×

ภาคประชาสังคมจี้ตรวจสอบกรณีตำรวจ สภ.เวียงแหง วิสามัญฆาตกรรม จะจือ จะอ่อ

โดย THE STANDARD TEAM
27.07.2019
  • LOADING...

เครือข่ายภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เวียงแหง ได้ออกตรวจพื้นที่บริเวณบ้านห้วยไคร้ใหม่ และพบชายต้องสงสัย 2 คนขับรถจักรยานยนต์มา เมื่อเจ้าหน้าที่ขอให้หยุดเพื่อตรวจสอบ ชายต้องสงสัยกลับใช้ปืนยาวยิงเจ้าหน้าที่จนเกิดการต่อสู้กันขึ้น และ จะจือ จะอ่อ อายุ 26 ปี ชาวบ้านห้วยไคร้ใหม่ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 เวลาประมาณ 17.30 น.

 

โดยหลังเกิดเหตุมีประชาชนจากชุมชนชาวห้วยไคร้ใหม่ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า แม่ของผู้เสียชีวิตได้พยายามเข้าไปกอดร่างลูกชาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้าย ทำให้ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ไม่พอใจ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 มีประชาชนจากชุมชนชาวห้วยไคร้ใหม่ได้ออกแถลงการณ์ขอความเป็นธรรม และแสดงความวิตกต่อการวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าว โดยได้อ้างว่า จะจือ จะอ่อ ไม่ได้ค้ายาเสพติดและไม่มียาเสพติดไว้ในครอบครอง และมีพยานเห็นเหตุการณ์ว่าในระหว่างการจับกุม จะจือ จะอ่อ ไม่ได้มีอาวุธปืน แต่อาวุธปืนนั้นถูกนำมาวางหลังจาก จะจือ จะอ่อ ได้เสียชีวิตแล้ว

 

แถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีดังกล่าว เมื่อเกิดกรณีการที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารบุคคลโดยไม่ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาล หรือเรียกว่าการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม (Extrajudicial Killing) อาจเกิดเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติข้อ 11 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อมีผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิดอาญา บุคคลนั้นย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดแล้วว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้กระทำผิดจริง ดังนั้น ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยไม่ว่าจะเป็นคดีใดๆ จะถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม (Extrajudicial Killing) ไม่ได้ และย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ (Rights to Defense) ตามกระบวนการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) 

 

ในส่วนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้กำลังหรืออาวุธพอสมควรแก่เหตุ การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐเกินกว่าเหตุอาจเข้ากรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐต้องสอบสวนข้อเท็จจริง นำตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีทั้งทางวินัยและในทางอาญา และชดใช้เยียวยาให้ครอบครัวผู้ถูกละเมิดอย่างเพียงพอ การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมจะส่งผลให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ ประชาชนขาดความเชื่อถือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นในกรณีที่เจ้าหน้าที่สังหารประชาชนนอกกระบวนการยุติธรรม รัฐจะต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ทั้งในทางวินัยและในทางอาญา และชดใช้เยียวยาครอบครัวผู้ถูกละเมิดอย่างเพียงพออีกด้วยจากกรณีดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุการณ์ความตายผิดปกติ ต้องมีการไต่สวนการตายตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้ศาลสั่งว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และแสดงถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้

 

ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ขอเน้นย้ำว่า จะจือ จะอ่อ มิได้เป็นชนเผ่าพื้นเมืองคนเดียวในประเทศไทยที่ตกเป็นเหยื่อของการวิสามัญฆาตกรรม ตั้งแต่ช่วงนโยบายปราบปรามยาเสพติดในปี 2546 ชนเผ่าพื้นเมืองได้ตกเป็นเหยื่อของอคติทางเชื้อชาติ โดยถูกมองอย่างเหมารวมในแง่ลบว่าเป็นพวกป่าเถื่อน ชอบค้ายาเสพติด และเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทัศนคติดังกล่าวแทรกซึมลึกเข้าไปในนโยบายของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้คนชนเผ่าพื้นเมืองตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่านอกระบบ การซ้อมทรมาน หรือการบังคับให้สูญหาย 

 

ยกตัวอย่างเช่นในกรณีการสังหารชาวเมี่ยน 6 คนที่ตำบลห้วยชมพู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ในปี 2546 และกรณีการวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ และ อะเบ แซ่หมู่ ชายชาวลีซู ในปี 2560 เป็นต้น โดยในทุกกรณี เจ้าหน้าที่ได้กล่าวหาผู้ถูกสังหารว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และตัดสินใจใช้ความรุนแรงมากเกินความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วนบนพื้นฐานของข้อสันนิษฐานที่อาจเป็นผลจากอคติทางเชื้อชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ จะจือ จะอ่อ จึงถือเป็นผลจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบที่ส่งผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองมากเป็นพิเศษ หากเหตุการณ์ในลักษณะเดิมยังเกิดขึ้นซ้ำ อาจทำให้ประชาชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองสูญเสียความไว้วางใจในรัฐและนำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติได้

 

องค์กรภาคประชาสังคมที่มีรายชื่อด้านล่างนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้

 

  1. ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นอิสระ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาสังคม เพื่อตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของ จะจือ จะอ่อ จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมครบถ้วน และหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดตามข้อเท็จจริง รัฐต้องลงโทษผู้กระทำผิดทั้งทางวินัยและในทางอาญา และชดใช้เยียวยาครอบครัวของ จะจือ จะอ่อ อย่างเหมาะสม

 

  1. ขอให้คุ้มครองประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์การตรวจค้น จับกุม และสังหาร จะอือ จะอ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้พยานถูกข่มขู่ คุกคามจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด เพื่อให้พยานสามารถให้ข้อเท็จจริง พยานหลักฐานแก่คณะกรรมการตรวจสอบได้อย่างอิสระ ปราศจากแรงกดดันหรือความหวาดกลัว

 

  1. ขอให้ย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหาร จะอือ จะอ่อ ออกจากพื้นที่ ในระหว่างการตรวจสอบและสืบสวนสอบสวนคดี เพื่อเป็นหลักประกันว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

 

  1. ในการทำสำนวนไต่สวนการตายนั้น ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลตามหลักการในพิธีสารมินนิโซตา ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค.ศ. 2016) กล่าวคือ ต้องกระทำอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และละเอียดถี่ถ้วน เป็นอิสระและเป็นกลาง และโปร่งใส โดยต้องคำนึงถึงพยานหลักฐานทุกชิ้นในคดีไต่สวนการตาย เพื่อให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้สังหาร จะอือ จะอ่อ ตายที่ไหน เมื่อใด และแสดงถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครเป็น 

 

  1. ผู้กระทำรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจัดการฝึกอบรมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในการเข้าถึงความยุติธรรมและขจัดอคติทางเชื้อชาติ โดยมีมาตรการให้ตำรวจชุมชน เจ้าหน้าที่ความมั่นคง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน และหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องเข้าร่วมการอบรมดังกล่าว

 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

องค์กรผู้ร่วมลงนาม

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดเชียงใหม่

สมาพันธ์เพื่อช่วยเหลือมอญชายแดน

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X