เมื่อ บูรพา อารัมภีร ผู้เป็นมิ่งมิตร ส่งหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ชรินทร์ นันทนาคร มาให้ได้อ่านแล้ว ทำให้นึกถึงเพลง ท่าฉลอม, เรือนแพ, อาลัยรัก, ทาสเทวี, ผู้ชนะสิบทิศ และเพลงอมตะอีกหลายเพลง
โดยเฉพาะเพลง ผู้ชนะสิบทิศ ควรต้องน้อมคารวะยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) ผู้เป็นเจ้าของบทประพันธ์อันลือลั่นเมื่อ 90 ปีที่แล้ว
ชื่อ ‘ยาขอบ’ นี้ โชติ แพร่พันธุ์ บอกว่าศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) เป็นผู้แนะนำให้ใช้เมื่อตอนเขียนพงศาวดารแปลงของพม่าในรูปแบบของนวนิยาย
ในคำนำของหนังสือเรื่อง ยอดขุนพล ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ ผู้ชนะสิบทิศ ยาขอบเขียนว่า
“เรื่อง ยอดขุนพล นี้ ข้าพเจ้าเขียนจากข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารพม่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หน้า 107 ระหว่างบรรทัดที่ 11 เหตุที่เสนอโดยละเอียดดังนี้ก็เพื่อจะบอกให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เมื่อตัวจริงมีอยู่ในพงศาวดาร 8 บรรทัด แต่เรื่อง ยอดขุนพล มี 3,224 บรรทัด”
เมื่อไปค้นต่อว่า 8 บรรทัดมีข้อความอะไรก็ได้พบ
“ราชกุมาร กุมารี และจะเด็ด ทั้ง 3 ก็เล่นหัวสนิทสนมเจริญวัยมาด้วยกันในพระราชวังเมืองตองอูจนรุ่นขึ้น อยู่มาวันหนึ่งพระราชเทวีทรงสังเกตเห็นอาการสนิทสนมกันอย่างไม่ชอบกลเหลือจะอภัยโทษได้ ในระหว่างพระราชบุตรีกับของจะเด็ด บุตรพระนมของพระราชกุมารมังตรา อันเป็นอนุชาต่างพระมารดาของพระราชธิดาองค์นั้น จึงกราบบังคมทูลฟ้องพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์กริ้ว พระมหาเถรขัตติยาจารย์ขอพระราชทานโทษ จึงโปรดอภัยให้ แล้วตรัสให้ไปรับราชการเป็นเจ้าพนักงานผู้น้อยอยู่ในกรมวัง จะเด็ดพากเพียรพยายามเอาใจใส่ในราชการโดยจงรักภักดีอย่างแข็งแรงที่สุด จึงได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ จนได้เป็นนายทหารมีตำแหน่งแลยศสูง”
แรงบันดาลใจ 8 บรรทัดนี้เองที่เสกสรรมาเป็น ผู้ชนะสิบทิศ ที่มีตัวอักษรมากกว่า 1.5 ล้านตัว ขยายผลเป็นบทละคร ภาพยนตร์ เพลง และงานอื่นๆ มหาศาล ต่อเนื่องมาเกือบร้อยปีแล้ว ผู้ชนะสิบทิศ ยังคงเป็นงานวรรณกรรมที่ยืนยงคงมนตร์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย
ความยิ่งใหญ่ของ ผู้ชนะสิบทิศ นอกจากสำนวนเขียนที่ได้รสชาติทั้งรบอย่างเจนจบและรักอย่างตรึงตรา ยังต้องยกให้กับการผูกเรื่องที่แสนจะพิลึกพิลั่นยากที่จะคาดเดา ซึ่งยาขอบเองสารภาพว่า
“ในการเขียน ผู้ชนะสิบทิศ นั้น ขอเรียกตามความนึกคิดของข้าพเจ้าว่า พยายามเขียนให้บ้าที่สุดเท่าที่จะบ้าได้ พฤติการณ์ของตัวละครทุกตัวในเรื่อง ถ้ามีโอกาสมักจะถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาเขาไม่ค่อยทำ เช่น ให้นางเอกถูกข่มขืนเสียบ้าง พ่อเจ็บใจถึงกับแทงลูกเสีย ตาย กับมือตนเองบ้าง ฯลฯ”
จึงไม่ต้องประหลาดใจว่าเหตุไฉนนักอ่านยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงพากันตามติด ผู้ชนะสิบทิศ แบบเกาะติดขอบสนาม เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ผู้ชนะสิบทิศ ที่เขียนต่อเนื่องพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาตินั้นตีพิมพ์ออกมาไม่ทันใจคนอ่านจำนวนหนึ่ง ถึงขนาดที่คนอ่านทนรอไม่ได้ ต้องไปเข้าคิวรออ่านกันหน้าแท่นพิมพ์กันเลยทีเดียว
แม้แต่เจ้านายหญิงผู้สูงศักดิ์ พระองค์หนึ่ง ซึ่งตกหลุมอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวถึงขั้นยอมไม่ได้เมื่อถึงตอนที่ยาขอบจะผูกเรื่องให้ตะละแม่กุสุมา ซึ่งเป็นสตรีที่ถูกฉุดคร่าจนเสียความบริสุทธิ์แล้วมาเข้าสู่พิธีอภิเษก เชิดหน้าชูตาคู่กับตะละแม่จันทรา ซึ่งเป็นหญิงพรหมจารีและมีความดีพร้อม เจ้านายหญิงถึงกับไปหายาขอบ แล้วขึ้นเสียงขึงขังว่า
“พ่อยาขอบจะเขียนอย่างนั้นไม่ได้เป็นอันขาด ช่วยฉันหน่อยได้ไหม นึกว่าเหมือนหลานช่วยย่าให้ตายอย่างมีความสุขว่าหลานไม่ได้ทำผิด ฉันเตือนเจ้า ใครผิดใครถูกไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม”
เมื่อเจ้านายระดับพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนามว่า พระองค์เจ้าเฉิดโฉม ซึ่งเป็นแฟนคลับแบบตามติดทุกตัวอักษร มีความเดือดเนื้อร้อนใจถึงปานนี้ ยาขอบจะวางเฉยกระไรได้ ทั้งๆ ที่ได้ผูกโยงเรื่องราวแวดล้อมให้พระประยูรญาติทั้งปวงเห็นด้วยกับการจัดงานแต่งพร้อมกันไว้อย่างพร้อมแล้ว
แล้วใครเล่าจะมีความสำคัญเพียงพอที่จะพลิกสถานการณ์ ยาขอบเล่าว่า
“ข้าพเจ้าพบพระนมเลาชี มารดาของจะเด็ดเอง ให้ตัวละครตัวนี้เข้าขัดขวางจะเด็ด แม่เลาชีออกมาห้ามโดยขู่ว่า หากตะละแม่กุสุมานั่งเสมอกับตะละแม่จันทราเมื่อใด นางจะผูกคอตายเมื่อนั้น ตอนนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้อ่านจำนวนนับร้อยที่ยินดีปรีดากับพฤติการณ์อันเป็นผู้มีใจซื่อถือธรรมของพระนมผู้เฒ่า บ้างก็ว่าถึงกับน้ำตาคลอเพราะตื้นตันใจ”
นี่คือยอดฝีมือนักเขียนที่ทำให้บุคคลภายนอกเป็นเดือดเป็นร้อนถึงขนาดก้าวเข้ามาเปลี่ยนบท โดยกั้นขวางพิธีอภิเษกอันยิ่งใหญ่ที่ยาขอบต้องยอมตาม
จากนวนิยายเป็นบทเพลง
ชรินทร์ นันทนาคร เล่าถึงเพลงผู้ชนะสิบทิศว่า ครูไสล ไกรเลิศ ชวนนั่งรถเมล์สายถนนตก-หลักเมืองไปด้วยกัน แล้ววันหนึ่งไปลงที่เวิ้งนาครเขษม ที่นั่นมีร้านขายหนังสือหลายร้าน
ครูไปยืนอ่านนวนิยายเรื่องหนึ่งรู้สึกชอบมาก จะซื้อก็ไม่มีสตางค์ ราคา 8 เล่ม 200 บาท อ่านได้สักครู่ อาแปะเจ้าของร้านก็ถือไม้ขนไก่มาทำทีปัดฝุ่น แต่ที่จริงบอกให้รู้ว่ามาอ่านฟรีอยู่ได้อย่างไร ก็เลยไปร้านอื่น จากร้านบรรณกิจ ไปร้านแพร่พิทยา ไปร้านอุดมศึกษา เวียนอ่านอยู่แถวนั้น 20 กว่าร้านจนอ่านจบทั้ง 8 เล่ม
ตกเย็นวันหนึ่ง ครูไสลพาชรินทร์ไปที่ร้านอาหารครัววังหน้า (ใกล้สำนักงานกฤษฎีกา) ซึ่งยุคโน้นเป็นสโมสรเทศบาลนครกรุงเทพ
มองฟ้าก็เห็นดาวสวยเต็มฟ้า มองน้ำเจ้าพระยาก็ระยิบระยับงามตา
ครูไสลก็ฮัมเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง
“ฟ้าลุ่มอิระวดี คืนนี้มีแต่ดาว…”
น้ำเจ้าพระยาตรงนั้นเองที่ครูไสลนำมาแทนอิระวดีในจินตนาการ
แล้วครูก็สั่งชรินทร์ว่าให้ตั้งใจร้องเพลงนี้อย่างเต็มที่ สมัยก่อนจะไปร้องที่กรมประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้ เพราะที่นั่นเป็นอาณาจักรของคณะสุนทราภรณ์
ชรินทร์จึงเอาเพลงนี้ไปร้องที่สถานีวิทยุหนึ่ง ปณ.รักษาดินแดน ไม่นานหลังจากนั้นครูไสลก็ได้รับจดหมายใส่ซองสีชมพูมาบอกให้ไปพบด่วน ครูไสลบอกว่า
“เฮ้ย ไปด้วยกันหน่อย เจ้าของเรื่องเขาให้ไปพบ”
ตอนนั้นชรินทร์จำทางไม่ได้ว่าไปทางไหน เพราะเพิ่งมาจากเชียงใหม่ ยังไม่คุ้นกรุงเทพฯ เดินเข้าไปในซอยเล็กๆ ผ่านโรงพิมพ์เข้าไปเจอคนคนหนึ่ง ไว้หนวด รูปร่างเล็ก เจอคำถามแรกว่า
“นึกยังไงถึงเอาเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ไปแต่งเป็นเพลง รู้หรือเปล่าว่าผิดกฎหมาย!”
ครูละล่ำละลักตอบว่า “รู้ครับ”
“อ้าว รู้แล้วทำไมทำ”
“…เอ้อ ชอบจะเด็ด มันแหม…มันน่ารัก จะเด็ดเก่งมาก”
ซักไซ้ไล่เลียงกันจนเป็นที่พอใจ เจ้าของบทประพันธ์ตบโต๊ะแล้วถามว่า
“แล้วใครเป็นคนร้อง”
ครูได้ทีแล้วชี้มาที่ชรินทร์แล้วบอกว่า
“นี่ไงพี่ ไอ้นี่เป็นคนร้อง”
ชรินทร์บอกตัวเองว่า ตายละวา
ผู้ประพันธ์บอกว่า
“เอ้า! ลุกขึ้น! ยืนร้องหน่อย”
ครูไสลบอกกับชรินทร์ว่า
“เต็มที่เลยนะ จะไปร้องที่ไหน ร้อยคนพันคนฟังไม่เท่าคนคนนี้ฟังนะ ติดคุกได้”
ชรินทร์บอกว่า
“คืนนั้นผมร้องเพลงนี้ให้คนคนเดียวฟังและต้องร้องให้ดีที่สุดในชีวิต ผมลืมทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะมีครูคอยให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ พอร้องมาถึงท่อน ‘เจ็บใจคนรักโดนรังแก…’ ผมสังเกตเห็นท่านเหมือนตบโต๊ะ ผมก็นึก เออ! สงสัยจะสอบไล่ได้ พอจบเพลงท่านบอก “รอเดี๋ยว!” แล้วท่านเข้าไปข้างใน เอาหนังสือ ผู้ชนะสิบทิศ มาให้ครู 1 ชุด 8 เล่ม แล้วเขียนหน้าปกว่า ‘อนุญาตให้ นายไสล ไกรเลิศ นำเรื่องราวทั้งหมดไปแต่งเป็นเพลงได้แต่เพียงผู้เดียว’”
เพลง: ผู้ชนะสิบทิศ
คำร้องและทำนอง: ไสล ไกรเลิศ
ศิลปิน: ชรินทร์ นันทนาคร
ฟ้า…ลุ่ม อิระวดี คืนนี้ มีแต่ดาว
แจ่มแสง แวววาว หื่อฮือฮื้อ ฮือ ฮือหื่อ
เด่นอะคร้าว สว่างไสว
เสียงคลื่น เร้าฤดี คืนนี้ข้าเปลี่ยวใจ
เหน็บหนาวทรวงใน หื่อฮือ ฮื้อ ฮือฮือหื่อ
แต่ไฉนข้าเศร้า วิญญา
ข้ามา ทำศึก ลำเค็ญ
เหนื่อยแสนยากเย็น ไม่เว้นว่างเปล่า
เพื่อศักดิ์ชาว ตองอูถึงจะตายจะอยู่
ขอเชิดชู มังตรา ฮา…ฮา…ฮา
ดวงใจ ข้ามอบ จอมขวัญ
มั่นรักต่อกัน มิ่งขวัญจันทรา
กุ สุ มา ยอด ชู้ รักเจ้าเพียงเอ็นดู
ไว้เชิดชู ดวงแด (ไว้เชิดชู ดวงแด)
ไป รบอยู่ แห่งไหน ใจ คะนึงถึง เจ้า
เคยเล้าโลมโฉมแม่ ข้ากลับ มาเมืองแปร
มองเหลียวแล แสนเปลี่ยว เปล่า
ไม่มี แต่เงาข้าเศร้า อาลัย
หัวใจแทบขาด อนาถใจ ไม่คลาย
เจ็บใจ คนรัก โดนรังแก
ข้าจะเผา เมืองแปร ให้มัน วอดวาย
จะตายให้เขาลือชาย จะให้เขาลือชาย
ว่านามชื่อกู ผู้ชนะสิบทิศ
ผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะสิบทิศ
ผู้ ช…นะ…สิบ…ทิศ
เอ้อ…เออ…เอ่อ…เออ…เอย…
ผู้ชนะสิบทิศ เป็นวรรณกรรมนิยายที่ขยายผลออกไปหลายเวที หลายสื่อ มีการผลิตซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน เกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย ในยุควิพากษ์วรรณกรรมเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ผู้ชนะสิบทิศ ถูกจัดเป็น ‘วรรณกรรมชนชั้น’ มีอีกชื่อเรียกว่า ‘วรรณกรรมหาผัวหาเมีย’ ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมราวปี 2518 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีกลุ่ม 4 คน (หวาง, จาง, เจียง, เหยา) เป็นผู้นำนั้น ส่งผลสะเทือนมาถึงไทย มีนักอ่านหัวก้าวหน้าเสนอแนวคิด ‘เผาวรรณกรรม’ เป็นเรื่องฮือฮากันพอสมควร ต่อ ผู้ชนะสิบทิศ นักอ่านบางคนไม่พอใจ บอกว่า “เฮ้ย! เพียงแค่อกหักกับผู้หญิงคนเดียว ถึงกับจะเผาเมืองแปรกันเชียวหรือ”
อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะสิบทิศ เป็นวรรณกรรมที่มีพื้นที่แน่นอนในทางประวัติศาสตร์ และยังได้รับการคัดสรรจาก ‘โครงการวิจัยเพื่อคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในรอบศตวรรษ’ ให้เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน (พ.ศ. 2408-2519) ด้วยภาษาที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ และเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตและวัฒนธรรม ทำให้ ผู้ชนะสิบทิศ เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่จะอยู่คู่กับสังคมไทยไปนานเท่านาน