×

จากแบรนด์ท้องถิ่นสู่ Global ‘เจ้าสัว’ หรือหุ้น CHAO เตรียมขาย IPO 87.68 ล้านหุ้น ระดมทุนนำเงินสร้างโรงงาน ขยายกำลังผลิต บุกตลาดต่างประเทศเต็มสูบ

20.06.2024
  • LOADING...
เจ้าสัว หุ้น CHAO

จากแบรนด์ท้องถิ่นสู่ Global ‘เจ้าสัว’ หรือ CHAO ไม่หวั่นตลาดหุ้นไทยผันผวน เตรียมขาย IPO จำนวน 87.68 ล้านหุ้น ระดมทุนนำเงินสร้างโรงงาน ขยายกำลังการผลิตสินค้า ส่งแบรนด์เจ้าสัว-โฮลซัมบุกตลาดต่างประเทศเต็มสูบ พร้อมโชว์ไตรมาสแรกทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 43.4%

 

ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO กล่าวว่า บนเส้นทางการดำเนินธุรกิจมากว่า 66 ปี ปัจจุบันธุรกิจเริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้น ด้วยจุดแข็งของสินค้าภายใต้แบรนด์เจ้าสัวและแบรนด์โฮลซัมที่ชูเรื่องคุณภาพนวัตกรรมใหม่และราคาเข้าถึงง่าย พร้อมขยายช่องทางจำหน่ายครอบคลุม ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี 

 

ส่งผลให้ผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เจ้าสัวสามารถสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างแข็งแกร่งเริ่มตั้งแต่

 

  • ปี 2564 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 1,135.1 ล้านบาท กำไรสุทธิ 64.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6%

 

  • ปี 2565 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 1,413.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 86.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1%

 

  • ปี 2566 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 1,493.4 ล้านบาท กำไรสุทธิ 161.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7%

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยรายได้คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 14.7% ต่อปี ส่วนกำไรสุทธิคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 58.4% ส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)

 

สำหรับภาพรวมในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 336.2 ล้านบาท เติบโต 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิในไตรมาส 1 อยู่ที่ 26.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยว เรียกได้ว่าบริษัทเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดขนมขบเคี้ยว เพราะสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ากลุ่มอาหารอื่นๆ จึงเดินหน้าขยายกลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยวมานานกว่า 3 ปี

 

ณภัทรฉายภาพว่า ตลาดขนมขบเคี้ยวมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 6.6% เนื่องจากสินค้ามีโอกาสกินได้บ่อยครั้ง ที่สำคัญลูกค้ามีพฤติกรรมการกินขนมหลากหลายแบรนด์ ไม่ได้เลือกกินแค่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเท่านั้น เราจึงมองเห็นช่องว่างในการทำตลาด จากนี้มีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่สอดรับกับเทรนด์สุขภาพเข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว อย่างเช่น ข้าวตัง มีส่วนแบ่งอยู่ในตลาดข้าวตังกว่า 78.5% ส่วนขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อสัตว์ แครกเกอร์ธัญพืช หนังปลา ชุดของขวัญ และขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นช่องทางโมเดิร์นเทรด 30% และเทรดิชันนัลเทรด 30% นอกนั้นจะเป็นช่องทางออนไลน์ที่เติบโตขึ้นเช่นกัน 

 

เมื่อมาดูทิศทางการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ เจ้าสัวมุ่งสร้างการเติบโตด้วยกลยุทธ์หลัก เริ่มตั้งแต่การเดินหน้าขยายตลาดในต่างประเทศ ปัจจุบันส่งออกสินค้าไปกว่า 12 ประเทศ ในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 216.6 ล้านบาท และในปี 2566 เติบโตสูงถึง 413.3 ล้านบาท ทำให้เห็นว่าตลาดส่งออกมีแนวโน้มเติบโต 

 

จากนี้เร่งขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนกระจายสินค้า และขยายการส่งออกไปสู่กลุ่มประเทศใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเติบโตสูง

 

ตามด้วยการพัฒนาสินค้ารสชาติที่หลากหลายให้แตกต่างจากผู้เล่นในตลาด และเกาะไปตามเทรนด์ความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์แบบชุดของขวัญ เพื่อใช้เป็นของฝากและเพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเติบโตขึ้น ควบคู่กับทำการตลาดโดยใช้พรีเซนเตอร์เข้ามาช่วยสื่อสารแบรนด์ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสื่อสารให้รู้ว่าสินค้าสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อขยายฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น 

 

สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งวัตถุดิบที่มีความผันผวนและแรงงาน พร้อมลงทุนระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร

 

พร้อมกันนี้การนำเจ้าสัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน เพื่อรองรับศักยภาพการเติบโตไปสู่ตลาดระดับโลกได้ 

 

พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า การนำ บมจ.เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ครั้งนี้ ก็เพื่อรองรับการขยายธุรกิจสู่ตลาดระดับโลก

 

โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำมาก่อสร้างโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นโรงงานที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก พร้อมพัฒนาระบบอัตโนมัติ เพิ่มพื้นที่การจัดเก็บสินค้าประมาณ 2.5 เท่า และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการบริหารธุรกิจ รวมถึงชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 

 

ล่าสุด CHAO ได้รับอนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชน (IPO) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 87.68 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 29.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดราคาเสนอขายและวันจองซื้อ 

 

ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ที่ผันผวนมีความกังวลบ้างหรือไม่ ณภัทรย้ำว่า ในระยะสั้นอาจจะมีความผันผวนบ้าง แต่อยากให้มองระยะยาว เรามุ่งขยายธุรกิจและมองว่าพื้นฐานธุรกิจของเรานั้นจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising