จีนประกาศคว่ำบาตรพลเมืองอังกฤษ 9 คน ซึ่งรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน เพื่อเป็นการตอบโต้รัฐบาลอังกฤษที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรจีนก่อนหน้านี้ จากกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ ซึ่งจีนระบุว่าเป็นการแพร่คำโกหกและให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับจีน
สำหรับชาวอังกฤษทั้ง 9 คนที่ถูกทางการจีนคว่ำบาตรนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลแถวหน้าในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์จีน โดยทั้งหมดจะถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศจีน ฮ่องกง และมาเก๊า ถูกอายัดทรัพย์สินในประเทศจีน และห้ามมิให้พลเมืองและสถาบันของจีนทำธุรกิจกับบุคคลเหล่านี้
ความเคลื่อนไหวของจีนมีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศคว่ำบาตรจีนจากข้อกล่าวว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตนเองซินเจียง
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า ผู้ที่ถูกคว่ำบาตรนั้นคือกลุ่มคนที่ออกมาเปิดโปงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง
“เสรีภาพในการพูดเพื่อต่อต้านการข่มเหง ทารุณกรรม ถือเป็นเสรีภาพพื้นฐาน และผมขอยืนหยัดร่วมกับพวกเขา” นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวผ่านทวิตเตอร์
ด้าน โดมินิก ราบบ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า หากปักกิ่งต้องการโต้แย้งข้อกล่าวหาโดยมีความน่าเชื่อถือ ก็ควรอนุญาตให้สหประชาชาติเข้าไปในพื้นที่ซินเจียง พร้อมกล่าวว่ารัฐบาลขอร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ที่ถูกจีนคว่ำบาตร
การคว่ำบาตร “ไม่สามารถหยุดพวกเขา และไม่สามารถหยุดรัฐบาลอังกฤษไม่ให้ออกมาพูดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในซินเจียง” รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษกล่าวกับ BBC
อดีตผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟอย่าง เซอร์เอียน ดันแคน สมิท ซึ่งเป็น 1 ใน 9 คนที่ถูกจีนคว่ำบาตรกล่าวว่า เขาจะถือว่าการถูกคว่ำบาตรเป็นการประดับตราเกียรติยศ
เซอร์เอียนกล่าวว่า “พวกเราที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีภายใต้หลักนิติรัฐต้องพูดแทนคนที่ไม่มีปากเสียง ถ้านั่นทำให้ความโกรธของจีนมาลงที่ผม ผมก็จะถือเอาสิ่งนั้นเป็นตราแห่งเกียรติยศ”
การตอบโต้อังกฤษของจีนเกิดขึ้นหลังจากที่จีนได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรในทำนองเดียวกันต่อสหภาพยุโรป ซึ่งร่วมมือกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ในการประกาศแซงก์ชันจีนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า จีนกักตัวชาวอุยกูร์ไว้ที่ค่ายกักกันในซินเจียง ท่ามกลางข้อกล่าวหาที่ว่ามีการทรมาน บังคับใช้แรงงาน และล่วงละเมิดทางเพศภายในค่ายเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม จีนปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าค่ายเหล่านี้ถูกใช้เป็นสถานที่ ‘ปรับทัศนคติ’ เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย
ทอม ทิวเกนแดต ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ของสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษกล่าวกับ BBC ว่า “ผมมองว่านี่เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษโดยตรง และเป็นความพยายามที่จะปิดปากคนอังกฤษที่เลือกผมเพื่อให้มาเป็นกระบอกเสียงแทนพวกเขา”
ขณะที่ นุสรัต กานี ส.ส. จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟอีกรายที่ถูกจีนคว่ำบาตร กล่าวกับรายการ Today ของ BBC Radio 4 ว่า “ฉันไม่กลัว สิ่งนี้ทำให้ฉันยิ่งต้องออกมาพูดเกี่ยวกับชาวอุยกูร์มากขึ้น”
ด้าน ดร.สมิท ฟินลีย์ ทวีตว่า “ผมไม่เสียใจเลยที่พูดออกไป และผมจะไม่ปิดปากเงียบ”
ลอร์ดเดวิด อัลตัน กล่าวว่า “การใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เป็นความพยายามแบบหยาบๆ เพื่อห้ามเสียงวิพากษ์วิจารณ์” พร้อมเสริมด้วยว่า “หน้าที่แรกของสมาชิกรัฐสภาคือการใช้เสียงของตนเองแทนผู้ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง”
ทั้งนี้โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนรายหนึ่งกล่าวว่า การที่อังกฤษคว่ำบาตรจีนนั้นถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎเกณฑ์พื้นฐานที่กำกับดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอังกฤษอย่างรุนแรง โดยกระทรวงต่างประเทศของจีนได้เรียกเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศจีนเข้าพบ เพื่อแสดงการต่อต้านและประณามอย่างแข็งกร้าว
ขณะที่ หัวชุนอิ๋ง โฆษกหญิงแห่งกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่า จีนถูกบังคับให้ต้องปกป้องตนเอง เป็นการตอบโต้การคว่ำบาตรของอังกฤษที่เกิดขึ้นจากคำโกหก
ด้านโฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงลอนดอนวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรการคว่ำบาตรของอังกฤษ ระบุจีนไม่เคยยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า แต่ถ้าคนอื่นทำ “เราก็พร้อมที่จะทำเป็นเพื่อน”
ภาพ: Dan Kitwood / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: