×

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบของเล่นเด็กมี ‘ทาเลต’ เกินมาตรฐาน เสี่ยงทำฮอร์โมนเพศชายในเด็กผิดปกติ

30.10.2019
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (29 ตุลาคม) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างของเล่นและของใช้ประเภทพลาสติกพีวีซี (PVC) ที่เด็กอาจนำมาใช้เป็นของเล่น จำนวน 51 ตัวอย่าง จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด และบริเวณหน้าโรงเรียน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและในเว็บไซต์ห้างออนไลน์ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารทาเลต (Phthalates) 6 ชนิด ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบจากผิวของเล่นที่เด็กอาจสัมผัส

 

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสาร ฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากการทดสอบของเล่นทั้งหมด 51 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกลุ่มที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 19 ตัวอย่าง และกลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. 32 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่ากลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก. พบทาเลตเกินกว่าค่ามาตรฐานสากลจำนวน 7 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 36.84 จาก 19 ตัวอย่าง ส่วนกลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. พบทาเลตเกินเกณฑ์ 11 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 34.38 จาก 32 ตัวอย่าง ซึ่งหากคิดโดยรวมจะมีของเล่นที่พบทาเลตเกินมาตรฐาน 18 จาก 51 ตัวอย่าง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35 ของตัวอย่างทั้งหมด

 

โดยสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรฐานของเล่นทั่วไปและของเล่นสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ ที่มีส่วนที่นำเข้าปากได้ว่าต้องมีปริมาณรวมสูงสุดของอนุพันธ์ทาเลตไม่เกินร้อยละ 0.1 โดยมวล

 

สำหรับชนิดของทาเลตที่พบมากที่สุดในการสุ่มตรวจครั้งนี้คือ บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต หรือ bis-(2-ethylhexyl phthalate) หรือ DEHP โดยแบ่งกลุ่มของเล่นออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

 

1. กลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจไม่พบทาเลต หรือพบแต่ไม่เกิน 0.1 (ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด) 12 ตัวอย่าง ได้แก่ ยางกัดมีที่จับ (สีส้ม-เขียว) ยี่ห้อ Mind Care, ยางกัดเป็ด (สีชมพู) ยี่ห้อ Tesco loves baby, ยางกัด (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ Playskool baby, ตุ๊กตาพ่นน้ำ, กรุ๊งกริ๊ง (สีน้ำเงิน), ชุดตุ๊กตาไดโนเสาร์, อมยิ้มด้ามยาว, ชุดทำอาหารพลาสติก, ตุ๊กตากระต่าย (สีเหลือง), หุ่นยนต์ซูเปอร์ฮีโร่, ชุดผลไม้ผ่าครึ่ง และตุ๊กตาช้าง (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ NB Toys

 

2. กลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบทาเลตเกิน 0.1 (เกินเกณฑ์ที่กำหนด) 7 ตัวอย่าง ได้แก่ พะยูนสีเขียว (35.73), แมวน้ำสีชมพู (34.51), ยางบีบ ผลไม้ (33.17), ตุ๊กตาเป็ดสีเหลือง ยี่ห้อ Baby gift set (30.34), ตุ๊กตาหมี (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ NB Toys (27.529), ตุ๊กตาไก่สีเหลือง (22.593) และชุดบล็อกต่อ (12.94)

 

3. กลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจไม่พบทาเลต หรือพบแต่ไม่เกิน 0.1 (ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด) 21 ตัวอย่าง ได้แก่ ช้อน (สีแดง), พวงกุญแจม้า (สีเหลือง), ช้าง (สีส้ม), หมี (สีเทา), ไดโนเสาร์ (สีชมพู), ลูกบอลยาง (มีไฟกะพริบ), ลูกบอลยาง, ชุดตักดิน, ตุ๊กตาสัตว์เล็ก, แหวนยาง, ตุ๊กตาหนู (สีม่วง-เทา), แม่เหล็กผีเสื้อ, พวงกุญแจโมชิ (สีชมพู), ยางกัดทรงห่วงกลม, ยางกัดลายแมว, ยางกัดน้ำ Fin, ที่กัดเด็ก, ยางกัดยีราฟ (สีเหลือง), ยางกัดรูปหัวใจ (สีแดง-เขียว), ตัวต่อไดโนเสาร์ และรถตักดิน

 

4. กลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบทาเลตเกิน 0.1 (เกินเกณฑ์ที่กำหนด) 11 ตัวอย่าง ได้แก่ ยางบีบหมู (37.863), พวงกุญแจสไปเดอร์แมน (36.688), แรคคูนสีเหลือง (36.422), สายรัดข้อมือสีชมพู (33.84), ตุ๊กตาบีบสัตว์ (33.18), เป็ดสีเหลือง (28.436), ตุ๊กตาเจ้าหญิง (18.83), พวงกุญแจจระเข้ (17.56), ตุ๊กตาเจ้าหญิง (9.485), พวงกุญแจยางไดโนเสาร์ (5.43) และตุ๊กตาม้า (2.92)

 

โดยเฉพาะของเล่นประเภทตุ๊กตาบีบได้รูปสัตว์ชนิดต่างๆ พบว่ามีค่าทาเลตสูงมาก เช่น ยางบีบหมู ซึ่งตรวจพบปริมาณทาเลตรวม เท่ากับ 37.86 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล) แรคคูนสีเหลือง ตรวจพบปริมาณทาเลตรวม เท่ากับ 36.42 และ พะยูนสีเขียว ตรวจพบปริมาณทาเลตรวม เท่ากับ 35.74

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ทาเลตเป็นกลุ่มของสารที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกชนิดพีวีซีเพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ทาเลตไม่มีพันธะทางเคมีที่เชื่อมต่อกับพลาสติก

 

ดังนั้น สารนี้จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ไปเกาะติดกับสิ่งอื่น เช่น มือ เมื่อมีการสัมผัสได้ ทาเลตมีหลายชนิด บางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจน หรือฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลต

 

นอกจากนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวเสริมอีกว่า สำหรับประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมได้ติดตามเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลานาน ได้จัดทำร่างแก้ไขมาตรฐานของเล่น มอก. 685/2540 มากว่า 22 ปีแล้ว ในฉบับร่างได้บรรจุเรื่องการควบคุมการใช้สารทาเลตไว้ 6 ชนิด โดยกำหนดไม่ให้เกินร้อยละ 0.1 โดยมวล และเตรียมห้องทดสอบไว้พร้อมทำการตรวจเมื่อมีการประกาศใช้มาตรฐาน ร่างฉบับดังกล่าวมีกระบวนการจัดทำมาอย่างละเอียดและใช้เวลานานหลายปี คาดว่าในปลายปี 2562 จะประกาศใช้ ทั้งนี้ในฉบับร่างแก้ไขยังมีการเพิ่มเติมมาตรฐานความปลอดภัยของเล่นเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ดังนั้นไม่ควรให้มีปัญหาใดที่จะทำให้การประกาศใช้ล่าช้าไปนานกว่านี้ เพื่อความปลอดภัยของเด็ก

 

“นอกจากนั้น หลังการประกาศใช้ ควรหาข้อตกลงใหม่ในการพัฒนาระบบการตรวจสอบของเล่นหลังการวางตลาดให้เข้มข้นขึ้น ปัจจุบันเน้นการตรวจก่อนการวางตลาดว่าเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่ เป็นหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งมีภารกิจกำหนดมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมคุณภาพผลิตภัณฑ์ อันจะส่งผลต่อเนื่องสู่การค้าขาย การส่งออก ทำให้การตรวจหลังการวางตลาดแล้วมีน้อยมาก หน่วยงานอื่นไม่สามารถเข้ามาตรวจได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแม้แต่องค์กรท้องถิ่นเองก็ไม่สามารถส่งของเล่นที่วางขายในตลาดตัวเองเพื่อทำการตรวจสอบในห้องแลปได้” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

 

หมายเหตุ: ภาพที่ใช้เพื่อประกอบข่าวเท่านั้น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising