ช่วงบ่ายของวันที่ 2 มิถุนายน สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand: CUT) เข้ายื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภา เกียกกาย โดยประชุมร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มีผู้ร่วมรับข้อเสนอคือกระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA), กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมกิจการเด็กและเยาวชน
ข้อเรียกร้องในครั้งนี้คือประเด็นการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกองถ่าย ได้แก่ ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในการผลิตสื่อ, ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน, ความปลอดภัยในการทำงาน และการไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม
“ในงานแสดงครั้งแรก หนูโกนผมเพื่อรับบทคนเป็นมะเร็ง หลังจากนั้น 1 ปีหนูก็ค้นพบว่าตัวเองเป็นเนื้องอกก้านสมองชนิด 1 ในแสน ตอนอายุ 25 ปี ปัจจุบันได้รับการผ่าตัดมาแล้วครั้งหนึ่ง การป่วยครั้งนี้ทำให้หนูรู้ว่าชีวิตคนเรามันไม่แน่นอน และเพื่อลดอัตราความเสี่ยงในชีวิตเพิ่ม นี่คือสิ่งที่พวกเราพอจะทำได้เพื่อช่วยลดอัตราการตายของคนในกองถ่าย”
นักแสดงสาว นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ จาก ดวงใจพิสุทธิ์, The Deadline, เคว้ง และ เด็กใหม่ ซีซัน 2 เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า มาตรฐานของการถ่ายทำซีรีส์ไทยอยู่ที่ 16 ชั่วโมง นอกจากจะทำให้นักแสดงสุขภาพกายใจย่ำแย่แล้ว ยังมีทีมงานเบื้องหลังในกองถ่ายที่ต้องทำงานหนักกว่านั้นอีกมากจนถึงแก่ชีวิต
“ผู้กำกับต้องการให้เด็กร้องไห้ วิธีที่เขาใช้คือจับเด็กมาเขย่า เขย่าจนร้องไห้ แล้วค่อยถ่ายทำเมื่อได้ภาพที่ต้องการ” หนอน-ระวีพร ยุงไมเยอร์ ผู้จัดหานักแสดงและธุรกิจกองถ่าย ยกตัวอย่างอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือการใช้งานนักแสดงเด็กภายในกองถ่าย ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานหรือข้อกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิของเด็กอย่างเป็นรูปธรรม
จากผลกระทบดังกล่าว สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทยจึงมีข้อเสนอต่อกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดการคุ้มครอง ตั้งเงื่อนไขในการสนับสนุนสื่อ แก้ไขกฎหมาย และเฝ้าระวังบังคับใช้ ดังต่อไปนี้
- ให้มีมาตรฐานเด็กในกองถ่ายที่ต้องระบุเวลาในการพัก เวลาถ่าย เวลาอยู่ในกอง ตามมาตรฐานที่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก
- เวลาในการทำงานปกติของคนในกองถ่ายต้องไม่เกิน 12 ชั่วโมง และเวลาพัก 12 ชั่วโมง และหากทำงานเกินในชั่วโมงที่ 13 จะต้องมีค่าล่วงเวลา และแรงงานต้องมีเวลาพักผ่อนขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงก่อนเรียกกลับมาทำงานในวันถัดไป
- ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานในกองถ่าย
- คนทำงานในกองถ่ายต้องมีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม
สหภาพแรงงานสร้างสรรค์เสริมว่า ต้องการให้การพูดคุยครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการรับฟังเสียงจากแรงงานกองถ่าย เบื้องหลัง Soft Power ที่เป็นหนึ่งในผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจชิ้นใหญ่ของประเทศ และขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันติดตามผลของการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้
สามารถอ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของแรงงานในอุตสาหกรรมสื่อทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเพิ่มเติม พร้อมติดตามความคืบหน้าได้ตามช่องทางต่างๆ ของ CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์
- https://cutunion.org/
- https://www.facebook.com/CUTunion
- https://twitter.com/CUT_Union
- https://www.instagram.com/cut_union/
ภาพ: CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์, Chanya McClory
อ้างอิง: