Global Energy Monitor เปิดเผยรายงานผลการศึกษาล่าสุดที่พบว่า จีนกำลังเร่งดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จากปัจจุบันเป็น 2 เท่า ซึ่งหากโรงงานที่สร้างไว้เดินเครื่องผลิตพลังงานในอนาคตได้ตามกำหนด จะทำให้จีนสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้ 1,200 กิกะวัตต์ภายในปี 2025
รายงานระบุว่า ความเป็นไปได้ดังกล่าวจะทำให้จีนบรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาพลังงานสะอาดก่อนกำหนดการเดิมที่ตั้งไว้ 5 ปี คือในปี 2030
รายงานยังระบุอีกว่า ความสามารถในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ของจีนในปัจจุบันมีมากกว่าส่วนอื่นๆ ของทั้งโลกรวมกัน ขณะที่กำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2017 และยังเท่ากับจำนวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมของประเทศชั้นนำอีกประมาณ 7 ประเทศรวมกัน
Dorothy Mei ผู้จัดการโครงการของ Global Energy Monitor กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของจีนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างน่าตื่นตะลึง จนทำให้อดอ้าปากค้างไม่ได้
ทั้งนี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีนเป็นผลมาจากการผสมผสานระหว่างการให้มาตรการจูงใจและการออกกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้จีนสามารถทำตามคำมั่นในที่ให้ไว้ในปี 2020 ว่าจะกลายเป็นประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2060
อย่างไรก็ตาม Global Energy Monitor พบว่า ในขณะที่จีนอาจกลายเป็นผู้นำระดับโลกด้านพลังงานหมุนเวียนผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ก่อมลพิษความร้อนให้กับโลก ก็กำลังเพิ่มการผลิตถ่านหินเช่นกัน
Martin Weil นักวิจัยของ Global Energy Monitor กล่าวในแถลงการณ์ว่า จีนกำลังก้าวหน้า แต่ด้วยถ่านหินที่ยังคงมีอิทธิพลในฐานะแหล่งพลังงานหลัก จีนจึงต้องการความก้าวหน้าที่โดดเด่นยิ่งขึ้นในการจัดเก็บพลังงานและเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต
ทั้งนี้ รายงานการศึกษาล่าสุดตามรายงานของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาดและ Global Energy Monitor พบว่า การให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าถ่านหินในจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2022 ซึ่งการออกใบอนุญาตใหม่แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015 โดยปริมาณของโครงการถ่านหินใหม่ที่ได้รับอนุญาตเทียบมีกำลังการผลิตเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ 2 แห่ง
จีนหันมาใช้ถ่านหินเป็นส่วนใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่มีพลังทำลายล้างสูงรุนแรง และยังทำให้เกิดภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี ส่งผลความต้องการไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นพร้อมๆ กับกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลง อันเป็นผลพวงจากแม่น้ำที่เหือดแห้ง
ด้าน Byford Tsang ที่ปรึกษาด้านนโยบายอาวุโสของ E3G กล่าวว่า การพึ่งพาถ่านหินของจีนเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อเป้าหมายพลังงานสีเขียวทั่วโลก แต่การพัฒนาพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสัญญาณที่ดี
Tsang ชี้ว่า จีนกำลังขยายขนาดการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นผู้ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดทั่วโลก นี่เป็นทั้งสาเหตุและผลสืบเนื่องจากต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับพลังงานถ่านหิน พร้อมหวังว่าพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูกลงจะโน้มน้าวให้จีนเลิกใช้ถ่านหินทั้งหมด
นอกจากนี้ Tsang ยังกล่าวอีกว่า ความสามารถของจีนในการสร้างและใช้พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ ทำให้จีนมีต้นทุนที่แข่งขันได้ด้วยความเร็วและขยายขนาดได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจจีนของโครงการถ่านหินใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ ในปี 2021 องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ได้ และจะไม่มีการพัฒนาน้ำมันและก๊าซใหม่ หากโลกต้องการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
อ้างอิง: