วันนี้ (9 เมษายน) เวลา 17.00 น. ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ โดย นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 148 ราย
นพ.จตุชัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำหนดชื่อไว้ว่า การระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มมีการระบาดในรอบนี้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 วันนี้มีผู้ป่วยได้รับการตรวจพบใหม่รวมทั้งสิ้น 148 ราย รวมสะสมระลอกนี้ 5 วัน จำนวน 195 ราย ผลการสืบสวนสอบสวนโรคขอสรุปภาพรวมที่เพิ่มให้ของวันนี้ทั้ง 148 ราย เป็นใครบ้าง
“ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่ตรวจพบในวันนี้จำนวน 148 ราย ร้อยละ 74 เป็นกลุ่มผู้สัมผัสในสถานบันเทิงจำนวน 110 ราย ที่เหลือร้อยละ 26 เป็นกลุ่มสัมผัสร่วมบ้าน 5 ราย เป็นกลุ่มที่ให้ประวัติว่านำเชื้อไปในสถานที่เสี่ยงของจังหวัดอื่นๆ 6 ราย และน่าเชื่อว่าสัมผัสในชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 6 ราย และยังอยู่ระหว่างการสอบสวน 21 ราย ทั้งนี้ ได้ข้อมูลสถานที่เสี่ยงพอสมควรแล้ว สามารถติดตามได้จากเพจเฟซบุ๊ก ‘งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่’ ซึ่งจะให้ข้อมูลสถานที่เสี่ยงเพิ่มเติมในทุกวัน
“โดยขอให้ผู้ที่เดินทางไปในสถานที่เสี่ยงดูแลตัวเองและสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ใส่หน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่างกับบุคคลในครอบครัว หากมีอาการผิดปกติ เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีความผิดปกติทางเดินหายใจ สามารถตรวจได้ทุกโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ประวัติว่าได้ไปในสถานที่เสี่ยง หากทราบแน่ชัดว่าบุคคลที่สัมผัสป่วยติดเชื้อ ต้องรีบเข้ารับการตรวจโดยทันทีเพื่อพิสูจน์ทราบว่ามีการติดเชื้อหรือยัง หากไม่พบการติดเชื้อ ยังต้องสังเกตอาการต่ออีกเป็นเวลา 14 วันนับจากวันสัมผัส” นพ.จตุชัย กล่าว
“ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะมีอายุอยู่ในวัยทำงาน กลุ่มที่พบมากมีอายุ 20-29 ปี รองลงมาเป็นช่วงอายุ 30-39 ปี สำหรับยอดผู้ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุกทั้งที่โรงพยาบาลและจุดที่รถพระราชทานไปจอดให้บริการ ซึ่งวันนี้ได้ไปจอดบริเวณหน้าร้านวอร์มอัพ วันที่ 9 เมษายน ได้ตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน 601 ราย และผู้ที่มีประวัติเดินทางไปสถานบันเทิงจุดเสี่ยง ด้วยรถพระราชทานชีวนิรภัย อีกจำนวน 399 ราย รวมทั้งสิ้น 1,000 ราย ซึ่งจะทยอยรายงานเพิ่มเติมเข้ามา” นพ.สสจ.เชียงใหม่ กล่าว
“จากตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้น เป็นผลมาจากการระบาดในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และลุกลามเข้าเชียงใหม่ สายพันธุ์บริเวณย่านทองหล่อเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งสายพันธุ์นี้ติดต่อกันง่ายมาก ต่างจากการระบาดในเชียงใหม่ระลอกที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อจะไม่มาก ไม่พุ่งสูง ในเชียงใหม่ได้วางแผนตั้งรับการระบาด โดยประเมินว่าหากมีผู้ติดเชื้อถึง 100 ราย จะต้องจัดให้มีโรงพยาบาลสนาม ซึ่งได้เตรียมไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2564 และได้ใช้แล้วในขณะนี้ โดยโรงพยาบาลสนามจัดตั้งที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยวันนี้ได้ 280 คน และสามารถขยายได้ถึง 500 คน และหากมีความจะเป็น สามารถขยายได้สูงสุดถึง 1,000 คน” นพ.สสจ.เชียงใหม่ กล่าว
ด้าน นพ.วรเชษฐ์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาและโรงพยาบาลสนาม ว่า ในส่วนทีมรักษาพยาบาล ส่วนแรกจะเป็นการตรวจหาเชื้อ ขณะนี้มีผู้สัมผัสจำนวนมาก และมีผู้ไปตรวจหาเชื้อค่อนข้างมาก ขอแจ้งว่าที่ศูนย์ประชุมฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสนาม ไม่ได้รับตรวจหาเชื้อ ขอให้ไปผู้ที่มีความสงสัยไปตรวจตามโรงพยาบาลต่างๆ ในกรณีที่ทราบว่าตนเองไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ อย่าเพิ่งตระหนก โดยข้อเท็จจริงแล้วการตรวจหาเชื้อที่ดีที่สุดต้องรอ 4-5 วันถึงจะตรวจหาเชื้อได้เจอ หากผู้ใดที่คิดว่ามีการสัมผัสผู้ติดเชื้อช่วงนี้ให้แยกตัวเองออกจากผู้อื่น เพื่อป้องกันเชื้อกระจาย คนที่ตรวจหาเชื้อแล้ว ระหว่างรอผลไม่เกิน 1 วัน ขอให้งดการเดินทาง ทำให้หากผลออกมาแล้วติดเชื้อ จะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
“การระบาดรอบนี้เชียงใหม่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น จึงต้องกระจายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ตามความเหมาะสม ตามความหนักเบาของผู้ป่วย วันนี้มีคนไข้จำนวนมาก จึงได้ขอให้คนไข้เข้ามาคัดกรองอาการเป็นอันดับแรก หากมีอาการหนัก ปอดบวม จะได้รับการดูและอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล ส่วนผู้ที่แข็งแรง ไม่มีความเสี่ยง ผลเอ็กซ์เรย์ปอดเป็นปกติ คืออาการไม่หนัก ก็จะให้พักดูแลในโรงพยาบาลสนามก่อน ซึ่งมีพื้นที่ดูแลค่อนข้างมาก สะดวก มีทั้งแพทย์ พยาบาล ประจำตลอดเวลา หากมีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถส่งรักษาที่นครพิงค์ได้อย่างทันท่วงที” ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าว
นพ.จตุชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โรงพยาบาลหลักๆ สงวนไว้สำหรับผู้ป่วยหนัก รายที่อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องการการดูแลโดยทีมแพทย์จำนวนมาก ส่วนผู้ที่อาการยังไม่รุนแรงมากนักจะพิจารณาให้อยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ต้องบอกว่าที่โรงพยาบาลสนามนั้นมีห้องปรับอากาศ มีระบบระบายอากาศ สถานที่สะดวกสบายพอสมควร และถือว่าดีกว่าหลายๆ แห่ง และที่อยากสื่อสารในห้วงสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้เพิ่มเติมคือ ขอให้พี่น้องชาวเชียงใหม่ลดการเดินทางไปในที่ต่างๆ เพื่อลดโอกาสการจะนำเชื้อเข้าบ้าน ในห้วง 1-2 สัปดาห์นี้ประเมินสถานการณ์ก่อนว่าทิศทางเชียงใหม่จะเป็นอย่างไร ขอให้อดทนร่วมกัน และให้กำลังใจทุกคนให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
ทั้งนี้ หากท่านใดมีความประสงค์จะร่วมด้วยช่วยกันกับโรงพยาบาลสนามของเชียงใหม่ สามารถร่วมบริจาคได้ อาทิ เครื่องนอน เตียงสนาม เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย ชุด PPE รวมถึงอาหารและน้ำดื่ม โดยแจ้งความจำนงนำบริจาคได้ที่โรงพยาบาลสนาม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 5301 0561-2
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่แนะนำประชาชนที่เข้าไปใช้บริการในร้านที่พบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 4 เมษายน 2564 โดยให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน ปฏิบัติตัวตามมาตรการการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด หากพบอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมบอกประวัติเสี่ยง และสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ที่หน่วยตรวจเคลื่อนที่ โดยรถตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน ตามวันที่ 10-11 เมษายน 2564 เวลา 09.30-15.00 น. ณ บริเวณหน้าร้านวอร์มอัพ คาเฟ่ พร้อมทั้งติดตามประกาศพื้นที่เสี่ยงระบาดเพิ่มเติมได้ทางหน้าเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และเพจข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ยังขอให้ประชาชนที่ได้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงดังต่อไปนี้
- ร้าน DC Chiangmai
- ร้านท่าช้าง คาเฟ่
- ร้าน Warm Up Cafe
- ร้าน Infinity Club Chiangmai
- ร้าน Ground
- ร้าน Living Machine
- ร้าน consol’ garden
เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง