×

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี พบเอกสารเก่ายุคสงครามโลก เตรียมผลักดันเป็น ‘มรดกความทรงจำโลก’

17.08.2018
  • LOADING...

หลังจากย้ายสำมะโนครัวมาลงหลักปักฐาน ณ ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า และทำการบูรณะตึกเก่าอายุกว่า 100 ปีจนงดงาม หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้ค้นพบเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดระหว่างบูรณะ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 พร้อมสภาพความเป็นอยู่อย่างครบถ้วน

 

สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี กล่าวว่า “การพบเอกสารสำคัญครั้งนี้ตื่นเต้นที่สุดเหมือนเจอทรัพย์สมบัติอันเป็นมรดกของชาติ ที่รวบรวมไว้ใต้ถุนอาคาร เอกสารมีความสูงถึง 800 ลูกบาศก์ฟุต เมื่อสรุปเนื้อหา พบเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระดับโลก เป็นเอกสารของส่วนราชการไทยและเอกสารบันทึกจากต่างประเทศ อายุเฉลี่ย 100 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2449-2522 เป็นเอกสารเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 6 ส่งทหารร่วมรบ โดยมีทหารอาสาชาวจันทบุรีร่วมสงครามด้วย โดยเป็นเอกสารตอบโต้ระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.) กับจังหวัดจันทบุรี ในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหนังสือเวียนสอบถามรายชื่อทหารที่ยังมีชีวิตอยู่”

 

นอกจากเอกสารดังกล่าว ยังมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่ฝรั่งเศสทิ้งระเบิด ที่อำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอท่าใหม่ เอกสารยุคสงครามเย็น ตลอดจนเอกสารเก่าเกี่ยวข้องกับการทำพลอยเมืองจันทบุรี ซึ่งเอกสารทั้งหมดทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้ใช้เวลาศึกษารายละเอียดกว่า 10 ปี และเตรียมยื่นเสนอให้คณะกรรมการมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย พิจารณาอีกครั้งปลายปีนี้ หลังจากเสนอมาแล้วครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

 

 

มรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) คือมรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage) เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่งโลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด การค้นพบและผลงานของสังคมมนุษย์ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีตให้กับสังคมปัจจุบันเพื่อที่จะสืบสานให้แก่สังคมในอนาคต โดยอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งนานาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) และสำหรับประเทศไทย มีเอกสารทางประวัติศาตร์ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกทั้งหมด 4 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1, เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 5, จารึกวัดโพธิ์ และบันทึกการประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

 

เราก็ได้แต่ลุ้นกันต่อไปว่า การยื่นอีกครั้งในสิ้นปีนี้จะทำให้แดนสยามมีมรดกความทรงจำโลกชิ้นที่ 6 หรือไม่ แน่นอนว่าทาง THE STANDARD จะรีบนำมาอัปเดตให้ทราบเช่นเคย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising