×

ChatGPT จะทำให้ ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ ตกงานหรือไม่? ในเมื่อ AI ก็เขียนบทความได้ (แถมภาษาสละสลวยกว่าด้วย)

24.02.2023
  • LOADING...
ChatGPT

“เราจะโดน AI แย่งงานหรือเปล่า?” เคยเป็นคำถามภาพยนตร์ไซไฟมาก่อน แต่มันดูจริงขึ้นและเป็นคำถามที่เป็นจริงเป็นจังในปัจจุบัน เพราะมองทางซ้ายก็ภาพวาดที่วาดจากคำสั่งโดย AI มองอีกทางก็ดนตรีที่เขียนโดย AI 

 

แต่ในขณะที่งานเหล่านั้นเราอาจจะคุยกับเขาได้โดยง่ายว่าดูก็รู้อยู่ว่า AI วาด ดูสิวาดมือไม่ได้เรื่องเลย หรือหน้าตาเหมือนกันไปหมด AI ที่ปฏิเสธยากที่สุดหนึ่งตัวคือ ChatGPT แชตบอตที่คุยกับเราได้เหมือนมนุษย์ เขียนงานตามที่เราบอกได้ ทั้งหัวข้อ รูปแบบการเรียบเรียง สไตล์การเขียน และเขียนทั้งหมดได้ในไม่กี่นาที แล้วคอนเทนต์ครีเอเตอร์จะเอาอะไรมารอด? 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

แต่มนุษย์เราไม่มีโอกาสจะต่อสู้มันเลยจริงๆ หรือเปล่า? 

 

ChatGPT คือแชตบอตโดย OpenAI ที่ต่างจากแชตบอตในอดีต เพราะอาศัยการฝึกตอบคำถามผ่าน Machine Learning ที่ปัจจุบันมีข้อมูลอยู่ถึงปี 2021 ในขณะที่ยังไม่สามารถตอบคำถามอัปเดตเกี่ยวกับโลกปัจจุบันทันด่วนได้ นั่นไม่ใช่หน้าที่หรือจุดเด่นที่ทำให้เราคาดหวังจาก ChatGPT เพราะจุดเด่นคือการสร้างไอเดียที่หากมองผ่านไวๆ เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไม่ได้มาจากมนุษย์ 

 

เรียกง่ายๆ ว่าหน้าที่หลักของ ChatGPT ไม่ใช่การตอบคำถามแบบถาม A ตอบ A แต่คือการนำความรู้ที่มีอยู่จำกัดนำเสนอออกมาในรูปแบบที่ผู้สร้าง Prompt กำหนด และหากเราลองเลือกปรับประโยคข้างต้นเล็กน้อยเป็น “หน้าที่ของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไม่ใช่การตอบคำถามแบบถาม A ตอบ A แต่คือการนำความรู้ที่พวกเขามีอยู่จำกัดนำเสนอออกมาในรูปแบบที่ผู้จ้างวานกำหนด” เราจะเห็นได้ว่าความกลัวการสูญเสียอาชีพของพวกเขามาจากไหน ข้อเสียของ ChatGPT นั้นคือข้อเสียเดียวกันกับที่มนุษย์มีในระดับที่เล็กน้อยกว่า แต่จุดแข็งมีมากมายเหลือเกิน

 

ในขณะที่มนุษย์ถูกจำกัดด้วยกรอบของความสามารถ ความถนัด หรือความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเขียนรูปแบบใดสักแบบ แน่นอนว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับชีววิทยา แต่เราถ่ายทอดออกมาเป็นบทความได้หรือเปล่าหากไม่เคยเรียนการเขียนมา? เรามีความรู้ว่าศิลปินคนนั้นแต่งเพลงอย่างไร แต่การที่เรารู้แปลว่าเราแต่งมันได้ขนาดไหน? หรือเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังรู้สึกอยู่ต้องทัชใจคนหลายร้อยคนแน่ๆ แต่เรารู้วิธีการเขียนบทกวีที่จะนำเสนอความรู้สึกนั้นหรือไม่? และถึงจะรู้ในอะไรสักอย่างที่กล่าวมา น้อยมากที่คนหนึ่งคนจะรู้ทั้งหมดนั้นพร้อมๆ กัน แต่ ChatGPT สามารถทำได้ และทำได้ในเวลาที่รวดเร็ว 

 

แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเราพูดถึงงานสร้างสรรค์สักชิ้น คำถามที่มนุษย์ถามกันตลอดมาและน่าจะตลอดไปคงเป็น ‘อะไรบ้างที่นับว่าเป็นงานสร้างสรรค์?’ คือชิ้นงาน คือความคิดเบื้องหลังการสร้าง คือหยาดเหงื่อและแรงกายของการสร้าง หรือคำตอบอีกล้านอย่างที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้ที่พูด แต่หนึ่งในมุมมองของศิลปินคนหนึ่งต่อประเด็น ChatGPT ที่น่าสนใจคือนักดนตรี Nick Cave

 

ในขณะที่ ChatGPT อยู่ในช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุดที่ใครๆ ก็เล่น “เขียน___ในสไตล์ของ___” กับแชตบอตอัจฉริยะนี้เพื่อทดลองขอบเขตว่าทำอะไรได้บ้าง หนึ่งในแฟนเพลงของ Cave ให้มันเขียนเพลงในสไตล์ของศิลปินคนโปรด ก่อนจะส่งเพลงนั้นให้กับเจ้าตัว Cave ตอบรับผ่านจดหมายข่าวเกี่ยวกับความเห็นของเขาต่อความสามารถของ ChatGPT และทิศทางที่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อาจจะพาเราเดินไป

 

“เราไม่อาจย้อนกลับหรือชะลอได้เมื่อมันพาเราเดินไปยังโลกอนาคตยูโทเปีย หรืออาจจะเป็นความพังพินาศอย่างราบคาบของพวกเรา ใครจะไปตอบได้ว่าแบบไหนจะเป็นจริง แต่ถ้าให้ตัดสินจากเพลง ‘เขียนในสไตล์ของ Nick Cave’ นี้ผมว่ามันไม่ใช่สัญญาณที่ดีนะ Mark วันสิ้นโลกกำลังจะมาถึงแล้ว เพลงนี้โคตรห่วย” Cave ตอบแฟนเพลง 

 

ในมุมมองของเขา งานของ ChatGPT ไม่ใช่ศิลปะ แต่คือการลอกเลียน ลอกเลียนความเป็นมนุษย์ ซึ่งเขาเชื่อว่าการลอกเลียนไม่ใช่ศิลปะ เพราะชิ้นงานในตัวของมันเองไม่ใช่แก่นของศิลปะ แต่คือทุกอย่างที่นำไปสู่ชิ้นงานนั้นๆ มากกว่า “เมื่อผู้ฟังฉุกนึกได้ถึงแก่นของเพลงนั้นอยู่ในเลือดของพวกเขา ในอุปสรรคที่เขาเจอ และความทุกข์ของตัวพวกเขา”

 

และเมื่อมองกลับมาในมุมของการสร้างคอนเทนต์ เราอาจต้องถามกลับว่า เช่นนั้นแล้วพวกเราต้องการอะไรบ้างจากคอนเทนต์ที่เราเสพ? ในขณะที่ ChatGPT สามารถทำตามวิธีการเขียนได้หลากหลายรูปแบบเหลือเกิน สิ่งที่ถูกดีไซน์เข้าไปในรากของมันคือไม่สามารถมี ‘ความเอนเอียง’ (Bias) ได้ และบ่อยครั้งกว่าที่เราอยากจะยอมรับว่าความเอนเอียงคือที่มาของความสร้างสรรค์ที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์มี ที่มาของงานศิลปะ หรือแม้แต่ตัวตนที่เราเลือกให้แก่ตัวเอง 

 

ChatGPT สามารถนำเสนอแนวคิดหลักของลัทธิทางปรัชญาให้เราเข้าใจได้ แต่ไม่สามารถนั่งเถียงปรัชญากับเราได้ สามารถเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกาได้อย่างถี่ถ้วน แต่ไม่สามารถมีความเห็นต่อเหตุการณ์ใดนั้นได้เลย มีเพียงการเรียบเรียงที่สละสลวย เข้าใจง่าย รวดเร็ว แต่แก่นที่ทำให้เราเสพคอนเทนต์ออนไลน์แต่แรกอยู่ที่ไหน?

 

ทำไมในโลกนี้ไม่มีเพียงสำนักข่าวสำนักเดียว? ทำไมเราไม่อาจดูหนังจากสตูดิโอเดียวทั้งชีวิตได้? ถ้างานของ Michelangelo นับว่าเป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงส่งเท่าที่มันเป็น เราจะมีศิลปะร่วมสมัยต่อไปทำไม? คำตอบคือผู้เสพคอนเทนต์ต้องการมากกว่าตัวหนังสือ มากกว่าความรู้เกี่ยวกับสไตล์การเขียนที่หลากหลาย มากกว่าการลอกเลียน แต่เสียงเฉพาะตัวที่มาจากผู้เขียน จากศิลปิน จากคุณค่าที่สำนักข่าวกำหนดหมุดหมายเอาไว้ และทั้งหมดนั้นมาจากความเป็นมนุษย์ ที่ในท้ายที่สุดแล้ว ChatGPT อาจขาดไปเพราะพื้นฐานการออกแบบ 

 

เช่นนั้นแล้วเราอาจต้องวางกรอบคำถามกันใหม่ จากคอนเทนต์ครีเอเตอร์จะตกงานจากการมาถึงของนักเขียน AI หรือไม่ ให้กลายเป็นคำถามว่า คอนเทนต์ครีเอเตอร์และระบบกับบริษัทที่พวกเขาอาศัยอยู่มองว่างานของพวกเขาเป็นงานที่จะถูกทำแทนโดย AI ได้หรือไม่มากกว่า 

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising