×

‘ชโย’ เผยหนี้เสียเช่าซื้อรถยนต์เสี่ยงมากสุด หลังรถในตลาดเพิ่มขึ้นมากและ EV ฉุดยอดขายรถมือสอง

22.04.2024
  • LOADING...
ชโย หนี้เสียเช่าซื้อรถยนต์เสี่ยงมากสุด

กิตติ ตั้งศรีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) เปิดเผยว่า ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ธุรกิจหลักในส่วนของการซื้อหนี้มาบริหาร คิดว่ายังไม่ได้กระเตื้องขึ้นมากนัก 

 

สำหรับหนี้เสียในระบบน่าจะถูกขายออกมาอย่างต่อเนื่อง และอาจมีมูลค่าใกล้เคียงกับปีก่อน เพราะหนี้เสียที่แต่ละธนาคารประกาศขายเมื่อปีก่อนยังขายไม่หมด และถูกนำกลับมาขายใหม่ในปีนี้ 

 

“ปีก่อนมีหนี้เสียที่ถูกเสนอขายมาที่ชโยราว 4 แสนล้านบาท สำหรับปีนี้คาดว่าอย่างน้อยน่าจะมีหนี้เสียที่เข้ามาที่บริษัทราว 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาบริหารจัดการราว 2-3 ปีจึงจะคุ้มทุน แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักทำให้อาจต้องใช้เวลา 3-4 ปี” 

 

กิตติกล่าวต่อว่า ในบรรดากลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียที่บริษัทซื้อเข้ามาบริหารเหล่านี้ กลุ่มเช่าซื้อรถยนต์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ด้วยปริมาณรถยนต์ที่ออกมาในตลาดค่อนข้างมาก และการเข้ามาตีตลาดของรถ EV ทำให้ราคารถยนต์มือสองลดลง ประกอบกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาช่วยเหลือผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้การตามเก็บหนี้ทำได้ยากขึ้น 

 

“ระยะหลังบริษัทไม่ได้ซื้อหนี้ในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์มากนัก หรือหากจะซื้อต้องได้ราคาต่ำ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ซื้อ เพราะการตามเก็บหนี้ทำได้ยากกว่า”​

 

ส่วนกลุ่มหนี้เสียที่บริษัทซื้อเข้ามาบริหารเป็นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ถือเป็นกลุ่มที่ยังทวงถามได้ง่ายกว่า เพราะเป็นหนี้ที่ก้อนไม่ใหญ่มาก แม้ว่าจะเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งนี้ อัตราการจัดเก็บหนี้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 30% จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด 

 

โดยปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนซื้อหนี้ไว้ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท และหนี้ไม่มีหลักประกันอีก 300 ล้านบาท โดยหนี้เสียส่วนใหญ่น่าจะถูกขายออกมาในช่วงไตรมาส 3-4 

 

CHAYO ยังได้ขยายธุรกิจปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ 3 ประเภท คือ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ผ่านบริษัทย่อยคือ บมจ.ชโย แคปปิตอล (CCAP) ที่เตรียมจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 

 

นอกจากนี้ CHAYO ได้ลงนาม MOU ร่วมกับอีก 2 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์คือ บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) และ บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA) เพื่อร่วมศึกษาและต่อยอดธุรกิจ โดยใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทมาช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจให้เกิดการทำงานร่วมกัน (Synergy) 

 

ธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร YGG กล่าวว่า ตัวอย่างความร่วมมือหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวคือ การทำแพลตฟอร์มปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจบันเทิง ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่เข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ยาก 

 

ด้าน ศุภกิจ งามจิตรเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZIGA กล่าวว่า หนึ่งในความร่วมมือที่อาจเห็นได้ในระยะสั้นคือ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการโคล้านครอบครัวของรัฐบาล โดยนำจุดแข็งของแต่ละบริษัทมาใช้ร่วมกัน คือ ZIGA เป็นผู้ขายเหล็กที่ใช้สำหรับทำคอกโค ส่วน CHAYO เป็นผู้ปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร ขณะที่ YGG เป็นผู้ทำแพลตฟอร์มและนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X