×

วัคซีนโควิดเด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ฯ แนะนำอย่างไร

25.01.2022
  • LOADING...
วัคซีนโควิดเด็กและวัยรุ่น

ในสถานการณ์ที่การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตายังคงมีอยู่ และมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้ทบทวนข้อมูลใหม่ด้านระบาดวิทยา ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิดในเด็กและวัยรุ่น มีคำแนะนำใหม่เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 โดยสรุป 2 ประเด็นคือ

 

  • เด็กและวัยรุ่นเพศชายอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 3-12 สัปดาห์ โดยแนะนำระยะห่าง 8-12 สัปดาห์ เพราะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ระยะเวลาป้องกันนานขึ้น และอาจลดความเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
  • เด็กอายุ 5-ไม่เกิน 12 ปี ให้ฉีดวัคซีน Pfizer สูตรสำหรับเด็ก ขนาด 10 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร เข้ากล้าม 2 ครั้ง ห่างกัน 3-12 สัปดาห์ โดยระยะห่าง 8-12 สัปดาห์ จะดีกว่า 3-4 สัปดาห์ เพราะได้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า

 

ปัจจุบันวัคซีนโควิดที่ อย. รับรองสำหรับเด็กแบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ คือ 

  • กลุ่มเด็กอายุ 5-ไม่เกิน 12 ปี มีเพียงยี่ห้อเดียวคือวัคซีน Pfizer ฝาสีส้ม ขนาด 10 ไมโครกรัม ฉีดเข้ากล้าม 2 โดส ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ 
  • กลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป มี 2 ยี่ห้อคือ วัคซีน Pfizer ฝาสีม่วง ขนาด 30 ไมโครกรัม ฉีดเข้ากล้าม 2 โดส ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ และวัคซีน Moderna ขนาด 100 ไมโครกรัม ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการเฉพาะทางด้านเด็กและวัยรุ่น ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ดังนี้

  • เด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ใช้วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer เป็นลำดับแรก เนื่องจากวัคซีน Moderna มีความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบสูงกว่า Pfizer 2.6 เท่า หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอัตรา 8 ใน 1 ล้านโดสเมื่อเทียบกับ Pfizer ทั้งนี้วัคซีนชนิด mRNA มีความสัมพันธ์กับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในอัตราที่น้อยมาก
  • เด็กและวัยรุ่นชายที่แข็งแรงดีอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ฉีด 2 เข็ม ระยะห่าง 3-12 สัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน จึงปรับคำแนะนำเดิมซึ่งเคยให้ฉีดเพียง 1 เข็ม และชะลอการฉีดเข็มที่ 2 ไว้ก่อน เป็นให้ฉีด 2 เข็ม ระยะห่าง 3-12 สัปดาห์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ และพบว่าการเว้นระยะห่างของเข็มที่ 2 เป็น 12 สัปดาห์ จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ดังนั้นในพื้นที่ที่มีการระบาดสูงควรให้เว้นระยะห่างแคบกว่าพื้นที่ที่มีการระบาดไม่มาก ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาอาการข้างเคียงลงไปได้ด้วย
  • เด็กอายุ 5-ไม่เกิน 12 ปี ให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer สูตรสำหรับเด็ก (ฝาสีส้ม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 21 วัน และไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนสูตรสำหรับผู้ใหญ่ (ฝาสีม่วง) มาแบ่งขนาด 1 ใน 3 เพราะจะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดี มีระบบรองรับและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเหมือนในประเทศอังกฤษ
  • หากเด็กได้รับวัคซีน Pfizer ฝาสีส้ม (ขนาด 10 ไมโครกรัม) และมีอายุครบ 12 ปีหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยวัคซีนฝาสีม่วง (ขนาด 30 ไมโครกรัม) อย่างไรก็ตามหากได้รับเข็มที่ 2 ขนาด 10 ไมโครกรัม ก็ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับวัคซีนครบถ้วนและไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ
  • สำหรับเด็กที่เคยติดโรคโควิด แนะนำให้ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม โดยเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนเมื่อหายดีจากโรคโควิด
  • ผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำในระดับปานกลางถึงรุนแรง ควรพิจารณาฉีดวัคซีนชนิด mRNA อีก 1 เข็ม (รวมเป็นการฉีดวัคซีนปฐมภูมิ 3 เข็ม) โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 สัปดาห์ภายหลังการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยารักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูกภายใน 2 ปีหรือยังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดในระดับปานกลางถึงรุนแรง ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่มีระดับ CD4 <200 หรือผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
  • เด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อ จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิดทุกราย ส่วนเด็กปกติที่มีสุขภาพดี ผู้ปกครองมีสิทธิ์ที่จะรับวัคซีนหรือปฏิเสธก็ได้ โดยมีการรับทราบถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีน

 

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของ ศบค. ระบุว่า วัคซีน Pfizer สูตรสำหรับเด็กจะเข้ามาถึงประเทศไทยวันที่ 26 มกราคม 2565 จำนวน 3 ล้านโดส จาก 10 ล้านโดส จะเริ่มให้บริการฉีดแห่งแรกที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ให้กับเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งถือเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง ก่อนจะกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งได้ประสานกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็กในวันที่ 31 มกราคม 2565

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X