของสีจิ้นผิงจะหมดลง เขาได้ขับเคลื่อนประเทศนี้ตามเจตนารมณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์มาโดยตลอด

     ปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในปีนี้ (2017) จีนทุ่มงบประมาณกว่า 361 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) เพื่อผลักดันการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศ พร้อมตั้งเป้ายกเลิกการใช้ถ่านหิน ภายในปี 2020 นอกจากนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงยังดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดกวาดล้างผู้ทุจริตคอร์รัปชันทั้งในกองทัพและพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีผู้ทุจริตคอร์รัปชันที่ได้รับโทษแล้วมากกว่า 1.3 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีนกว่า 280 คน

 

 

สีจิ้นผิงอาจอยู่นานถึง 3 สมัย เป็นไปได้จริงหรือ?

     ถึงแม้ว่าในกฎหมายของจีนกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย แต่มีสัญญาณบางอย่างที่อาจบ่งชี้ได้ว่า ผู้นำรุ่นที่ 5 อย่าง สีจิ้นผิง อาจอยู่ในตำแหน่งยาวจนถึงปี 2027

     สีจิ้นผิงเพิ่งขจัดคู่แข่งทางการเมืองไป โดย 2 ดาวรุ่งที่น่าจับตามองคือ ซุนเจิ้งไฉ เลขาธิการพรรคประจำเมืองใหญ่อย่างฉงชิ่ง และ หูชุนหวา เลขาธิการพรรคประจำกวางตุ้ง ทั้งสองคนเคยถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการกรมการเมืองมาแล้วในการประชุมพรรคครั้งที่ 18 (เมื่อ 5 ปีก่อน) ซึ่งทั้งคู่เป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในจำนวน 25 คน โดยหลายฝ่ายมองว่า มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะขึ้นสืบทอดอำนาจต่อจากสีจิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง

     อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า พวกเขาจะถูกเลื่อนขั้นให้เป็นคณะกรรมการบริหารประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) และบริหารประเทศจีนต่อไปในอนาคต แต่ ซุนเจิ้งไฉ ดาวรุ่งพุ่งแรงกลับถูกประกาศว่า ทำผิดกฎของพรรคอย่างร้ายแรงและถูกปลดออกจากตำแหน่ง โดยไม่ได้มีการระบุตำแหน่งของเขาบนเส้นทางการเมืองนับจากนี้ ในขณะที่ หูชุนหวา ดูเหมือนจะมีภาษีดีกว่า เพราะเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในพื้นที่และแสดงความจงรักภักดีต่อสีจิ้นผิง จึงได้เลื่อนขั้นให้เป็นเลขาธิการพรรคประจำกวางตุ้ง

     ทั้งนี้สี จิ้นผิงยังกระชับอำนาจโดยการแต่งตั้งบรรดาคนสนิทในตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย เช่น เฉินหมินเอ๋อ วัย 56 ปี หัวหน้าพรรคประจำเมืองฉงชิ่งคนใหม่ ที่เคยทำหน้าที่หัวหน้าด้านงานประชาสัมพันธ์ ขณะที่สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำเจ้อเจียง ระหว่างปี 2002-2007 และ ไช่ชี หัวหน้าพรรคประจำกรุงปักกิ่ง ผู้เคยเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสคนสนิทของสีจิ้นผิง ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีนยังอาจจะแหวกม่านธรรมเนียมปฏิบัติขอร้องให้ หวังฉีซาน พันธมิตรคนสนิทของเขาในวัย 69 ปี ทำงานร่วมกับเขาอีก 1 วาระ แม้อายุจะเกินเกณฑ์ (อย่างไม่เป็นทางการ) ให้ต้องเกษียณอายุแล้ว

     ศ.ดร. จุลชีพ กล่าวว่า “ถ้าหากหวังฉีซานสามารถอยู่ต่อได้เพื่อช่วยงานของสี จิ้นผิง และเพิ่มอำนาจในคณะกรรมการประจำกรมการเมืองต่ออีก 1 สมัย ก็มีความเป็นไปได้อย่างมากที่สีจิ้นผิงอาจจะขออยู่ต่ออีก 1 สมัยในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 (ในอีก 5 ปีข้างหน้า) ซึ่งจะไม่เคยมีใครอยู่ในตำแหน่งได้นานถึง 3 วาระแบบนี้มาก่อนเลย

 

 

     นอกจากนี้สีจิ้นผิงยังได้รับการยกย่องจากชาวจีนในฐานะ ‘ผู้มีอำนาจสูงสุด’ ในรอบหลายทศวรรษเทียบเท่ากับสุดยอดผู้นำตลอดกาลอย่างเหมาเจ๋อตุงและเติ้งเสี่ยวผิง ที่ทิ้งมรดกทางประวัติศาสตร์การเมืองไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะการมีแนวคิดและทฤษฎีทางการเมืองเป็นของตนเอง

     ออร์วิลล์ เชลล์ (Orville Schell) ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาและหัวหน้าศูนย์ Asia Society’s Center on US-China Relations แสดงความเห็นผ่าน The Guardian ว่า “นี่คือเดิมพันที่สูงมาก ถ้าคุณสามารถนำเอาแนวคิดของคุณบรรจุเข้าไปในธรรมนูญของพรรคได้ มันเหมือนกับว่าชื่อของคุณจะกลายเป็นอมตะและผู้นำรุ่นที่ 5 อย่างสีจิ้นผิงก็กำลังมองหาความเป็นนิรันดร์นี้” เขาคาดการณ์ว่าสีจิ้นผิงอาจจะกำลังบัญญัติ Xi Jinping Thought ไว้ในธรรมนูญพรรค “เพราะสิ่งนี้จะยิ่งช่วยทำให้สีจิ้นผิงได้รับการยกย่องสูงสุดเหมือนกับเหมาเจ๋อตุง”

     ทางด้าน ศ.ดร. จุลชีพ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “เขาได้พิมพ์งานเขียนของเขาออกมาภายหลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนได้เพียงไม่นาน แล้วก็เป็นผลงานที่ฟังดูแล้วคนก็พึงพอใจ เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามีแนวโน้มสูงมากทีเดียวที่เขาจะได้รับการยกย่องให้ใกล้เคียงกับเติ้งเสี่ยวผิงและเหมาเจ๋อตุง แต่แนวคิดของเขายังไม่แน่ว่าจะใช้ชื่อว่าอะไร แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นชื่อหนังสือของเขา ‘The Governance of China’ มันอาจจะเป็นแนวการปกครองของสีจิ้นผิงก็ได้ ซึ่งสะท้อนว่าเขาได้รับการยอมรับอย่างมาก”

     ดังนั้น การที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงอาจจะอยู่ในอำนาจยาวนานมากกว่า 2 วาระ จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับชาวจีนและประชาคมโลกมากนัก ถ้าหากผู้นำรุ่นที่ 5 คนนี้ยังนำพาประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนยืนได้อย่างมั่นคงในเวทีโลก

 

 

แนวโน้มนโยบายจีนและความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า

     ภายหลังจากที่สีจิ้นผิงกล่าวเปิดการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวานนี้ ศ.ดร. จุลชีพ แสดงความเห็นว่า “แนวนโยบายของจีนต่อจากนี้ก็คงจะคล้ายๆ กับแนวนโยบายในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สีจิ้นผิงเองก็พูดแล้วว่า เขาจะยังคงสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการเปิดประเทศและโลกาภิวัตน์ต่อไป ในขณะที่นโยบายด้านการเมืองจะมีการคุมเข้มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น และอาจจะมีท่าทีแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้นในกรณีของไต้หวันที่เขาเตือนว่า อย่าคิดที่จะเป็นเอกราชเชียว เขาจัดการได้

     “ผมคาดว่าสีจิ้นผิงจะยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป แต่จะต้องเป็นการประชุมครั้งหน้า โดยจะมีการประชุมที่เรียกว่า ‘สภาประชาชนแห่งชาติ’ ในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งจะเป็นการแต่งตั้งตำแหน่งบริหารประเทศอย่างประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการประชุมภายในพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น”

     ศ.ดร. จุลชีพ กล่าวทิ้งท้ายถึงความสัมพันธ์ทางการทูตของไทย-จีน นับจากนี้ว่าจะยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้กับไทยในเวทีระหว่างประเทศ

     “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนค่อนข้างดี ดังจะเห็นได้จากการที่เขาเชิญนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเป็นผู้นำเพียงคนเดียวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS Plus ครั้งที่ 9 ที่จีนในปีนี้ ซึ่งสะท้อนว่า เขายังคงให้ความสัมพันธ์กับไทย เพราะมีประเทศที่ได้รับเชิญเพียง 5-6 ประเทศ และแต่ละประเทศก็เป็นประเทศผู้นำในแต่ละภูมิภาค โดยความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีนับจากนี้ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า”

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising