×

เลือกตั้ง 2566 : เช็กจุดยืน ส.ว. เงื่อนไขโหวตนายกฯ อยู่ที่ 2 ป. หรือเสียงประชาชน

12.04.2023
  • LOADING...
สว โหวตนายก

การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ นอกจากประชาชนจะได้ใช้สิทธิเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารแล้ว ด่านสำคัญของการเลือกนายกรัฐมนตรีนอกจากจะมาจากบัญชีพรรคการเมืองและมือของ ส.ส. ในสภาแล้ว สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นอีกด่านหินสำคัญที่ต้องผ่านไปให้ได้ เพราะ 250 เสียงจาก ส.ว. จะมีส่วนสำคัญในการยกมือให้ใครได้เป็นนายกฯ เพื่อบริหารประเทศต่อไป

 

ท่ามกลางกระแสที่ ส.ว. ถูกตั้งคำถามถึงจุดยืน ความชัดเจน และควรมีอำนาจโหวตนายกฯ หรือไม่ ท่ามกลางการหาเสียงเลือกตั้งที่เข้มข้น THE STANDARD ชวน 3 สมาชิกวุฒิสภา ได้แก่

  1. วันชัย สอนศิริ
  2. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
  3. เสรี สุวรรณภานนท์

 

มาพูดคุยถึงจุดยืนและทิศทางของ ส.ว. ในฐานะด่านสำคัญว่าเงื่อนไขจะเป็นผู้ให้กำเนิด ส.ว. ชุดนี้คือ ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ และเสียงของประชาชนหลังเลือกตั้งที่ ส.ว. จะหาญกล้าหักด่านประชาชนหรือไม่

 

จุดยืน วันชัย สอนศิริ: เอาเสียงประชาชนเป็นตัวตั้ง เพื่อไทยได้เกินครึ่งพร้อมโหวตให้อุ๊งอิ๊ง

 

ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ส.ว. จะไม่มีประโยชน์อะไรหาก ส.ส. ไม่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ ส.ว. สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแบบไม่แตกแถว เป็นเพราะผู้แทนประชาชนส่วนใหญ่ในสภาสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดเกิดขึ้นจาก ส.ส. เป็นสารตั้งต้น

 

ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน วันชัยย้ำจุดยืนของตนเองว่า หากใครรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. และพรรคการเมืองเหล่านั้นที่รวมกันจะสนับสนุนผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี ตนจะเลือกผู้นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

 

หากประชาชนไม่ต้องการให้ ส.ว. มาเกี่ยวข้องในการเลือกนายกรัฐมนตรีเลยนั้น ส.ส. ก็รวมกันเสียเองให้ได้ 376 ที่นั่ง แล้ว ส.ว. นั้นจะไม่มีสิทธิ์เกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรี

 

วันชัยกล่าวต่อไปว่า พรรคการเมืองจะเสนอผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีแบบหลับหูหลับตาคงไม่ได้ และอย่าคำนึงถึงแต่พวกพ้องตนเอง เพราะฉะนั้นต้องคัดเลือกบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสภาและประชาชน

 

ถ้าหากพรรคเพื่อไทยรวมที่นั่งได้เกิน 251 ที่นั่ง พร้อมกับเสนอ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตนพร้อมสนับสนุน ขอย้ำว่าตนเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

 

วันชัยยังกล่าวอีกว่า ส.ว. มีหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของ พล.อ. ประยุทธ์ หรือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจนปัจจุบัน ตนเชื่อเหลือเกินว่าทุกคนมองส่วนรวมและประเทศชาติเป็นหลัก และ ส.ว. ไม่ได้มองคนที่มาชี้นิ้วสั่งแต่มองประเทศชาติเป็นสำคัญ

 

วันชัยยังกล่าวเสริมว่า ไม่มีใครคิดจะต่ออายุ พล.อ. ประยุทธ์ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีนั้นกำลังดี

 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันชัยย้ำว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะองค์กรอิสระ ประชาชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้ยาก กลายเป็นที่ทำงานของเหล่าข้าราชการเก่าชั้นผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นบรรดาองค์กรอิสระควรเปลี่ยนเรื่องคุณสมบัติที่มา รวมถึงที่มาของ ส.ว. พร้อมเสนอ ส.ว. ให้มีที่มาจากการเลือกตั้ง

 

จุดยืน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์: ฟังเสียงประชาชน แต่ไม่โหวตให้อุ๊งอิ๊ง ไม่เชื่อว่าจะแลนด์สไลด์

 

เชื่อว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ไม่เหมือนกับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้จะดูจากเสียงประชาชนเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นทิศทางในการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ของ ส.ว.

 

การที่ ส.ว. จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศชาติเป็นหลัก ต้องทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติเและฝ่ายบริหารเข้มแข็ง

 

การที่ให้ ส.ว. เลือกรัฐมนตรีนั้นเกิดจากคำถามพ่วงที่ถามว่า ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี’

 

ประชาชนมากกว่า 15 ล้านเสียงนั้นเห็นชอบ ในขณะที่คนไม่เห็นด้วยมีเพียง 10 ล้านเสียงเท่านั้น โดยตนเชื่อว่าสถานการณ์อดีตกับปัจจุบันน่าจะแตกต่างกัน

 

การเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งนัยบางอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พร้อมกับย้ำว่าไม่เชื่อจะเกิดเหตุการณ์ ‘แลนด์สไลด์’ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ถ้าหากพรรคเพื่อไทยรวมที่นั่งได้ 250 ที่นั่ง พร้อมกับเสนออุ๊งอิ๊งเป็นนายกรัฐมนตรี ตนไม่สนับสนุน โดยให้เหตุผลว่า ‘ประเทศไทยไม่ใช่ที่ลองงานของใคร’ ผู้ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน

 

นพ.เจตน์ย้ำด้วยว่า ตนแคร์เสียงมหาชนในการพิจารณาเลือกผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่มีธงในใจก่อนที่การเลือกตั้งจะออกมา

 

ส่วนโอกาสในการต่ออายุนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นไปได้ แต่น้อยมาก คงไม่ทันในวาระของตนเป็น ส.ว. และการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นการเสนอใหม่ของ ส.ส. สมัยหน้า แต่ในช่วงที่ตนเป็น ส.ว. อยู่ ตนคิดว่าร่างที่จะนำเสนอเข้าสภารอบใหม่ ‘ผ่านยาก’ เพราะตนไม่ทราบว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร แต่อาจจะเป็นผลประโยชน์ของ ส.ส. ในการแทรกแซงงบประมาณแผ่นดิน

 

จุดยืน เสรี สุวรรณภานนท์: รวมเสียงได้เกิน 376 ที่นั่ง ก็ต้องดูว่ามีจุดด่างพร้อยที่จะโหวตให้เป็นนายกฯ ไหม

 

ในการจัดตั้งรัฐบาลโดยรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ให้อำนาจ ส.ว. เป็นระยะเวลา 5 ปีในการเลือกนายกรัฐมนตรี

 

ภารกิจของ ส.ว. ตามที่ตนเข้าใจคือในช่วงก่อนปี 2560 บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย จึงให้ ส.ว. มาช่วยจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้ได้รัฐบาลที่เหมาะสมมาบริหารประเทศให้เกิดความสงบเรียบร้อย

 

การจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 ก็เป็นภารกิจของ ส.ว. เช่นเดียวกัน ในการเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งรัฐบาล

 

เสรีกล่าวแย้งกับวันชัยและนพ.เจตน์ ว่าต่อให้ใครรวมกันได้ถึง 376 ที่นั่งตนก็ยังไม่ให้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้ ส.ว. เป็นผู้ตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ ส.ส. ตนกล่าวว่า ตนไม่ได้ค้านเสียงประชาชน แต่ตนทำเพื่อประชาชน เพราะผู้ที่ได้คะแนนเสียงมาหากว่าตนเห็นแล้วว่าไม่เหมาะสม มีจุดด่างพร้อย สร้างปัญหา สร้างความแตกแยก มีแต่กลุ่มทำลายสถาบันฯ ตนก็ย่อมที่จะมีสิทธิ์ในการที่จะบอกประชาชนว่าเสียงมากก็จริง แต่คุณสมบัติไม่ดี ตนก็ไม่เลือกตามเสียงส่วนใหญ่

 

เสรีระบุต่อไปอีกว่า “คะแนนของตนที่จะเลือกใครนั้นมีราคา” ราคานั้นไม่ได้หมายถึงค่าตอบแทน แต่หมายถึงคะแนนของตนมีค่าควรที่จะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ส่วนตนจะเลือกใครให้รอดูกันวันนั้น “น้ำบ่อไหนจะไหลไปบ่อนั้น แต่ก็ไม่ไหลไปทั้งหมดแบบคราวที่แล้ว”

 

ในส่วนของการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งได้เกิน 8 ปี เป็นเพียงการรวบรวมข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรรมนูญ ไม่มีผู้ใดเสนอเพื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เพียงแต่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นำประเด็นนี้มาพูดว่าจะต่อเวลาเพื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งไม่เป็นความจริง

 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเสรีเห็นว่าควรต้องแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลายๆ ฉบับเป็นการนำเอาปัญหาและข้อขัดแย้งในประเทศบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถนำคนดีเข้าสู่ตำแหน่งได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X