ล่าสุดมีการเผยผลวิจัยการตรวจหาสารจากอาหารกลางวันของนักเรียนโดยมูลนิธิการศึกษาไทย ปรากฏว่าพบยาฆ่าแมลงในผักผลไม้เกือบ 100% ในขณะที่ปัสสาวะของทั้งครูและนักเรียนมีสารตกค้างถึง 99% พร้อมเสนอกระทรวงศึกษาธิการตั้งนโยบายอาหารกลางวันปลอดสารเคมี
นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย เผยว่าทางมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยตามโครงการการจัดการสารเคมีในระดับท้องถิ่นและการส่งเสริมการบริโภคอาหารกลางวันที่ปลอดภัยใน 55 โรงเรียน จาก 4 จังหวัด ประกอบไปด้วย เชียงใหม่ 20 แห่ง, ปทุมธานี 11 แห่ง, สกลนคร 12 แห่ง และพังงา 12 แห่ง ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2560 ถึงตุลาคม 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), องค์กร The Field Alliance มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Greenpeace Thailand
ซึ่งผลจากการตรวจหาสารตกค้างในอาหารกลางวันของโรงเรียน พบว่ามีผักที่โรงเรียนใช้ประกอบอาหารมากที่สุด 5 ชนิดใน 4 ภาค ซึ่งเด็กทุกภาคกินผักเหมือนกันเกือบทุกชนิด เช่น แครอต กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง คะน้า มะเขือเจ้าพระยา มะเขือเทศ และในการตรวจได้ส่งเข้าห้องแล็บและตรวจเพียง 2 กลุ่มคือ ออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) กับพัยรีธรัม (Pyrethrum) ปรากฏว่ามีการใช้สารฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตมากในผักกับผลไม้ โดยเฉพาะผักที่ส่งตรวจทั้ง 5 ชนิด พบเกือบ 100% และสารที่พบมากที่สุดคือคลอร์ไพริฟอส ส่วนสารฆ่าแมลงพัยรีธรัมก็ใช้มากพอๆ กับคาร์บาเมตคือ 92%
นายมารุตกล่าวว่า ที่น่าตกใจคือมีการตรวจปัสสาวะด้วย และพบว่าทั้งตัวนักเรียนและครูจำนวน 436 ตัวอย่างใน 4 จังหวัด พบออร์กาโนฟอสเฟตตกค้างในปัสสาวะถึง 99% ของจำนวนตัวอย่าง ซึ่งสารออร์กาโนฟอสเฟตก็คือสารที่มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทรอบนอก โดยจะจับตัวกับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสที่มีหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทหยุดการทำงาน โดยผลการจับตัวกับเอ็นไซม์ทำให้ปริมาณของเอ็นไซม์ลดลง และมีผลต่อกล้ามเนื้อ รวมถึงต่อมต่างๆ และกล้ามเนื้อเรียบที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ในการทำงานมากกว่าปกติ เนื่องจากปริมาณเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสมีไม่มากพอที่จะหยุดการทำงาน จึงพบอาการม่านตาหรี่ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ อาเจียน มือสั่น เดินโซเซ ชัก หมดสติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดตะคริวที่กล้ามเนื้อ ต่อมต่างๆ รวมถึงทำให้ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกมามาก ต่อมเหงื่อก็ขับเหงื่อออกมามากเช่นกัน
เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทยกล่าวต่อว่า เมื่อผู้บริโภครับสารเคมีเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น มีความพิการทางสมอง ร่างกาย นิ้วมือและนิ้วเท้าเกินหรือขาด ทั้งยังเป็นพิษต่อระบบสมอง เกิดผลต่อระบบประสาท ทำให้พัฒนาการค่อนข้างล่าช้ากว่าเด็กปกติ บางรายอาจเป็นโรคออทิสติก หอบหืด สมาธิสั้น การผิดปกติทางด้านอารมณ์ อาทิ โรคซึมเศร้า เป็นต้น
“เป็นเรื่องที่ต้องทำงานหนักกว่านี้ ขณะเดียวกันในการทำวิจัยครั้งนี้ตรวจแค่กลุ่ม OP ซึ่งจริงๆ แล้วควรตรวจให้ครบทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ได้ส่งกลับให้กับทางผู้ปกครองและโรงเรียน ทำให้โรงเรียนในโครงการปรับเปลี่ยนเมนูบ้างเพื่อหลีกเลี่ยงผักที่ปลูกเชิงพาณิชย์ หันมาเน้นผักพื้นบ้านแทน นอกจากนี้ยังมีการอบรมเรื่องการปรุงอาหารกลางวันในโรงเรียน ก็พบว่าโรงเรียนมีการใช้สารปรุงแต่งมาก เมื่อมีการอบรมก็ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของการขับเคลื่อน เช่น ที่สกลนครมีนายอำเภอที่เข้มแข็ง จึงผลักดันเกือบทุกโรงเรียนในอำเภอให้เข้าสู่การผลิตที่ปลอดภัย แต่ในระดับจังหวัดยังไม่เห็น แม้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดจะส่งคนมาร่วมตลอด แต่ยังไม่มีการชูธง” นายมารุตกล่าว
สำหรับโครงการการจัดการสารเคมีในระดับท้องถิ่นและการส่งเสริมการบริโภคอาหารกลางวันที่ปลอดภัยใน 55 โรงเรียน ได้ออกแบบไว้ 3 เรื่องหลักๆ คือ การทำวิจัยเพื่อติดตามสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กแล้วนำข้อมูลคืนสู่ชุมชนและโรงเรียน เพื่อให้เกิดการปกป้องนักเรียนจากผลกระทบของสารเคมี นอกจากนี้ยังทำรูปแบบจัดสร้างอาหารปลอดภัยเข้าโรงเรียน โดยอบรมโรงเรียน ผู้ผลิต เกษตรกร กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงเรียน เมื่อโรงเรียนต้องการพืชผัก จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ทำนโยบายควบคู่กันไปด้วยตั้งแต่ระดับโรงเรียนขึ้นมาในระดับยุทธศาสตร์จนถึงระดับกระทรวง
ทั้งนี้ทางมูลนิธิการศึกษาไทยได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทางกรรมการเห็นด้วยทั้งหมด และตอนนี้กำลังทำรายงานเสนอรัฐมนตรี จึงรอกระทรวงแถลงแผนการ นโยบายอาหารกลางวันโรงเรียน แต่โดยหลักแล้วคือต้องการให้โรงเรียนปลอดสารเคมี อาหารกลางวันโรงเรียนปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่ผักผลไม้อย่างเดียว เนื่องจากตรวจเจอฟอร์มาลีน บอแรกซ์ ในเนื้อสัตว์ ลูกชิ้น ไส้กรอก ฉะนั้นต้องมีรูปแบบการผลิตที่ปลอดภัยอีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: