วันนี้ (2 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ว่าวันนี้ทางกรุงเทพธนาคมได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นของสัญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาการเดินรถและสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงโครงการนำสายสื่อสารลงดิน จากการหารือกับกรุงเทพธนาคมวันนี้ ทำให้ได้เห็นสัญญาการเดินรถที่จะสิ้นสุดในปี 2585 ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สิน จึงต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบว่าภาระหนี้สินเกิดจากอะไร และสัญญาได้รับการอนุมัติจากสภา กทม. หรือไม่
ทั้งนี้ชัชชาติกล่าวว่า ขออย่าเอาหนี้สินมาเป็นตัวเร่งรัดการตัดสินใจระยะยาว แม้ว่าจะมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งหากมีความจำเป็น กทม. ก็ยังมีข้อบัญญัติในการกู้เงินที่จะนำมาชำระหนี้สินได้ โดยเป็นข้อบัญญัติที่ต้องผ่านสภา กทม. ก่อน ซึ่งการกู้เงินจากรัฐจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าให้เอกชนเป็นผู้กู้ แต่จะต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ
สำหรับการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัญญาในปี 2572 นั้น ชัชชาติกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการหารือวันนี้ เพราะยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายอื่นๆ ทั้งสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร หรือ สจส. และสภา กทม. ที่จะต้องพูดคุยกันเพื่อดูรายละเอียดข้อมูลและทบทวนการต่ออายุสัญญา โดยให้สภา กทม. ดูเนื้อหาอย่างละเอียดตามแนวทางปฏิบัติ เพราะสัญญาเดิมที่ค้างอยู่ใน ครม. ขณะนี้ เกิดขึ้นจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นโดยใช้มาตรา 44 ทั้งนี้หากศึกษารายละเอียดแล้วเชื่อว่าจะมีจุดที่ทำให้สัญญาถูกลงได้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุนเข้ามาแข่งขัน
ส่วนกรณีจะทำราคาค่าโดยสารให้ถูกลงอยู่ในราคา 25 บาทนั้น ชัชชาติกล่าวว่าเป็นเป้าหมายที่ตั้งใจจะทำและมีความเป็นไปได้ แต่ยอมรับว่าก็มีปัจจัยอื่นที่ควบคู่ไปด้วย เช่น โครงสร้างหนี้พื้นฐาน ที่จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงกำไรและขาดทุน ทั้งนี้มองว่าอีกแนวทางที่จะลดภาระหนี้สินคือ อาจจะเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วน เพราะปัจจุบันการให้บริการฟรีอาจจะไม่สมเหตุสมผล และส่งผลกระทบต่ออาชีพการให้บริการรถขนส่งสาธารณะที่จะขาดรายได้ ต้องดูความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนและเอกชนด้วย
ชัชชาติกล่าวอีกว่า หลังจากได้ข้อสรุปจะต้องรายงานต่อ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยจะรีบสรุปข้อมูลเพื่อเข้าหารือให้เร็วที่สุด และคงยังไม่เข้าไปรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ชัชชาติกล่าวยืนยันว่า จะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนตามที่เคยบอกไว้ พร้อมย้ำด้วยว่า สิ่งที่ กทม. อยากทำมากที่สุดคือการเร่งคืนหนี้สินให้รัฐบาลให้เร็วที่สุด และอยากขอให้ กทม. มาดูแลเรื่องการเดินรถเอง เพราะถือเป็นสมบัติของเมือง
ส่วนกรณีหารือในประเด็นสายสื่อสารลงดินนั้น ชัชชาติกล่าวว่า ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะขณะนี้มีปัญหาเรื่องรายได้และผู้เข้ามาดำเนินการ ที่มีสัญญาจ้าง 4 ฉบับ กรอบวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดข้อมูล เพราะถือเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นความก้าวหน้า และจะต้องไม่เป็นภาระของผู้บริโภคเพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
โดยในวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายนนี้ จะเชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มาหารือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้ใจให้กับประชาชน เพราะการบอกว่าตนเองโปร่งใส ใครก็ไม่เชื่อ แต่ถ้ามีผู้มาร่วมสังเกต ให้ข้อแนะนำ และมีการตรวจสอบ จะทำให้มีความมั่นใจในการทำงานได้ดีขึ้น ถ้าเรากลัดกระดุมเม็ดแรกถูกก็จะไปต่อได้ โดยจะเริ่มให้องค์การต่อต้านคอร์รัปชันมาเป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าด้วย