×

ถอดรหัสตัวละครจาก 4 คดีความขัดแย้ง 2 นายพล ‘ต่อศักดิ์-สุรเชษฐ์’

โดย THE STANDARD TEAM
05.07.2024
  • LOADING...

ณ เวลานี้ หากพูดถึงความขัดแย้งภายในองค์กร ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ น่าจะจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ที่ประชาชนนึกถึง เพราะการต่อสู้เพื่อจุดประสงค์ใดก็ตามแต่ของผู้บังคับบัญชาระดับสูง นำมาสู่ภาพลักษณ์ด้านลบที่ประชาชนชินชา

 

THE STANDARD หยิบยก 4 คดีสำคัญที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนความขัดแย้งที่เห็นชัดระหว่าง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาให้ร่วมพิจารณาว่า ตัวละครใดในคดีดังเชื่อมสัมพันธ์กันจนนำมาสู่รอยร้าวที่เกินเยียวยา

 

 

คดี: เป้รักผู้การเท่าไร?

 

เป็นคดีที่อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี และลูกน้อง รวม 10 คน จับกุมผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันแล้วนำตัวไปรีดเงิน 140 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเคลียร์คดี จนมีวลีว่า “เป้รักผู้การเท่าไร เป้เขียนมา”

 

แต่ภายหลังกลุ่มผู้ต้องสงสัยไม่พอใจกับพฤติกรรมของตำรวจชุดจับกุม จึงได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.คูคต จังหวัดปทุมธานี เพื่อดำเนินคดีกับตำรวจชุดดังกล่าว ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา และต่อมา ป.ป.ช. ก็มีคำสั่งให้ส่งสำนวนกลับมาให้ชุดพนักงานสอบสวนเดิมทำคดีต่อ

 

 

คดี: กำนันนก

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ภายในงานเลี้ยงของกำนันนก ผู้มีอิทธิพลในจังหวัดนครปฐม โดยกำนันนกได้พยายามขอให้โยกย้ายตำแหน่งตำรวจทางหลวงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัวตัวเอง แต่ พ.ต.ต. ศิวกร ไม่ยอมทำตาม นำมาสู่การลั่นไกกลางงานเลี้ยง ซึ่งหลังจากนั้นกำนันนกและมือปืนได้หลบหนีภายใต้การช่วยเหลือของตำรวจในงาน

 

ขณะที่ พ.ต.อ. วชิรา ซึ่งมีรายงานว่าเป็นผู้เชิญชวนให้ พ.ต.ต. ศิวกร ไปงานเลี้ยง ได้จบชีวิตในบ้านพักของตัวเองระหว่างการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของชุดทำคดี

 

อย่างไรก็ตาม คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องอดีตกำนันนกในข้อหา ‘เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด’

 

ส่วนความผิดของธนัญชัย (ลูกน้องที่ยิง พ.ต.ต. ศิวกร) มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปด้วยเหตุธนัญชัยถึงแก่ความตาย

 

อีกทั้งสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 21 นาย (อยู่ในเรือนจำ 6 นาย และแจ้งข้อหาโดยไม่ควบคุม 15 นาย) ในข้อหา ‘เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่’

 

 

คดี: เว็บพนันเครือข่ายมินนี่

 

การไล่รื้อเว็บพนันในครั้งนี้เปรียบได้กับการล้างบางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะยิ่งขยายผลยิ่งมีคลื่นซัดไปหาหลายส่วน การบุกจับเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยตำรวจชุด PCT 4 สืบพบการเล่นพนันออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ betfixroyal

 

นำมาสู่การจับกุม ‘มินนี่’ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 23 หมาย พลเรือน 15 คน และตำรวจ 8 นาย ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาสมคบกันฟอกเงินจากเว็บพนันออนไลน์ บางส่วนถูกแจ้งข้อหาเป็นผู้จัดให้เล่นการพนัน โดยในกลุ่มของตำรวจพบว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ รอง ผบ.ตร. และแคนดิเดต ผบ.ตร. 

 

จากนั้น 2 เดือน ชุดทำคดีได้เข้าค้นบ้าน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เพื่อตามหาผู้ต้องหาเว็บพนัน (ลูกน้องของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์) 

 

8 ธันวาคม 2566 อัยการคดีทุจริตและคดีพิเศษรับสำนวนการสอบสวนคดีเว็บไซต์ betfixroyal สั่งฟ้องผู้ต้องหา 14 คน พร้อมร้องทุกข์กล่าวโทษตำรวจอีก 5 นาย หนึ่งในนั้นคือ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ 

 

จากนั้นอีก 7 เดือน สังคมได้เห็นการตามฟ้องร้องกันในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลว่าชุดทำคดีเองก็ควรถูกสอบสวน

 

 

คดี: เว็บพนัน BNK Master

 

สำหรับเว็บพนัน BNK Master เรียกว่าเป็นภาคต่อของเว็บพนันเครือข่ายมินนี่ เพราะเป็นการขยายผลเว็บไซต์จนตามเจอบัญชีม้ามากมายที่โอนเงินจากผู้ต้องหาหลักไปสู่ตำรวจหลายหน่วย

 

ส่วนที่สังคมจับตามากที่สุดคือ ลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ที่มีหน้าที่เหมือนพ่อบ้านคอยจัดการธุระต่างๆ กลับมีเส้นทางการเงินจากบัญชีม้าสาวไปถึง อีกส่วนคือ มีการเปิดข้อมูลว่าครอบครัวของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ รับเงินจากบัญชีม้าของเว็บพนันนี้เช่นกัน

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X