×

วันเด็กไทยทำไมมีแค่คำขวัญ สำรวจวันเด็กโลกสากล ทำอะไรกันบ้าง?

11.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • คำขวัญวันเด็ก เป็นมรดกตกทอดจากผู้นำทหารมามากกว่า 60 ปี
  • วินัย การเรียน คือคำที่ถูกใช้ซ้ำในคำขวัญวันเด็กบ่อยที่สุดถึง 18 ครั้ง
  • วันเด็กไทย ขาดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับเด็ก มีเพียงกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ
  • วันเด็กของแคนาดา มีกิจกรรมให้ ส.ส. พบกับเด็กเพื่อรับฟังความเห็น ขณะที่ลัตเวีย สอนให้เด็กอยู่ร่วมกับความแตกต่างทางเชื้อชาติ

วันเด็กแห่งชาติในยุคเริ่มแรกของไทยไม่ใช่วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมอย่างปัจจุบัน ขณะที่การกำหนดให้มี ‘วันเด็ก’ ก็เป็นผลมาจากปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2498

 

ในปีนั้นประเทศต่างๆ มากกว่า 40 ประเทศต่างจัดงานฉลองวันเด็กของประเทศตัวเองขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

งานวันเด็กแห่งชาติของไทยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 และได้จัดติดต่อกันมาทุกปีจนถึง พ.ศ. 2506 ก่อนจะเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กใหม่ เพราะเดือนตุลาคมเป็นฤดูฝน เด็กๆ ไม่สะดวกมาร่วมงาน

 

งานวันเด็กแบบปัจจุบันซึ่งกำหนดให้ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2508 คล้อยหลังงานวันเด็กครั้งแรกเกือบ 10 ปี

 

แต่คำขวัญวันเด็กโดยนายกรัฐมนตรีมีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้คำขวัญวันเด็กในประเทศไทยเป็นปีแรก และคงกล่าวได้ไม่ผิดนักว่าคำขวัญวันเด็กคือมรดกตกทอดจากผู้นำทหารมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม

จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2499)

 

อย่างไรก็ตาม คำขวัญวันเด็กเงียบหายไป 2 ปี หลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2500

 

ก่อนที่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ได้มอบคำขวัญวันเด็กอีกครั้ง และนับแต่นั้น ประเทศไทยก็ไม่เคยขาดแคลนคำขวัญวันเด็กอีกเลย มีเว้นช่วง พ.ศ. 2507 ยุคจอมพล ถนอม กิตติขจร เพียงปีเดียวเท่านั้น

 

ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2502)

 

 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า งานวันเด็กของไทยเกิดขึ้นเป็นเวลา 61 ปี ส่วนใหญ่จะเน้นกิจกรรมการละเล่นที่หน่วยงานจัดขึ้น และมีสัญลักษณ์วันเด็กเป็นคำขวัญ

 

จากการรวบรวมคำขวัญวันเด็กของทุกรัฐบาล จากนายกฯ พลเรือน 8 คน และนายกฯ ทหาร-ตำรวจ 11 คน พบ 6 คำสำคัญที่ถูกใช้ซ้ำ ได้แก่ วินัย การเรียน 18 ครั้ง, ชาติ 18 ครั้ง, คุณธรรม 15 ครั้ง, ขยัน 11 ครั้ง, ประหยัด สามัคคี ซื่อสัตย์  9 ครั้ง และประชาธิปไตย 4 ครั้ง

 

 

ศ.ดร.สมพงษ์ บอกว่าประเทศไทยเน้นให้เด็กมีระเบียบวินัย แต่ไม่ให้เด็กมีส่วนร่วม ขณะที่หากเราไปเทียบกับประเทศอื่นๆ สิทธิเด็กคือคำสำคัญที่สุดของนโยบายด้านเด็ก

 

พอเรานึกถึงวันเด็ก เราคิดถึงคำขวัญก่อน ส่งต่อคำขวัญกันมาเรื่อยๆ และเน้นให้เด็กมีวินัย

 

แต่วินัยของครูไทยหรือสังคมไทยคือนั่งเงียบๆ อยู่ในระเบียบ ห้ามถาม ใน 1 ปี เรามีวันเด็กเพียงวันเดียว แต่อีก 364 วันเราปล่อยให้เด็กไทยอยู่กับปัญหามากมาย

 

และที่แย่ไปกว่านั้น ใน 1 ปี มีประมาณ 200 วันที่เด็กไทยติดอยู่ในห้องเรียนที่เสมือนกรงขังสกัดกั้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

 

คำว่าเด็กดีคือต้องอยู่เงียบๆ มีวินัย เชื่อฟังครู จึงเกิดปัญหาเด็กจำนวนหนึ่งก้าวร้าว แสดงออกรุนแรง เพราะถูกกดดันให้ติดอยู่ในกรอบ ฉะนั้นการศึกษาไทยจึงเป็นตัวเหนี่ยวรั้งระบบคิดและพัฒนาการของเด็ก

 

“สังคมไทยไม่เชื่อว่าเด็กทำได้ ไม่เปิดโอกาสให้เด็กคิดนอกกรอบ แต่ในสังคมสากลเขาฟังเสียงเด็ก ให้เด็กมีสิทธิและเป็นเจ้าของโจทย์ แต่สังคมไทยมองว่าเด็กต้องเชื่อฟังคำสั่ง มีระเบียบวินัย ห้ามไปยุ่งเรื่องอื่นนอกจากการเรียน” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

 

 

ศ.ดร.สมพงษ์ พาเราบินออกจากกรอบไปส่องดูนโยบายด้านเด็กและแนวทางปฏิบัติในวันเด็กของประเทศสากล เนื่องจากที่มาของวันเด็กกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยองค์การสหประชาชาติ และเมื่อ พ.ศ. 2535 กำเนิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีการลงนามกันกว่า 196 ประเทศ ถือเป็นหนึ่งในอนุสัญญาที่มีประเทศร่วมลงนามกันมากที่สุด

 

ดังนั้นประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มี ‘วันเด็ก’ แต่อาจเป็นประเทศเดียวในโลกที่วันเด็กมีแค่คำขวัญ

 

ที่แคนาดา มีวันพา ส.ส. ไปโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญของวันเด็กแคนาดา โดย ส.ส. จะต้องเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ตัวเอง 1 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ส. ได้พูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้เด็กมีส่วนในการเสนอปัญหาและวิธีแก้ไข เห็นเด็กเป็นเสียงสำคัญ และให้สิทธิเท่าเทียม ไม่ดูแคลนความคิดของเด็ก

 

ส่วนที่เยอรมนี ใช้โอกาสวันเด็กรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก เช่น ปี 2017 ใช้ชื่อ Give Children a Voice ให้เด็กมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยนำความเห็นของเด็กไปเสนอต่อสภาฯ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม

 

ส่วนวันเด็กประเทศไทยเป็นงานอีเวนต์ระดับประเทศ แต่ขาดความคมชัดของนโยบาย ไม่มีอะไรโดดเด่น ประเทศไทยจะทำทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก แต่ให้เด็กมีส่วนร่วมน้อย และเห็นผลเป็นรูปธรรมน้อยมาก

 

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำห่างกันถึง 20-25 เท่า ระหว่างในเด็กเมืองกับชนบท เด็กไทยขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความเป็นพลเมืองเจือจางมาก

 

 

ศ.ดร.สมพงษ์ ยกตัวอย่างประเทศลัตเวีย ซึ่งมีความคล้ายไทยคือมีชนกลุ่มน้อย มีความแตกต่างหลากหลายในเชื้อชาติ ที่ลัตเวียเอาชาวโรมาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยมาฝึกเป็นครูผู้ช่วย สร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ออกแบบหลักสูตรให้เด็กอยู่ร่วมกับสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ ในขณะที่ประเทศไทยแทบจะทำตรงข้าม

 

น้องคำแลง ตัวแทนกลุ่มแกนนำเพื่อนเตือนเพื่อน นักเรียนชนกลุ่มน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถ่ายทอดเรื่องราวความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของชนกลุ่มน้อยในไทยที่ต้องพบเจอให้ฟังว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะสูงๆ เช่น คณะเภสัชศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ ปัจจุบันเริ่มใช้คะแนน TOEFL และ IELTS พ่อแม่ของเด็กชนกลุ่มน้อยซึ่งไม่ค่อยมีความรู้ก็ไม่เข้าใจ เวลาลูกจะขอเงินไปเรียนเสริมภาษาอังกฤษซึ่งราคาแพง พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมแค่เรียนในโรงเรียนถึงไม่พอ

 

“สำหรับการเรียนในห้องเรียนแล้วข้อสอบขณะนี้ หนูว่ามันยังไม่เพียงพอ และหนูว่ามันเป็นความเหลื่อมล้ำของเด็กๆ ในชนบท”

 

น้องคำแลงสะท้อนความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายไทยที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเด็กต้องได้รับการดูแลปกป้องอย่างเท่าเทียมกันได้น่าสนใจว่า

 

“หนูว่ากฎหมายไทย ไม่รู้เขาตั้งมาโฟกัสเด็กในเมืองหรือว่าอย่างไร แต่สำหรับเด็กบนดอย สิทธิในการคุ้มครองของเด็กที่บอกว่าจะได้รับการคุ้มครองจากการละเมิด การกลั่นแกล้ง การถูกเลือกปฏิบัติ แต่ถ้าพูดถึงเด็กบนดอยก็จะคิดถึงการพูดไม่ชัดแล้วเอาไปล้อ แม้แต่ในละคร เมื่อเป็นเด็กดอยก็จะมีการแอ๊บเป็นพูดไม่ชัด อาจจะมองเป็นเรื่องตลก แต่ว่าทำให้เด็กกลุ่มนั้นไม่กล้าพูด ไม่กล้าเข้าสังคมกับคนในเมือง” คำแลงพูดเสียงเครือ

 

 

เมื่อพูดถึงงานวันเด็ก ผลสำรวจของเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจความเห็นเด็ก 1,503 คน พบว่าเด็กส่วนใหญ่จะคิดถึงของขวัญ ของกิน และกิจกรรม

 

ศ.ดร.สมพงษ์ สรุปว่าเด็กไทยเติบโตมาในสังคมที่งานวันเด็กคือวันที่มีคำขวัญกับกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ ไม่ใช่งานวันเด็กที่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วม มีการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้สื่อสารให้เด็กเข้าใจว่าเสียงและความคิดเห็นของเขาสำคัญและน่าเคารพ

 

ในภาพของสังคมไทย เด็กก็คือเด็ก มีหน้าที่เชื่อฟังและตั้งใจเรียน ประเทศไทยต้องการแค่สิ่งเหล่านี้จากอนาคตของชาติจริงหรือ?

 

Cover Photo: Karin Foxx

Photo: AFP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising