×

Facebook จะห้ามไม่ให้ผู้ใช้งานในออสเตรเลีย ‘แชร์ข่าว’ หากบังคับใช้กฎหมายจ่ายเงินให้สื่อ ชี้เป็นทางเลือกสุดท้าย

01.09.2020
  • LOADING...

Facebook เตรียมออกข้อบังคับที่ห้ามไม่ให้ผู้ใช้งานในออสเตรเลียแชร์ข่าวผ่านแพลตฟอร์มของพวกเขาทั้ง Facebook และ Instagram หากร่างกฎหมายสื่อฉบับใหม่ที่กำกับโดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (ACCC) จะมีผลบังคับใช้จริง 

 

ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำและป้องกันไม่ให้บริษัทผู้ผลิตสื่อและสำนักข่าวในออสเตรเลียถูกเอารัดเอาเปรียบโดยแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง Facebook และ Google ด้วยมองว่าทั้งสองแพลตฟอร์มต่างได้ประโยชน์จากคอนเทนต์ข่าวจำนวนมากที่ถูกแชร์บนช่องทางของพวกเขา ซึ่งในท้ายที่สุดทั้งหมดทั้งมวลได้แปรเปลี่ยนไปสู่ ‘เงินโฆษณา’

 

นั่นจึงทำให้ทาง ACCC ต้องพัฒนาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาเพื่อให้ Facebook และ Google จ่ายเงินให้กับบริษัทสื่อหรือสำนักข่าวใดๆ ก็ตามที่คอนเทนต์ของพวกเขาเหล่านั้นถูกแชร์บนแพลตฟอร์มดิจิทัลของตน เพื่อให้ผลประโยชน์และค่าโฆษณาถูกแบ่งให้กับแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียม

 

เรื่องนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นอย่างมาก กระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ Facebook นำโดย วิล อีสตัน กรรมการผู้จัดการ Facebook ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จึงได้ออกมาเปิดเผยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในข้อกำหนดการให้บริการในออสเตรเลีย โดยย้ำว่าร่างกฎหมายสื่อฉบับใหม่ของออสเตรเลียนั้นกำลังสร้างความเข้าใจผิดให้กับการขับเคลื่อนทางอินเทอร์เน็ต ตลอดจน ‘สร้างความเสียหายให้กับองค์กรข่าว’ ที่รัฐบาลพยายามจะปกป้อง 

 

“หากร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกผ่านเป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริง เราก็จะห้ามไม่ให้สำนักข่าว ผู้ผลิตสื่อ และผู้ใช้งานในออสเตรเลีย แชร์คอนเทนต์ข่าวบน Facebook และ Instagram นี่ไม่ใช่ตัวเลือกแรกของเรา แต่เป็นทางเลือกสุดท้าย นี่เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะปกป้องผลลัพธ์ที่ขัดแย้งกับหลักคิดความเป็นจริง ทั้งยังบ่อนทำลาย สั่นสะเทือน ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือองค์กรสื่อและสำนักข่าวในออสเตรเลียในระยะยาวอีกด้วย”

 

อีสตันยังบอกอีกด้วยว่าเป้าหมายของ Facebook ในการช่วยเหลือองค์กรข่าวออสเตรเลียหรือแม้แต่องค์กรข่าวอื่นๆ ทั่วโลกคือการสนับสนุนให้ผู้ใช้งานเกิดเอ็นเกจเมนต์กับคอนเทนต์ข่าวในวงกว้าง ซึ่งการที่แพลตฟอร์มอย่างเขาจะต้องถูกบีบให้จ่ายเงินกับบริษัทสื่อที่สมัครใจจะนำคอนเทนต์มาโพสต์ลงแพลตฟอร์มของพวกเขาเองในราคาที่ไม่สอดคล้องกับมูลค่าทางการเงินที่ Facebook มอบให้ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไร 

 

“เรามีตัวเลือกแค่จะลบข่าวทั้งหมดออก ไม่ให้มีการโพสต์ลงบนแพลตฟอร์ม Facebook หรือยอมรับระบบที่ผู้ผลิตและเผยแพร่สื่อสามารถเก็บเงินค่าคอนเทนต์กับเราในราคาที่พวกเขาต้องการโดยไม่มีขีดจำกัดที่ชัดเจนเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่มีโมเดลธุรกิจใดสามารถดำเนินการในตัวเลือกหลังได้” กรรมการผู้จัดการ Facebook ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กล่าวผ่านแถลงการณ์

 

จากการเปิดเผยของ Facebook พวกเขาระบุว่าตลอด 5 เดือนแรกที่ผ่านมาของปี 2020 นั้น Facebook ได้มีส่วนช่วยให้ผู้คนกดคลิกเข้าเว็บไซต์ข่าวในออสเตรเลียมากถึงกว่า 2.3 พันล้านครั้งโดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งทราฟฟิกดังกล่าวสามารถตีเป็นมูลค่าทางการเงินจากค่าโฆษณาให้กับสำนักข่าวได้มากถึงกว่า 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 4,600 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

ไม่ใช่แค่ Facebook เท่านั้นที่มีท่าทีไม่พอใจกับร่างกฎหมายฉบับนี้ของออสเตรเลีย เพราะก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Google ก็ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านแนวคิดการผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วยการออกแคมเปญรณรงค์ต่างๆ มาแล้วเช่นกัน

 

ดังนั้นจึงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าเมื่อรัฐบาลออสเตรเลียและทาง ACCC ประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมาเมื่อไร ผลกระทบที่มีต่อบริษัทผู้ผลิตสื่อและสำนักข่าวในประเทศจะขับเคลื่อนไปในเชิงลบหรือบวกกันแน่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แพลตฟอร์มดิจิทัลทั้ง Facebook และ Google ต่างก็ไม่ยินดียินร้ายที่จะปฏิบัติตามแนวทางของพวกเขา

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising