×

โบราณคดีเด็ก เด็กเก็บหอย ภาพวาดของความรักและผูกพัน เมื่อเด็กคือผู้สร้างประวัติศาสตร์

09.01.2021
  • LOADING...
โบราณคดีเด็ก เด็กเก็บหอย ภาพวาดของความรักและผูกพัน เมื่อเด็กคือผู้สร้างประวัติศาสตร์

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เด็กนั้นมีบทบาทต่อความมั่นคงทางอาหารเป็นอย่างมาก และเป็นก้าวอันสำคัญของวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ไม่ควรมองข้ามไป 
  • หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเด็กนั้นมีบทบาทมากต่อการศึกษาด้านโบราณคดี และการเข้าใจวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีต อย่างไรก็ดี งานโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยด้วยนั้นยังให้ความสำคัญต่อการศึกษาตีความบทบาทของเด็กค่อนข้างน้อย
  • ยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมและสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และภัยจากสงครามที่เกิดขึ้นกับเด็ก จึงทำให้มีสายตาที่มองเด็กเปลี่ยนไป และวางบทบาทหรือคาดหวังกับพวกเขาใหม่ 

มีคำกล่าวว่า เด็กไม่ได้เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ แต่เป็นผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ แต่เมื่อพิจารณากันไปแล้วเรากลับไม่ค่อยเห็นเด็กในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์มากนัก ทั้งๆ ที่มีบทบาทต่อการสร้างประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว และในอนาคตอันใกล้ เด็ก-เยาวชนจะกลายมาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสังคมขึ้นมาใหม่ ดังที่เราก็เห็นไปแล้วจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา 

 

กรีท ลิลเลแฮมเมอร์ นักโบราณคดีประจำมหาวิทยาลัยสตาเวนเจอร์ ที่นอร์เวย์ ได้ให้ความเห็นว่า เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เด็กมีบทบาทสำคัญมานานแล้ว แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก ทั้งๆ ที่เป็นวงจรชีวิตช่วงหนึ่งของมนุษย์ ยิ่งเมื่อสำรวจทั้งในแง่วิธีการศึกษาและแนวคิดทฤษฎีทางโบราณคดี เพราะศูนย์กลางของการศึกษามุ่งไปที่สังคมของผู้ใหญ่ อาจจะด้วยมีหลักฐานที่มากกว่า หรือโลกของความเป็นผู้ใหญ่ของเราเองที่ทำให้แว่นตาต่ออดีตของเราเป็นเช่นนั้น (Lillehammer 2010)  

 

เด็กเก็บหอยสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ในสังคมล่าสัตว์หาของป่า เด็กมีบทบาทสำคัญมากในการหาอาหาร โดยเฉพาะการเก็บหอยและผลหมากรากไม้ ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากหลายๆ ชาติพันธุ์ทุกวันนี้ที่เด็กยังต้องช่วยหาอาหารเพื่อเลี้ยงครอบครัว ในเขตหมู่เกาะและคาบสมุทรหลายแห่งพบว่า เด็กมักช่วยแม่เก็บหอยและจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง เพราะพวกผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่มักจะออกเรือไปหาปลากลางทะเล 

 

ดักกลาส เบิร์ด (Douglas W. Bird) และรีเบ็กก้า เบิร์ด (Rebecca Bliege Bird) นักโบราณคดีมหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาเด็กๆ ชาวเมเรียมบนเกาะตอร์เรส เกาะที่ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อประเทศออสเตรเลียและปาปัวนิวกินี เด็กพวกนี้พูดภาษาเมลานีเซียน ซึ่งเป็นวงศ์วานว่านเครือกับภาษาออสโตรนีเซียน (มลายูโบราณ) พบว่าเด็กๆ ในสังคมนี้มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหาร เพราะว่าเป็นผู้ที่เก็บหอยและอาหารทะเลตามแนวชายฝั่ง ซึ่งหอยที่เก็บนี้จะอยู่สองจุดหลักๆ คือ บริเวณแนวปะการัง และบริเวณโขดหิน แต่โดยมากแล้ว เด็กจะเก็บหอยในพื้นที่แนวปะการังเป็นหลัก เพราะง่ายกว่าการเก็บตามโขดหิน 

 

Fishing in the clear waters off the beach on Murray island is always a popular activity.

เด็กชาวเมเรียมบนเกาะตอร์เรสกำลังเดินหาหอยและอาหารตามริมชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมของเด็ก

(ที่มา: https://ozoutback.com.au/Australia/tsieast/slides/2001021705.html)

 

Mer or Murray Island and the smaller islands of Dawar and Waier behind it, in the eastern Torres Strait Islands. The island is a high rocky island with the reef around it clearly visible.

เกาะตอร์เรสเป็นเกาะที่มีแนวปะการังขนาดใหญ่จึงเต็มไปด้วยหอยตลอดแนวชายฝั่ง (ที่มา: https://ozoutback.com.au/Australia/tsieast/slides/2001021705.html)

 

วิธีการเลือกหอยนี้ เด็กโตจะเรียนรู้จากผู้ใหญ่ จากนั้นเด็กๆ ก็จะเรียนรู้กันเอง หอยที่พวกเขาเก็บเพื่อนำไปเป็นอาหารที่บ้านนั้นมีมากถึง 21 ชนิดด้วยกัน แต่มีหอยอยู่ 2 ชนิดหลักที่เก็บมากที่สุดได้แก่ หอยสังข์เล็ก และหอยนมสาว ในทางตรงกันข้าม พวกผู้ใหญ่จะไม่เก็บหอยชนิดดังกล่าว แต่มักจะไปเก็บหอยมือเสือ หอยมือผี เพราะมีเนื้อมากและอร่อย อาจมีเก็บหอยชนิดอื่นบ้างแต่ก็น้อย สาเหตุที่เด็กเก็บหอยพวกนี้ เพราะมีขนาดเล็ก ไม่เกินกำลัง อีกทั้งมันยังมีสีสันที่สวยงามเมื่อเทียบกับหอยสองชนิดแรก 

 

เมื่อได้ข้อมูลทางด้านชาติพันธุ์วรรณนาเช่นนี้ เขาจึงได้นำข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีกองเปลือกหอย (Shell midden site) มาคำนวณดูชนิดย่อยที่พบในแหล่งโบราณคดีบนเกาะ จึงพบว่าเด็กชาวมาเรียมมีบทบาทอย่างสูงต่อการเก็บหอยและอาหารตามชายฝั่ง อีกทั้งยังเก็บหลากหลายชนิดมาก แต่ที่พบมากคือหอยสังข์เล็ก หอยสองฝาชนิดหนึ่งคล้ายหอยมือเสือ (Hippopus) ทำให้ครอบครัวมีอาหารกิน อีกทั้งเด็กพวกนี้จะนิยมเก็บหอยที่อยู่ตามแนวปะการังเป็นหลัก ซึ่งสามารถสังเกตได้จากชนิดของหอย เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งสองจึงได้สรุปว่า เด็กนั้นมีบทบาทต่อความมั่นคงทางอาหารในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก และเป็นก้าวอันสำคัญของวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ไม่ควรมองข้ามไป 

 

เรื่องข้างต้นนี้ ทำให้ผมนึกถึงชีวิตวัยเด็กเช่นกัน ซึ่งบ้านผมอยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีนที่สมุทรสาคร แทบทุกวันผมจะต้องกระโดดลงแม่น้ำ เพื่อบุกป่าชายเลนหาหอยแครง หอยแมลงภู่ จับปูเค็มปูทะเล กุ้งสารพัดชนิด ทำลอกดักปลา ซึ่งกลายมาเป็นอาหารมื้อเล็กๆ ให้กับครอบครัว ซึ่งถือเป็นความสนุกแบบหนึ่งและยังอิ่มท้องอีกด้วย ในขณะที่พ่อและผู้ใหญ่ต้องออกไปหาปลากันกลางทะเล จนเมื่อเข้าเรียนมัธยมฯ นี่แหละครับที่ทำให้ผมขาดชีวิตแบบชาวประมงไป ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปด้วย จึงทำให้สัตว์น้ำในแม่น้ำท่าจีนค่อยๆ หายไปหมด 

 

ภาพวาดมือเด็ก ภาพรำลึกถึงคนที่รัก

หลายคนรู้จักภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ และมักนึกว่าต้องเป็นผู้ใหญ่หรือพ่อมดหมอผีเป็นคนวาดขึ้นมาแน่ๆ แต่ความจริงแล้วอาจเป็นฝีมือของเด็กด้วยก็ได้ สองนักโบราณคดีออสเตรเลีย โจอาคิม โกลแฮห์น (Joakim Golhahn) และแซลลี เมย์ (Sally K May) ได้ศึกษาภาพเขียนสีของชนเผ่าพื้นเมืองของออสเตรเลีย ซึ่งพบว่าภาพจำนวนมากมายในเขตอุทยานแห่งชาติกากดู (Kakadu National Park) ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยเป็นผีมือการวาดของเด็กหญิงในชนเผ่านั้นคนหนึ่งชื่อ โจซี กัมบูวา มารัล์นเกอร์รา (Josie Gumbuwa Maralngurra) และพ่อของเธอ 

 

โกลแฮห์น และเมย์ ได้อธิบายว่า การวาดภาพเขียนบนผนังหินนั้นเป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย มันเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน เป็นกระบวนการในการถ่ายทอดตำนาน (ประวัติศาสตร์) เรื่องเล่าในชีวิตประจำวัน การล่าสัตว์ จักรวาลวิทยา และอื่นๆ อีกมากมาย โจซีเล่าว่าในสมัยก่อนถ้าหากครอบครัวของเธออาศัยอยู่ตามเพิงผาหรือถ้ำใดเกิน 2 คืน “พ่อของฉันจะวาดภาพทิ้งไว้” ที่เพิงผา ทำให้เธอเห็นภาพพวกนี้และซึมซับมันตั้งแต่เด็ก 

 

โจซีในวัยเด็ก และพ่อของเธอ นิม ดจิมอนเกอร์ ภาพถ่ายเมื่อราวปี 1960 โดยจูดี้ ออพติซ (ที่มา: Golhahn and May 2020)

โจซีในวัยเด็ก และพ่อของเธอ นิม ดจิมอนเกอร์ ภาพถ่ายเมื่อราวปี 1960 โดยจูดี้ ออพติซ (ที่มา: Golhahn and May 2020)

 

สถานที่แห่งนี้เรียกว่าเกอร์ริห์ (Kurrih) เป็นเพิงผาที่มีภาพวาดอยู่ ซึ่งพ่อของเธอเป็นคนวาดขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงสถานที่ฝังศพของลูกชาย (พี่ชายของโจซี) ใต้ภาพนี้มีภาพวาดมือของโจซีอยู่ด้วย เพื่อแสดงถึงการเดินทางมายังที่แห่งนี้ เพื่อรำลึกถึงพี่ชายของเธอ ภาพมือ 4 มือนี้เป็นตัวแทนของเธอ สองมือแรกทำขึ้นเมื่อเมื่อเธออายุได้ 7 ขวบ และต่อมามือข้างเดียววาดขึ้นเมื่อเธออายุได้ 12 และ 13 ขวบ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภาพมือแสดงถึงการที่น้องสาวได้มาเยี่ยมพี่ชาย และต่อมาเมื่อพ่อของเธอตายก็ได้ฝังยังสถานที่แห่งนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาพของมือและภาพต่างๆ ที่เพิงผาจึงเป็นภาพที่ช่วยเตือนใจให้โจซีรำลึกถึงพ่อและพี่ชายของเธอ เป็นพื้นที่ของความรักและความผูกพัน เมื่อคณะสำรวจกำลังจะเดินออกจากเพิงผานี้ โจซีก็ได้นำมือไปวางยังมือของเฮะ ซึ่งเป็นเหมือนสะพานการเชื่อมต่อตัวเธอกับชีวิตในวัยเด็กนั่นเอง 

 

ภาพเขียนนี้เป็นมือของโจซี ซึ่งพ่อของเธอเป็นคนพ่นสีบนมือแล้วทิ้งร่องรอยนี้ไว้ ซึ่งวาดขึ้นเมื่อราวทศวรรษ 1960 (ที่มา: Golhahn and May 2020)

ภาพเขียนนี้เป็นมือของโจซี ซึ่งพ่อของเธอเป็นคนพ่นสีบนมือแล้วทิ้งร่องรอยนี้ไว้ ซึ่งวาดขึ้นเมื่อราวทศวรรษ 1960 (ที่มา: Golhahn and May 2020)

 

จะเห็นได้ว่า หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเด็กนั้นมีบทบาทมากต่อการศึกษาด้านโบราณคดีและการเข้าใจวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีต อย่างไรก็ดี งานโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยด้วยนั้นยังให้ความสำคัญต่อการศึกษาตีความบทบาทของเด็กค่อนข้างน้อย ในไทยนั้นพบแหล่งโบราณคดีกองเปลือกหอยทางภาคใต้ เช่น แถบอ่าวพังงา เช่นกัน ซึ่งน่าทำการขุดค้นกองเปลือกหอยพวกนี้แล้วนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลชาติพันธุ์วรรณนาจากกลุ่มชาวเล ไม่ว่าจะเป็นชาวอูรักลาโวยจ ชาวมอแกน มอแกลน เป็นต้น 

 

หรือกรณีของภาพมือเด็ก ภาพวาดรูปเด็ก ที่เป็นภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เช่นกัน เช่น ที่เขาจันทร์งาม จังหวัดนครราชสีมา ที่มีภาพเด็กร่ายรำอยู่ อาจเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านของเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตีความแบบรวมๆ ว่าเป็นพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์เพียงอย่างเดียวก็ได้ เพื่อให้การศึกษานั้นเกิดมิติยิ่งขึ้น 

 

ดังนั้น เด็กจึงไม่ใช่แค่เด็กที่ไร้ความสามารถในการหาอาหาร หรือไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงในสังคมอย่างที่คนในโลกสมัยใหม่เข้าใจกัน สาเหตุที่เรามักเข้าใจเช่นนั้นก็เพราะหลังจากยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมและสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็กและภัยจากสงครามที่เกิดขึ้นกับเด็ก จึงทำให้มีสายตาที่มองเด็กที่เปลี่ยนไป และวางบทบาทหรือคาดหวังกับพวกเขาใหม่ แต่เด็กสมัยนี้โตกว่าที่ผู้ใหญ่บางคนคิดเยอะแล้วครับ 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • Lillehammer, Grete. 2010. “Archaeology of Children,” Complutum. Vol.21 (2), pp. 15-45. 
  • Bird, Douglas W. and Bird, Rebecca Bliege. 2000. “The Ethnoarchaeology of Juvenile Foragers: Shellfishing Strategies among Meriam Children,” Journal of Anthropological Archaeology. Vol.19 (4), pp.461-476.
  • Goldhahn, Joakim and May, Sally K. 2020. “Children and Rock Art: A Case Study from Western Arnhem Land, Australia,” Norwegian Archaeological Review, Vol. 53 (2), pp.1-24.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X