×

รายงานฉบับใหม่ชี้ เด็กเกือบทุกประเทศเผชิญการเรียนรู้ถดถอยเนื่องจากโควิด

โดย THE STANDARD TEAM
05.04.2022
  • LOADING...
การเรียนรู้

วันนี้ (5 เมษายน) รายงานฉบับใหม่โดยองค์การ UNESCO, องค์การ UNICEF และธนาคารโลก พบว่า เด็กนักเรียนในเกือบทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางความรู้ ซึ่งเป็นผลมาจากการปิดโรงเรียนอย่างต่อเนื่องในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจน, เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล, เด็กพิการ และเด็กเล็ก ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหานี้รุนแรงที่สุด 

 

รายงานฉบับดังกล่าวซึ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมี สเตฟาเนีย จานนินี ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษา องค์การ UNESCO พร้อม โรเบิร์ต เจนกินส์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา องค์การ UNICEF และ เจมี ซาเวดรา ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา ธนาคารโลก ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อเรียกร้องให้นานาประเทศออกมาตราการเร่งด่วน เพื่อช่วยให้เด็กทุกคนได้กลับมาเรียนหนังสือและชดเชยความรู้ที่ถดถอย ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนการเรียนรู้และหน้าที่การงานในอนาคตของเด็กๆ 

 

คำแถลงการณ์ร่วมระบุว่า “นับตั้งแต่มีการปิดโรงเรียนในเดือนมีนาคม 2020 เด็กนักเรียนทั่วโลกสูญเสียชั่วโมงเรียนไปมากกว่า 2 ล้านล้านชั่วโมง และเด็กๆ มากกว่า 4 ใน 5 ประเทศมีการเรียนรู้ที่ถดถอย ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆ ได้สะสมไว้กำลังหายไป เด็กๆ ลืมวิธีการอ่านและเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร เด็กเล็กในเกือบทุกประเทศซึ่งกำลังจะเริ่มเข้าเรียน ต่างไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้เลย เนื่องจากการศึกษาปฐมวัยที่ขาดหายไป”

 

คำแถลงการณ์ร่วมระบุต่อไปว่า “ตั้งแต่หกเดือนแรกหลังการแพร่ระบาด เป็นที่ทราบกันแล้วว่า เด็กอย่างน้อย 1 ใน 3 คนทั่วโลกถูกตัดขาดจากการศึกษาโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ทางไกล เรารู้ดีว่าเด็กและเยาวชนประมาณ 24 ล้านคนมีความเสี่ยงที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เรารู้ว่าแรงงานเด็กและการแต่งงานในวัยเด็กจะเพิ่มขึ้น แม้ข้อมูลต่างๆ จะถูกพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการมากพอที่จะช่วยให้เด็กๆ ฟื้นฟูสิ่งที่พวกเขาต้องเสียไป”

 

ในประเทศไทย การปิดโรงเรียนอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อเด็กนับล้านคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2020 พบว่า ครอบครัวในประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่งไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนออนไลน์ โดยร้อยละ 51 ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์, ร้อยละ 26 ไม่มีอินเทอร์เน็ต และพ่อแม่ผู้ปกครองร้อยละ 40 ไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกในการเรียนออนไลน์

 

นอกจากนี้ รายงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเมื่อเดือนที่แล้ว ระบุว่า แม้ว่าจะมีความพยายามในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ต หรือการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ตลอดจนการลดขนาดห้องเรียนในโรงเรียนลง แต่การแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบทางลบต่อภาพรวมของคุณภาพการเรียนการสอน จำนวนเด็กที่ขาดเรียนก็เพิ่มขึ้น ทั้งในการเรียนในห้องเรียนและการเรียนออนไลน์

 

องค์การ UNICEF ประเทศไทย กำลังทำงานกับพันธมิตร เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อให้มั่นใจว่าโรงเรียนจะเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย และเด็กๆ จะสามารถเรียนตามบทเรียนได้ทัน ภายใต้ความร่วมมือในโครงการนำร่องในโรงเรียน 40 แห่งในจังหวัดสมุทรสาคร UNICEF ได้สนับสนุนพันธมิตรในการประเมินภาวะความรู้ถดถอยของเด็กๆ และจัดอบรมครู ตลอดจนจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอนและทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ซ่อมเสริมที่ตรงกับความต้องการของเด็กแต่ละคน และสามารถฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยของเด็กๆ ได้ ทั้งนี้ จะมีการถอดบทเรียนจากโครงการนำร่องนี้ เพื่อใช้วางแผนฟื้นฟูภาวะถดถอยทางความรู้ในโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป 

 

คยองซันคิม ผู้อำนวยการองค์การ UNICEF ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยได้มุ่งดำเนินการเพื่อระบุเด็กๆ ที่ไม่กลับเข้าเรียน และเด็กที่มีความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การแพร่ระบาดของโควิดได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการศึกษาอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ดังนั้น UNICEF จึงมุ่งมั่นทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและพันธมิตรอื่นๆ ในการทำทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องเด็กๆ จากการเรียนรู้ที่ถดถอยและการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และในโอกาสที่ภาคการศึกษาใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ จะได้รับการสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้พวกเขากลับมาเรียนตามบทเรียนได้ทัน และเรียนรู้มากยิ่งกว่าที่พวกเขาเสียไป แต่เราต้องรีบเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นแล้ว เด็กทั้งรุ่นอาจจะต้องเผชิญกับผลกระทบที่แก้กลับคืนมาไม่ได้” 

 

รายงานขององค์การ UNESCO, องค์การ UNICEF และธนาคารโลก ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า มีประเทศที่ได้ทำการสำรวจไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ออกมาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยของเด็กๆ ในขณะเดียวกัน งบประมาณด้านการศึกษายังคงลดลงต่อเนื่องอย่างน่าใจหาย โดยเฉลี่ยประเทศต่างๆ จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพียงร้อยละ 3 จากแผนฟื้นฟูโควิด โดยประเทศรายได้ต่ำหรือค่อนข้างต่ำ จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น 

 

ภาพ: องค์การ UNICEF

FYI

รายงานร่วมโดยองค์การ UNESCO, องค์การ UNICEF และธนาคารโลก ได้ชี้ให้เห็นถึงภาวะถดถอยทางความรู้ของเด็กทั่วโลก ตลอดจนมาตรการของแต่ละประเทศในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ รายงาน Where are we on education recovery? เป็นผลสำรวจเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2022 ใน 122 ประเทศที่องค์การ UNICEF ดำเนินงานอยู่ ข้อมูลในแถลงการณ์ร่วมมาจากรายงานฉบับนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทั้ง 5 ด้านของการฟื้นฟูการศึกษา ได้แก่

  • เข้าถึงเด็กทุกคน และช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนที่โรงเรียน
  • ประเมินระดับความสามารถการเรียนรู้
  • ให้ความสำคัญกับการสอนความรู้พื้นฐาน
  • เพิ่มการสอนชดเชย และช่วยให้เด็กมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้มากกว่าที่พวกเขาเสียไป
  • ส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจเพื่อให้เด็กทุกคนมีความพร้อมที่จะเรียน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X