×

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงทักทายจับแขนนายกฯ และสอบถามถึงสถานการณ์โควิดในไทย ระหว่างงานเลี้ยงเวที COP26

โดย THE STANDARD TEAM
02.11.2021
  • LOADING...
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์

วันนี้ (2 พฤศจิกายน) เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ องค์มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ ทรงทักทายอย่างเป็นกันเองและทรงจับแขน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างงานเลี้ยงรับรองสำหรับผู้นำการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ของสหราชอาณาจักรเข้าร่วมในโอกาสดังกล่าว

 

ทั้งนี้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงชื่นชมประเทศไทย มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องใกล้ชิดมายาวนานและจะคงพัฒนาต่อไป พร้อมทรงสอบถามถึงสถานการณ์โควิดของไทยที่สามารถบริหารจัดการด้วยดีและขอชื่นชม ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้ฝากความระลึกถึงและความปรารถนาดีถึงราชวงศ์อังกฤษอีกด้วย 

 

ด้าน ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณคณะเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนภารกิจการเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC: COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2564 ให้ผ่านลุล่วงไปด้วยดี 

 

“นายกรัฐมนตรีพอใจกับภาพรวมของการได้ร่วมแสดงบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในครั้งนี้ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ไทยได้ร่วมกับนานาประเทศแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน ซึ่งต้องดำเนินการหลายด้านพร้อมกัน ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดำเนินนโยบายในระดับมหภาคเพื่อให้ภาครัฐ อุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชน เห็นความสำคัญของปัญหาและร่วมกันแก้ไข” ไตรศุลีกล่าว

 

ไตรศุลีกล่าวต่อไปว่า การผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ตลอดจนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมถึงสิทธิประโยชน์ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อจูงใจการลงทุน เป็นหนึ่งในการแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศเป็นการผลิตและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

“นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการร่วมกับนานาประเทศเพื่อลดปัญหาโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่วนของรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการจูงใจให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการมีมาตรการสร้างแรงจูงให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย BCG และความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือและพลังจากภาคประชาชน ภาคเอกชนทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ ร่วมกันขับเคลื่อน” ไตรศุลีกล่าว 

 

ไตรศุลีกล่าวด้วยว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางกลับจากสหราชอาณาจักรถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 18.40 น.

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising