×

กว่า 2 ทศวรรษ ‘รถไฟฟ้าเชียงใหม่’ กำลังจะมาจริงหรือ? โครงการที่รอมาตั้งแต่แอม เสาวลักษณ์ ออกอัลบั้มแรก

01.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • 24 ปีที่แล้ว แผนการสร้างรถไฟฟ้าเชียงใหม่นั้นเริ่มต้นตั้งแต่แอม เสาวลักษณ์ ออกอัลบั้มแรก! (2536) โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมและดูแลในเรื่องระบบขนส่งสาธารณะระบบราง หรือรถไฟฟ้าในขณะนั้นได้เปิดเผยโครงการจัดสร้างระบบขนส่งในหัวเมืองใหญ่ 8 เมือง
  • 10 ปีที่แล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อให้สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาและออกแบบระบบขนส่งมวลชนขึ้นมาใหม่ ผลสรุปที่ได้พบว่ารูปแบบได้เปลี่ยนแปลงจากรถไฟฟ้ามาเป็นรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT แทน
  • 8 วันที่แล้ว การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จังหวัดเชียงใหม่ ว่าจะของบประมาณจ้างที่ปรึกษาและเร่งดำเนินแผนตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดประมูลโครงการภายในปีหน้า

     เป็นที่น่ายินดีสำหรับชาวเชียงใหม่ เพราะในที่สุดโครงการรถขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ เมืองศูนย์กลางทางภาคเหนือตอนบนที่เต็มไปด้วยศักยภาพทั้งทางด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว ซึ่งโครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นนับว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหากแล้วเสร็จก็จะครอบคลุมทุกความต้องการในการเดินทางของคนเชียงใหม่ รวมถึงนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

     แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแผนการสร้างรถไฟฟ้าเชียงใหม่นั้น อันที่จริงแล้วได้รับการวางแผนกันมาตั้งแต่แอม เสาวลักษณ์ เพิ่งออกอัลบั้มแรก! (2536) และตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา แผนนี้ก็ล้มแล้วล้มเล่าอยู่บ่อยครั้งจนเหมือนไร้วี่แววที่จะเกิดขึ้นจริง เราขอพาคุณไปย้อนระลึกถึงโครงการดังกล่าวและทำความรู้จักกับแผนพัฒนาโครงการล่าสุดที่กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างในไม่ช้านี้ เผื่อไปเที่ยวเชียงใหม่ครั้งหน้าจะได้ไม่ต้องง้อรถแดง!

 

Photo: Chiang Mai City Update/Facebook

 

24 ปีที่แล้ว: แผนแรกที่หายไป

     “การทางพิเศษฯ เผย ชาวเชียงใหม่ได้ใช้รถไฟฟ้าปี 2544 แน่นอน!” คือถ้อยความในหน้าข่าวของหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2539 กว่า 21 ปีที่แผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ถูกพัฒนาขึ้นมา และคำยืนยันที่ว่า ‘ปี 2544 ได้ใช้แน่นอน’ ก็ดูจะเป็นคำโกหกคำโต เพราะผ่านมานานนมแล้ว ชาวเชียงใหม่ก็ยังไม่เคยได้เห็นแม้เสาตอม่อสักต้น

     ในปี 2536 นั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมและดูแลในเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะระบบราง หรือรถไฟฟ้าในขณะนั้นได้เปิดเผยโครงการการจัดสร้างระบบขนส่งในหัวเมืองใหญ่ 8 เมือง อันได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งดูเหมือนว่าโครงการที่ดูเป็นรูปเป็นร่างที่สุดในตอนนั้นก็คือโครงการของจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากการทำแผนพัฒนาและสำรวจเส้นทางที่เหมาะสมกับประชาชนมูลค่า 30 ล้านบาทแล้วเสร็จ แผนดังกล่าวก็เตรียมเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปี 2539 ด้วยมูลค่าโครงการทั้งหมด รวมค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนที่ดินราว 42,000 ล้านบาท อันประกอบไปด้วย 4 เส้นทางการให้บริการ ได้แก่ ศูนย์ราชการ-อุปคุต-บวกครก, สี่แยกหางดง-ช้างคลาน-สามแยกสันทราย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-แจ่งศรีภูมิ และสี่แยกแสงตะวัน-เชียงใหม่แลนด์

 

 

     ในส่วนของรูปแบบโครงการนั้น ทุกฝ่ายต่างเห็นชอบว่ารถไฟฟ้าสายแรกของเมืองเชียงใหม่จะเป็นรถไฟรางเบา (Light Rail) ที่สามารถบรรทุกคนได้ราว 250 คนต่อเที่ยว คาดการณ์ว่าสามารถรับส่งผู้โดยสารได้ 20,000 คนต่อชั่วโมง แต่แล้วโครงการแรกนี้ก็เป็นเพียงฝันหวานของคนเชียงใหม่

     “ตอนนั้นผู้รับผิดชอบคือการทางพิเศษฯ ก็ได้มีการนำเสนอรถไฟฟ้าใต้ดิน ต่อไปก็นำมาสู่การออกแบบในรายละเอียด แต่ในช่วงนั้นได้เกิดการปรับเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบของการทางพิเศษฯ เพราะว่ามีการจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครขึ้นมา ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรถไฟฟ้า แต่เมื่อมีการปรับ องค์การรถไฟฟ้าก็รับหน้าที่เรื่องรถไฟฟ้าและขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ไป การทางพิเศษฯ จึงไม่สามารถผลักดันต่อได้ องค์การรถไฟฟ้าก็ไปจัดระบบให้กรุงเทพฯ ก่อน และไม่ได้มีการสานต่อตรงนี้”

     คำกล่าวของ รศ.ดร.บุญส่ง สัตโยภาส หัวหน้าโครงการ CM-PMAP (Chiang Mai Public Transit Master Plan) จากบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ของ CM-PMAP กล่าวถึงเหตุผลว่า ทำไมแผนพัฒนาแรกของรถไฟฟ้าเชียงใหม่ในวาระนั้นจึงถูกล้มเลิกไปอย่างน่าเสียดาย

 

10 ปีที่แล้ว: อีกแผนที่ปัดตก

     ไม่ใช่เพียงแค่แผนพัฒนาแรกจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่เรากลับพบว่ายังมีแผนพัฒนาระบบดังกล่าวอีกหนึ่งแผนในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแผนที่เกิดขึ้นโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อให้สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาและออกแบบระบบขนส่งมวลชนขึ้นมาใหม่ ผลสรุปที่ได้พบว่ารูปแบบได้เปลี่ยนแปลงจากรถไฟฟ้ามาเป็นรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT แทน

 

แผนที่แสดงเส้นทางรถโดยสารด่วนพิเศษของเชียงใหม่ในขณะนั้น

 

     ซึ่งโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษนั้นได้มีการทำการศึกษาและจัดแผนพัฒนามาตั้งแต่ปี 2550 ประมาณการใช้เงินลงทุนก่อสร้างทั้งระบบเพื่อรองรับการจราจรทั้งสิ้นประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งความน่าสนใจของแผนนี้มาพร้อมกับแผนบูรณาการระบบขนส่งในเชียงใหม่รูปแบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้จักรยาน การเดิน การเพิ่มจุดจอดแล้วจร เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและวัฒนธรรมการเดินทางใหม่

     แต่แล้วโครงการรถด่วนพิเศษนี้ก็ถูกปัดตกไปอีกครั้ง เหตุก็เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย จึงทำให้โครงการหยุดชะงัก ไร้ซึ่งการผลักดันสานต่อนโยบาย

 

8 วันที่แล้ว: พร้อมแล้วจริง หรือจะเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ฝันสลาย แถมยังสูญเปล่า?

     ล่าสุด (23 ต.ค.) นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จังหวัดเชียงใหม่ วงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาทว่า ขณะนี้ รฟม. อยู่ในระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคาเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสมและแนวทางการร่วมทุน ซึ่งคาดว่าจะได้ที่ปรึกษาเร็วๆ นี้ ใช้เวลาศึกษา 4-6 เดือน โดย รฟม. จะของบประมาณจ้างที่ปรึกษาและเร่งดำเนินแผนตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดประมูลโครงการภายในปีหน้า

     โดยผลสรุปของโครงการล่าสุดคือการจัดสร้างรถไฟฟ้ารางเบาจำนวน 3 เส้นทาง ใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดินร่วมกัน ประกอบด้วยเส้นทางหลัก 3 เส้น ดังนี้

  • สายสีแดง ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร

     เริ่มต้นทางวิ่งบนดินบริเวณโรงพยาบาลนครพิงค์, ศูนย์ราชการเชียงใหม่, สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา, สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ก่อนจะเปลี่ยนระดับลงไปใช้ทางวิ่งใต้ดินที่แยกข่วงสิงห์ ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, สถานีขนส่งช้างเผือก, โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางไปยังสายสีน้ำเงิน), โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ, สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ก่อนจะเปลี่ยนระดับกลับมาเป็นทางวิ่งบนดินเมื่อพ้นเขตสนามบิน ตรงเข้าสู่กรมการขนส่งทางบก และสิ้นสุดที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี หางดง

  • สายสีเขียว ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร

     เริ่มต้นจากทางวิ่งบนดินบริเวณแยกรวมโชค ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางใต้ดินที่แยกแม่โจ้ (โรงพยาบาลเทพปัญญา), ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่, สถานีขนส่งอาเขต, โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่, โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, ตลาดวโรรส (กาดหลวง), เทศบาลนครเชียงใหม่, ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์, โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย, โรงเรียนพระหฤทัย, โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย, เชียงใหม่แลนด์, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต, มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น สิ้นสุดที่สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ (ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางไปยังสายสีแดง)

  • สายสีน้ำเงิน ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร

     เริ่มต้นจากทางวิ่งใต้ดินที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ผ่านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, แยกตลาดต้นพยอม, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางไปยังสายสีแดง), วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร, ประตูท่าแพ, ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ (ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางไปยังสายสีเขียว), ตลาดสันป่าข่อย, สถานีรถไฟเชียงใหม่ ก่อนจะเริ่มใช้ทางวิ่งบนดินที่แยกหนองประทีป ผ่านห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ดอนจั่น สิ้นสุดที่ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา

     โดยในแผนการก่อสร้างจำเป็นจะต้องมีการเวนคืนพื้นที่ชาวบ้านและปิดการจราจรบางส่วน ทาง สนข. จึงมีแนวคิดจัดการจราจรในจังหวัดเชียงใหม่รองรับ เช่น ห้ามจอดรถ และปรับผังการจราจรโดยเพิ่มหรือปรับลดเส้นทางเดินรถทางเดียว หรือวันเวย์ ส่วนข้อกังวลในการก่อสร้างซึ่งอาจกระทบต่อสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของเชียงใหม่นั้น รฟม. จะมีการวางแผนแนวทางในการก่อสร้างร่วมกับกรมศิลปากรทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม

 

     เราเองก็หวังจะได้เห็นโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างสักที เพราะไม่ใช่เพียงแค่จะแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาการเดินทางให้สะดวกสบายเท่านั้น แต่การมาถึงของรถไฟฟ้าเชียงใหม่นั้นเป็นหมุดหมายอันดีของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดหัวเมืองใหญ่อื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

     … แต่ตอนนี้สงสัยต้องง้อรถแดง-รถเมล์ขาวไปก่อนนะ

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising