×

‘เจ้าพระยา’ ในวันที่เปลี่ยนไป กทม. ประกาศเตือนประชาชน พร้อมรับมือน้ำท่วม 1 สัปดาห์หลังจากนี้

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2022
  • LOADING...
แม่น้ำเจ้าพระยา

วันนี้ (2 กันยายน) ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพุทธ บรรยากาศของผืนน้ำวันนี้ที่ทีม THE STANDARD ได้บันทึกภาพมา น้ำมีปริมาณมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยายื่นมือแตะใต้ท้องสะพานพุทธได้อย่างง่ายดาย

 

ขณะที่ผู้ที่ตกปลาริมเขื่อนบอกว่า วันนี้สีของแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนไป คาดว่าเป็นเพราะน้ำเหนือที่ไหลมา และบอกว่าช่วงนี้เรือขนสินค้าที่ไม่ได้บรรทุกสินค้าจะพยายามหลีกเลี่ยงการสัญจรเพื่อความปลอดภัย

 

แม่น้ำเจ้าพระยา

 

ด้านกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักการระบายน้ำแจ้งว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีประกาศฉบับที่ 35/2565 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จากการคาดการณ์จะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 3-8 กันยายน บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก 

 

แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยา

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,000-2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,800-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.40-0.50 เมตร 

 

และในช่วงวันที่ 1-10 กันยายน 2565 บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อาจมีน้ำท่วมจากน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุนสูง ทาง กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างไว้แล้ว

                                             

โดยการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตามจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งได้จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉิน สามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง  

 

แม่น้ำเจ้าพระยา

 

นอกจากนี้ ยังได้จัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ และตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงอยู่เป็นประจำ 

 

ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีแนวป้องกันน้ำท่วมความยาวประมาณ 87.93 กิโลเมตร ประกอบด้วยแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของ กทม. ความยาวประมาณ 79.63 กิโลเมตร ซึ่งมีระดับความสูงของคันกั้นน้ำอยู่ที่ระดับ +2.80 ม.รทก. ถึง +3.50 ม.รทก. (เมตรเทียบกับระดับทะเลปานกลาง) สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือหลากที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ ได้ที่ปริมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

 

ส่วนของแนวป้องกันตนเองของหน่วยงานราชการอื่นและของเอกชน ความยาวประมาณ 8.30 กิโลเมตร เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน, แนวป้องกันน้ำท่วมของกองทัพเรือ, แนวป้องกันน้ำท่วมของธนาคารแห่งประเทศไทย, แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถานหรือศาลเจ้า, ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า, อู่จอดเรือ, ร้านค้า, สถานประกอบการร้านอาหารริมน้ำ และอาคารโกดังสินค้า ซึ่งในส่วนของแนวป้องกันตนเองบางแห่ง มีระดับของแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง มีการรั่วซึมหรือแนวฟันหลอ ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเรียงกระสอบทรายเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำ อุดจุดรั่วซึม เพื่อให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัย และจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง 

 

สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วม ต้องติดตามสถานการณ์น้ำเหนือเวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด บางชุมชนอาจได้รับผลกระทบจากเรือที่วิ่งผ่านไปมาด้วยความเร็ว ทำให้แรงคลื่นกระทบพื้นบ้าน

 

แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising