×

‘3 ผู้นำ’ บิ๊กคอร์ปไทยยก ‘ซัพพลายเชนโลกเปลี่ยน’ โจทย์ใหญ่ระดับประเทศ แนะลดต้นทุน-เพิ่มความหลากหลาย เพิ่มเสน่ห์

06.08.2023
  • LOADING...
ซัพพลายเชน

3 ผู้นำบิ๊กคอร์ปไทยเห็นพ้อง ‘ซัพพลายเชนโลกเปลี่ยน’ เป็นความท้าทายหลักของโลก พร้อมแนะเอกชนไทยเร่งสร้างความพร้อมเชิงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมเสน่ห์ประเทศ ดึงเม็ดเงินลงทุนกลับ 

 

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา WEALTH CLUB 2023 The Power Shift: Driving Growth in Economic Transition จัดโดย THE STANDARD WEALTH ว่า ธุรกิจ WHA คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน 

 

สิ่งแรกที่มองถึงโอกาสและความท้าทายการลงทุนคือเทคโนโลยี โลจิสติกส์ พลังงานน้ำ เพราะจำนวนประชากรมากกว่า 3 ใน 4 ของโลกอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งคือประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเมื่อเกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งแม้ว่าไทยจะถูกมองว่าเล็กเกินจะเลือกข้าง แต่ไทยก็ต้องวางแผนให้ดีว่าจะทำอย่างไรให้ดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย

 

ส่วนปัจจัยเร่งด่วนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือกระแสการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนครั้งใหญ่ของโลก ซึ่ง WHA มองว่าเป็นโอกาสที่จะทำอย่างไรให้นักลงทุนมาที่ไทย ขณะเดียวกันก็มองหาโอกาสการลงทุนต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย

 

“ดังนั้น องค์กรต้องปรับตัว จับกระแส จับเทรนด์ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานสะอาด” จรีพรกล่าว 

 

สำหรับการปรับตัวรับกับเทรนด์ดังกล่าว WHA ในฐานะที่มีฐานลูกค้าต่างประเทศราว 80% สิ่งที่สามารถช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับประเทศไทยได้คือ ไทยจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์หรือต้นทุนพลังงานได้อย่างไร เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ เพราะเกมการลงทุนของโลกเปลี่ยนแปลงไป

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา WHA ถือว่าประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายใหญ่เป็นลูกค้าอยู่ในนิคมฯ ซึ่งมีทั้งเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ที่ผลิต MG และ BYD และยังมีหนึ่งใน Top 5 ของผู้ผลิตรถยนต์ EV จากจีนมาอีกรายอย่างแน่นอน ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือ พร้อมทั้งวางเป้าหมายให้นิคมอุตสาหกรรมเวียดนาม Nghe An (WHA Industrial Zone – Nghe An) เป็นฐานการผลิตแห่งใหม่และการส่งออกสู่ตลาดโลกอีกด้วย

 

ปตท. เดินหน้าปรับพอร์ตธุรกิจ เน้นธุรกิจ Beyond Energy 

 

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปัจจุบันพลังงานอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั่วโลกมีการใช้พลังงานทั้งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก๊าซธรรมชาติน่าจะมีความต้องการยาวนานที่สุด แต่อนาคตความต้องการพลังงานเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลง โดยเฉพาะถ่านหินที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันยังไม่หมดไปในทันทีและยังคงเติบโต และความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงภาคพลังงานที่กำลังเกิดขึ้น ปตท. จึงวางเป้าหมายว่าปี 2030 สัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานสะอาดจะมากกว่า 75% ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยเม็ดเงินในการลงทุน พร้อมทั้งปรับพอร์ตการลงทุน ภายใต้การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต หรือ ‘Powering Life with Future Energy and Beyond’ เข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่มากกว่าธุรกิจพลังงานรูปแบบเดิม

 

โดยจะมีทั้งการลงทุนธุรกิจสุขภาพ สอดรับกับเทรนด์โลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science: ธุรกิจยา Nutrition และอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์) ซึ่งบริษัทลูก บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เติบโตอย่างมาก เพียงปีเดียวสามารถทำรายได้ 600 ล้านบาท 

 

อรรถพลกล่าวในบางช่วงว่า โลกการลงทุนขณะนี้มีทั้งความท้าทายด้านความแปรปรวนจากสิ่งแวดล้อมและความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทำให้ระบบซัพพลายเชนมีปัญหา เช่น ชิป (เซมิคอนดักเตอร์) ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวน ตลอดจนเรื่องโลจิสติกส์ที่ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องยืนบนขาตัวเองให้มากขึ้น 

 

ส่วนโอกาสการลงทุน มองความสำคัญ 2 ส่วน คือ Portfolio และ Timing เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้า ซึ่งบางเรื่องช้าไปไม่ได้ บางเรื่องเร็วไปก็ไม่ดี และต้องปรับพอร์ตลงทุนโดยดูลูกค้าคือกลุ่มไหน เพราะกลุ่มเป้าหมายย่อมสำคัญ 

 

“เช่นเราต้องมาถามตัวเองว่าพอร์ตปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ่านหินเอาออกเลย ส่วนน้ำมันไม่ใช่เรื่องที่หายไปในข้ามคืน เราจะรักษาโปรดักต์ในพอร์ตไว้ได้อย่างไรและวางสัดส่วนเหมาะสม” อรรถพลกล่าว 

 

เอสซีจีชู ‘ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน’ หนุนเสน่ห์ไทย 

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมีคอล ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง การลงทุนเริ่มมองมานอกจากไทยแล้ว นอกจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ยังมีฟิลิปปินส์ ปีนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจหลังจากโควิดกลับมาดีขึ้น แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่เห็นคือความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เช่น จีน สิ่งที่ตามมาก็คือการบริโภคของสินค้า ประเด็นถัดมาคือต้นทุน ไม่ว่าจะเป็น Fed ปรับดอกเบี้ย รวมถึงไทย ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าจะเผชิญอีกนานหรือไม่ ดังนั้นขึ้นอยู่กับภาครัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนที่มามักจะมองถึงความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน ลม น้ำ ความท้าทายระยะยาวคือเรื่องของโลกร้อนที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ เช่น สหภาพยุโรป (EU) ที่มุ่งหน้าไปมากแล้ว เราไม่สามารถอยู่คนเดียวบนโลกได้ 

 

“จาก 3-4 ปีก่อน ไม่เคยนึกถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เลย ไม่มีใครรู้ว่ารัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบจนเกิดปัญหาการผลิตระดับโลก เกิด Globalization โลกแยกขั้ว ทำให้ซัพพลายทั่วโลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจะเห็นจากปัญหาขาดแคลนชิป การลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจริงๆไทยสามารถมอง เป็นโอกาสได้ เพราะขณะนี้ไทยและตลาดอาเซียนดึงดูดการลงทุนอย่างมาก” รุ่งโรจน์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising