×

นโยบายชิมช้อปใช้ บรรเทาแต่ไม่รักษา

08.11.2019
  • LOADING...

นโยบายชิมช้อปใช้ของรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในโลกโซเชียล แต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้าประกาศนโยบายชิมช้อปใช้เฟสที่ 2 เพื่อเปิดให้ประชาชนสมัครใช้สิทธิเพิ่มอีก 3 ล้านสิทธิ โดยเพิ่มเติมจากเฟสแรกที่ประกาศไปแล้ว 10 ล้านสิทธิ จากมุมมองของนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่เพิ่งจบใหม่คนหนึ่ง ผมขอร่วมแสดงความคิดเห็นและวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของนโยบายนี้ พร้อมข้อเสนอแนะในตอนท้าย 

 

เริ่มที่จุดประสงค์หลักของรัฐบาลในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จึงได้ประกาศใช้นโยบายเพื่อหวังจะใช้มาตรการนี้มาช่วยผลักดันให้ GDP ไทยขยายตัวได้ 3% โดยรัฐบาลต้องการที่จะให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของผู้รับสิทธิ 10 ล้านคนในเฟสแรก และอีก 3 ล้านคนในเฟสที่ 2 หลังจากได้รับวงเงิน 1,000 บาทไปแล้ว โดยเฉพาะการออกไปท่องเที่ยวใช้สอยในจังหวัดอื่น เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อที่ซบเซาให้กลับมาคึกคัก และรัฐบาลคาดหวังว่าผู้ที่ได้รับเงินไปแล้วน่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากกว่า 1,000 บาทที่ได้รับไป นอกจากนี้หลังจากเปิดใช้สิทธิในแอปพลิเคชัน หรือที่เรียกว่าแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ไปแล้ว รัฐบาลจะให้ต่อที่สองคือสามารถขอรับเงินคืนได้สูงสุดถึง 15-20% ด้วยหวังจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน ได้รับประโยชน์ด้วย

 

ที่ผ่านมาแม้ว่าช่วงแรกจะมีปัญหาติดขัดเชิงระบบในการเข้าสมัครใช้สิทธิ แต่ก็ไม่แปลกใจที่มีประชาชนจำนวนมากจะสมัครรับสิทธิจนเต็มโควตาอย่างรวดเร็วในทุกๆ วันที่เปิดรับ เพราะว่าวงเงิน 1,000 บาทที่จะได้รับสำหรับประชาชนทั่วไปนับเป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว 

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลายคนมองว่าการแจกเงินฟรีนั้นสิ้นเปลืองงบประมาณ หรืออาจจะไม่ได้ช่วยประชากรฐานรากอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ โดยเฉพาะการวิจารณ์ผ่านโลกโซเชียลอย่างหนัก หลายคนตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำเงินไปแจกประชาชนคนละ 1,000 บาทเช่นนี้ ในขณะที่หลายภาคส่วนสำคัญยังขาดงบประมาณสนับสนุน เช่น โรงพยาบาลรัฐที่มีผู้ป่วยรอคิวเข้ารักษาและยังไม่มีทรัพยากรพอที่จะบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ผมจึงเริ่มสนใจติดตามและต้องการร่วมวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายชิมช้อปใช้ที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์นี้

 

 

 

ขอเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อดีของนโยบายนี้ ก่อนที่จะชี้ให้เห็นว่าจุดอ่อนหรือข้อเสียก็มีอยู่เช่นกัน  

 

ประการแรก การกระตุ้นการใช้จ่ายจากการที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปในเศรษฐกิจหลักหมื่นกว่าล้านบาทเพื่อเพิ่มจำนวนเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ย่อมจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ GDP ของไทยกระเตื้องขึ้น โดยผ่านตัว C คือการบริโภคและจับจ่ายใช้สอย โดยจากคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เม็ดเงินที่อัดฉีดลงไปจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินประมาณ 5-6 เท่าในระบบเศรษฐกิจ

 

ประการที่สอง ช่วยด้านการเก็บภาษีและดึงให้มีร้านค้าจดทะเบียนอย่างถูกต้องเข้ามาในระบบมากขึ้น นโยบายนี้มีส่วนให้ร้านค้าเข้ามาลงทะเบียนและแจ้งการเสียภาษีตามยอดที่จะขายได้จริง และทำให้รัฐบาลมีโอกาสเก็บภาษีได้เป็นระบบและเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น 

 

ประการที่สาม การมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด มาตรการภายใต้นโยบายนี้จะช่วยเสริมสร้างสังคมไร้เงินสดในยุคดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากประชาชนผู้รับสิทธิจะต้องรับวงเงินผ่านแอปฯ เป๋าตัง ซึ่งเป็น e-Wallet ข้อดีของการมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดมีหลายประการ รวมทั้งการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการพิมพ์ธนบัตร และสังคมไร้เงินสดยังช่วยสร้างความโปร่งใส สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญการมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดจะสอดคล้องกับเป้าหมายการเสริมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลสู่ยุค Thailand 4.0

 

ประการที่สี่ ช่วยสร้างฐานข้อมูล Big Data และสร้างแพลตฟอร์มระดับประเทศ จากการที่รัฐบาลจะได้รับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้ใช้สิทธิมากถึง 13 ล้านคน หรือราว 1 ส่วน 5 ของประชากรไทย ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มระดับประเทศขนาดมหาศาล หากนำไปใช้ทำ Data Analytics จะทำให้รัฐสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและต่อยอดใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อีกมาก ทั้งในแง่ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค พฤติกรรมร้านค้า และข้อมูลจังหวัดที่มีการใช้แอปฯ เป๋าตัง ฯลฯ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถออกแบบนโยบายให้ตรงจุดได้มากยิ่งขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐจะนำข้อมูลจากแอปฯ เป๋าตังนี้ไปต่อยอดทำอะไรหรือไม่หลังจากจบโครงการชิมช้อปใช้แล้ว จึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลควรต้องนำไปวิเคราะห์ต่อ เนื่องจากข้อมูลก็เหมือนน้ำมันดิบ หากเราไม่นำไปกลั่น ข้อมูลที่ได้มาก็จะเสียของ

 

 

 

นอกจากนี้ในแง่จุดอ่อนหรือข้อเสียของนโยบายนี้จากมุมมองของผมมี 3 ข้อหลัก ดังนี้

 

ประการแรก นโยบายนี้มีระยะเวลาที่เร่งรัดและมีลักษณะเหวี่ยงแห ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในลักษณะเฉพาะเจาะจง ด้วยเงื่อนไขของนโยบายมีเพียงว่าต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไปจับจ่ายใช้สอยในร้านที่ร่วมโครงการในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดที่ตัวเองมีทะเบียนบ้านอยู่ ผมมองว่าเงื่อนไขที่ระบุอาจจะยังกว้างและเร่งรัดการใช้เงินมากเกินไป เพราะผู้ยื่นขอรับสิทธิอาจจะยังไม่ได้วางแผนในการไปท่องเที่ยวในต่างจังหวัดที่สนใจจริงๆ และต้องรีบเปิดสิทธิใช้เงิน จึงอาจจะเร่งรีบใช้เงินจนเกิดอุปสงค์เทียม 

 

จากสถิติที่กระทรวงการคลังได้เผยแพร่ เห็นได้ว่าจังหวัดที่มีคนไปใช้สิทธิมากที่สุดก็ยังเป็นหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ติดอันดับ 1 เพราะมีกลุ่มชาวต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานและพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่แล้วที่นำสิทธินี้มาใช้จ่าย ในแง่นี้จึงมองว่าไม่ได้ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ให้กับจังหวัดอื่นๆ มากนัก 

 

ประการที่สอง ผู้รับสิทธิไปไม่ถึงฐานรากเท่าที่ควร และเกิด Digital Divide ผมมองว่านโยบายชิมช้อปใช้ที่เน้นการลงทะเบียนผ่านแอปฯ ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ที่ยังมี Digital Divide ทั้งในแง่ผู้รับสิทธิและผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วม

 

ในด้านผู้รับสิทธิ นโยบายจะเอื้อต่อผู้มีทักษะดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้มากพอที่จะมีสมาร์ทโฟน มีคอมพิวเตอร์ หรือมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มีทักษะด้านไอที เมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้น้อยหรือกลุ่มในวัยสูงอายุที่ทักษะด้านดิจิทัลต่ำ 

 

ในแง่นี้ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัว โดยปัจจุบันผมเป็น Management Trainee ดูแลร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นในโคราช ทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยรับฟังความเห็นจากพนักงานเกี่ยวกับนโยบายนี้ ทั้งพนักงานในสาขาที่ผมดูแล ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนที่สมัครใช้สิทธิ สำหรับผู้ที่ไม่สนใจสมัครใช้สิทธิ เขาให้เหตุผลต่างๆ เช่น สมัครไม่เป็น ได้ยินว่ายุ่งยาก ทำงานก็หนักแล้ว ไม่มีเวลาสมัคร ถ้าสมัครแล้วก็ไม่ได้มีโอกาสไปเที่ยวต่างจังหวัดอื่น ฯลฯ ในขณะที่ตัวผมเองและเพื่อนธรรมศาสตร์ด้วยกันได้ยื่นสมัครและใช้สิทธินี้ไปแล้ว ซึ่งพวกผมอาจจะอยู่ในกลุ่ม Rational Consumer ที่มี Digital Literacy ซึ่งมองว่าโครงการชิมช้อปใช้ทำให้มีโอกาสได้รับเงิน 1,000 บาทที่เป็นจำนวนเงินไม่น้อยสำหรับพวกผม แล้วทำไมพวกเราจะไม่อยากได้ ทำให้พวกผมไม่ยอมพลาดที่จะยื่นสมัครรับสิทธิ 

 

ในแง่ของผู้ประกอบการหรือร้านค้าก็เช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการจำกัดสิทธิกับร้านค้าปลีกใหญ่ๆ ด้วยการกำหนดว่าหนึ่งเลขผู้เสียภาษีจะเลือกรับสิทธิได้เพียงจังหวัดเดียว และเปิดรับได้ไม่เกิน 20 จุดชำระเงิน แต่ผมมองว่ากลุ่มร้านขนาดกลางถึงขนาดใหญ่น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าร้านค้าเล็กๆ และมีข้อสังเกตว่าร้านค้าเล็กๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้าตามตลาด ร้านข้าวแกง ร้านโชห่วย ยังไม่ได้จดทะเบียนร่วมรับสิทธิมากเท่าที่ควร จากที่ผมได้ไปพูดคุยสอบถามเหตุผลก็ได้รับคำตอบที่คล้ายคลึงกัน เช่น สมัครไม่เป็น คิดว่าขั้นตอนยุ่งยาก ไม่ชำนาญด้านไอที อินเทอร์เน็ตที่ร้านสัญญาณไม่ดี ถ้าร่วมก็จะไม่ได้เงินทันที แต่ปกติแล้วต้องนำเงินไปหมุนเวียน ฯลฯ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเด็นคำตอบเหล่านี้คือจุดอ่อนของร้านค้ารายย่อยเหล่านั้น และเจ้าของร้านก็มักจะเป็นคนในท้องถิ่นที่มาเปิดร้านทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่อายุมากหน่อยและไม่เก่งด้านเทคโนโลยี 

 

ในทางกลับกัน ร้านค้าขนาดใหญ่ที่จะได้เปรียบจากนโยบายนี้มักจะเป็นร้านที่มีชื่อเสียง เป็นที่นิยมอยู่แล้ว หรือมีตำแหน่งที่ตั้งโดดเด่นชัดเจน ทำให้ผู้ใช้สิทธิสามารถหาเจอได้ง่ายกว่า และเจ้าของร้านมักจะมีความทันสมัย จึงปรับตัวและทำให้มีข้อได้เปรียบกว่า 

 

 

ประการที่สาม บรรเทาแต่ไม่รักษา ผมมองว่าภายใต้นโยบายชิมช้อปใช้ที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมากกว่าหมื่นล้านบาท แต่กลับเป็นมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น คือมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 จึงเปรียบเสมือนเป็นเพียงยาแก้ปวดที่จะช่วยบรรเทาอาการ แต่ไม่ได้ช่วยรักษาที่ต้นเหตุ และอาจจะสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ประชาชนเกิดการเสพติดของฟรี หรือรอคอยเพียงแค่เงินที่จะได้รับแจกฟรี 

 

แม้ว่าการประกาศมาตรการนี้ของรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบหลักหมื่นล้านบาทที่อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายกระเตื้องขึ้น และจะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชน หากแต่เงินที่อัดลงฉีดไปอาจจะไปไม่ถึงระดับฐานรากมากนัก อาจจะไม่ได้อัดฉีดเงินไปยังผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ กลุ่มประชากรฐานรากยังไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร ซึ่งคนระดับฐานรากเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บและมีสัดส่วนหนี้สินสูง รวมทั้งมีโอกาสที่จะถูกปลดออกจากงานในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้  

 

ที่สำคัญ นโยบายชิมช้อปใช้ก็ไม่ได้ช่วยแก้จุดอ่อนของประเทศในเรื่อง Digital Literacy ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน และอาจจะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแย่ลงไปอีก 

 

 

สำหรับส่วนสุดท้ายในแง่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ โดยเฉพาะข้อมูลคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดในยุคนี้ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล Big Data ของผู้เปิดใช้ e-Wallet เป๋าตัง 13 ล้านคน และต้องวิเคราะห์ Data Analytics อย่างจริงจังเพื่อนำข้อมูลมาออกแบบนโยบายที่เหมาะสมและแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

 

ในระยะยาว รัฐบาลจึงควรต่อยอดด้วยการนำแอปฯ เป๋าตังที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องต่อไป หากทำได้สำเร็จจะสร้างประโยชน์ได้อีกหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะในยุคแห่งการล่าข้อมูลที่มีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากยอมขาดทุนเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูลของลูกค้า ดังนั้นฐานข้อมูลผู้ใช้สิทธิที่รัฐบาลมีอยู่ในมือจึงมีมูลค่ามหาศาล หากวางแผนดีๆ ก็จะสามารถต่อยอดทำให้เกิดบริการทางการเงินต่างๆ ตามมา ขอยกตัวอย่างบริการทางการเงินของบริษัท Ant Financial ในเครือ Alibaba ของจีนที่สามารถใช้ Fin Tech มาสร้างระบบ 310 Micro Lending ซึ่งสามารถพิจารณาการปล่อยกู้ได้รวดเร็วแม่นยำภายในเวลา 1 วินาที โดยใช้ข้อมูลของผู้ขอกู้จากฐานข้อมูลแอปฯ Alipay ที่ Alibaba มีอยู่กว่า 520 ล้านบัญชี ทำให้พิจารณาผลได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ชาวจีนและ SMEs จีนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายและสะดวกขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี ผมเข้าใจว่าในกรณีของไทยอาจจะติดขัดในข้อจำกัดหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่ภาครัฐยังขาดทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญด้านนี้ และประเทศไทยยังขาดแคลน Data Scientist ที่จะมาช่วยต่อยอดหาประโยชน์จาก Big Data ที่มีอยู่

 

โดยสรุป นโยบายชิมช้อปใช้มีทั้งข้อดีและจุดอ่อน และมีโจทย์ยากที่รัฐบาลต้องดำเนินการต่อ ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะช่วยเปลี่ยนมุมมองของพวกผมและคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีต่อนโยบายนี้ และจะทำให้นโยบายชิมช้อปใช้เกิดประโยชน์ในระยะยาวตามมาด้วยเพื่อไม่ให้เป็นเพียงการแจกเงินไปสูญเปล่า แต่ทั้งหมดนี้จะต่อยอดและสร้างประโยชน์ในระยะยาวได้จริงหรือไม่ก็ต้องรอบทพิสูจน์ฝีมือของทีมงานรัฐบาลต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X