มณฑลต่างๆ ในจีนเตรียมวางแผนเพิ่มการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของงบประมาณทั้งหมดในปีนี้ เนื่องจากทางการยังคงพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการควบคุมโควิดในช่วงที่ผ่านมา
กว่า 2 ใน 3 ของภูมิภาคจีนได้ประกาศแผนใช้จ่ายสำหรับโครงการสำคัญในปีนี้ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง การผลิตพลังงาน และนิคมอุตสาหกรรม นับว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 12.2 ล้านล้านหยวน ซึ่งคิดเป็น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ และคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามการวิเคราะห์ของ Bloomberg
ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวหลังจากสิ้นสุดมาตรการควบคุมโควิด คาดว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในปีนี้ บาดแผลทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของงานและรายได้อาจค่อยเป็นค่อยไป
แผนการใช้จ่ายในระดับมณฑลยังส่งเสริมกรณีของนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนที่ระบุว่าการลงทุนในภาคการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงทางการจีนที่พึ่งพากลยุทธ์การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการจ้างงานและนำไปสู่รายได้ของครัวเรือน แทนที่จะให้เงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนโดยตรง
จากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายมุ่งไปที่ส่วนต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมไฮเทคและพลังงาน โดยรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและความมั่นคงทางพลังงาน ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดทางการเมืองกับสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ดังกล่าวยังแสดงถึงหนี้ภาครัฐและภาคธุรกิจของจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพิ่มความกังวลให้แก่นักลงทุนถึงเสถียรภาพทางการเงินของจีน
IMF คาดการณ์ว่าหนี้ภาครัฐทั้งหมดของจีน ซึ่งรวมถึงหนี้ทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น จะเพิ่มขึ้นประมาณ 12% รวมเป็น 123% ของ GDP ในปีนี้ ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจจะเพิ่มขึ้น 4% เป็น 117% ของ GDP ประเทศจีน
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดสะท้อนว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานได้เร่งตัวขึ้นแล้ว โดยกิจกรรมด้านการก่อสร้างในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษ
Jeremy Stevens ประธานทีมเศรษฐกิจของ Standard Bank Group กล่าวว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น 5-10% สำหรับงบประมาณประจำปี
“อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี การเติบโตของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง รัฐบาลมีความหวังว่าจะผลักดันเศรษฐกิจ และในบางจุดพวกเขาจะสามารถส่งไม้ต่อไปยังภาคเอกชนและการบริโภค ผมคิดว่าแผนเป็นเช่นนี้”
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังช่วยเพิ่มความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ ในสถานการณ์ที่การก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10% ในปีนี้ ความต้องการใช้น้ำมันของจีนจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้ถ่านหินอาจจะทำจุดสูงสุดใหม่ เช่นเดียวกับความต้องการใช้ทองแดงและอะลูมิเนียมที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
หรือแม้กระทั่งเหล็กที่รัฐบาลต้องการจะลดการผลิตลงเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเพิ่มขึ้น ทำให้เหล็กยังมีความสำคัญ
อย่างมณฑลเหอหนานถือเป็นเป้าหมายการลงทุนหลักแห่งหนึ่ง ด้วยแผนการเพิ่มงบลงทุนเกือบ 50% ในปีนี้ สู่ระดับ 2 ล้านล้านหยวน โดยจะเป็นการลงทุนเพื่อปรับโฉมอุตสาหกรรม โดย 1 ล้านล้านหยวนจะถูกใช้เพื่อยกระดับภาคการผลิตให้ทันสมัย ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น ถนนและระบบน้ำ คิดเป็นเพียง 20%
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- มหาเศรษฐีจีนโล่งใจได้นานแค่ไหน? หลังรัฐบาลจีนเปลี่ยนท่าทีมาเป็นมิตรกับภาคธุรกิจมากขึ้น
- พญามังกรจะผงาดหรือกลับหัว? เมื่อเศรษฐกิจจีนโตเกินคาด แต่ภาระหนี้ยังจ่อทะลุเพดาน จับตาท่าที ‘สีจิ้นผิง’ ชี้ชะตาผลลัพธ์
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
อ้างอิง: