ปีใหม่มักจะเป็นช่วงเวลาแห่งหมุดหมายสำหรับอะไรใหม่ๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นก็มีทั้งดีและร้าย มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน ครอบครัว เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ คนรัก สัตว์เลี้ยง บ้าน ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ดร.นอม เชพเพนเซอร์ (Dr. Noam Shpancer) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกประจำ Otterbein College รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มีคำแนะนำต่อเรื่องความเปลี่ยนแปลงดังนี้ครับ
การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างยากที่จะทำใจยอมรับ เช่น การยุติความสัมพันธ์กับคนรัก ความตายของบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงที่รัก แม้คุณไม่อยากจะยอมรับมัน อยากจะให้มันเป็นเพียงความฝันเท่านั้น แต่จงอยู่กับโลกแห่งความจริงเถอะครับ
- รับรู้และเตรียมรับมือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างซื่อตรง
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิต อารมณ์ของคุณอาจจะเปลี่ยนไปได้ จนแม้แต่ตัวเองก็ยังตกใจ คุณอาจจะกลายเป็นคนเหวี่ยงวีน หงุดหงิด ทั้งที่โดยปกติแล้วคุณมักจะเป็นคนอารมณ์ดี ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส หรือบางคนกลายเป็นคนซึมเศร้า นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกกังวล เครียด หวั่นไหว หวาดกลัว อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เรา จงยอมรับและเผชิญหน้ากับมัน แทนที่จะหลีกเลี่ยงหรือกลบเกลื่อนว่าฉันยังโอเค จงรู้เท่าทัน ยอมอนุญาตให้ตัวเองเศร้า โกรธ เครียด เสียใจ กลัว หรือเกิดความรู้สึกต่างๆ เพราะนี่เป็นเรื่องธรรมชาติครับ
- วางแผนให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
ตั้งสติให้ดี เตรียมวางแผนเผชิญหน้ารับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น แนะนำให้คุณหยิบกระดาษขึ้นมาหนึ่งแผ่น และลองเขียนความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องเปลี่ยนงาน สิ่งที่คุณจะต้องพบมีอะไรบ้าง เช่น การวางแผนการเดินทางเส้นทางใหม่ๆ รถจะติดมากไหม ควรจะต้องออกจากบ้านกี่โมง ควรเข้านอนกี่โมงและตื่นตอนกี่โมง ลักษณะของงานใหม่มีอะไรที่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษหรือเปล่า
- บอกตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรที่เกิดขึ้นแล้วเราย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างยากที่จะทำใจยอมรับ เช่น การยุติความสัมพันธ์กับคนรัก ความตายของบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงที่รัก แม้คุณไม่อยากจะยอมรับมัน อยากจะให้มันเป็นเพียงความฝันเท่านั้น แต่จงอยู่กับโลกแห่งความจริงเถอะครับ บอกกับตัวเองว่าการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว เราไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ จงบอกตัวเองว่าแล้วมันจะผ่านไป แล้วเราจะดีขึ้น
- หาตัวช่วย (Support) ที่จะช่วยให้คุณรับมือได้ดีขึ้น
ไม่ว่าตัวช่วยนั้นจะเป็นเพื่อนสนิทที่พร้อมจะรับฟังและเข้าใจ หรือการลองคุยกับคนที่เคยประสบกับเหตุการณ์คล้ายๆ กับเรา การหาตัวช่วยต่างๆ เช่น การเขียนบันทึก เขียนสเตตัสเฟซบุ๊กเพื่อระบายความรู้สึกก็ช่วยได้เป็นอย่างมาก (แต่ขอแนะนำว่าถ้าเลือกวิธีนี้ คุณควรตั้ง Privacy เอาไว้สำหรับอ่านคนเดียวจะดีกว่าแชร์ให้ Public เห็นกันถ้วนทั่ว)
- หาวิธีผ่อนคลายความเครียดในแบบที่เหมาะกับตัวคุณ
ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ โยคะ การออกกำลังกาย หลายคนเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ บางคนเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวไปในสถานที่ที่เคยใฝ่ฝันว่าอยากจะไป ลองมองหากิจกรรมที่ผ่อนคลายขึ้นครับ
- ให้เวลาตัวเองปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
คนบางคนปรับตัวเก่ง ปรับตัวเร็ว แต่คนบางคนก็ต้องการเวลาในการปรับตัว สถานการณ์บางอย่างบางคนสามารถทำตัวให้คุ้นชินได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่สถานการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องของการสูญเสีย ต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าที่หลายคนจะผ่านมันไปได้ และเวลาก็คือเครื่องเยียวยาที่ดีที่สุดครับ
- ทิ้งเสียงบ่นว่า เสียงตำหนิจากคนอื่นเอาไว้ข้างหลัง
หลายครั้งที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่เฉพาะกับคุณ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงบุคคลอื่นๆ รวมถึงทำให้เกิดได้ทั้งความพอใจหรือไม่พอใจ และแน่นอนว่าจะต้องมีเสียงบ่นว่า เสียงตำหนิ เสียงชื่นชม เสียงประชด ดังมาให้เข้าหู จงทำใจให้หนักแน่น และอย่าเอาเสียงเหล่านั้นมาทำให้คุณเสียใจ เพราะไม่มีใครจะรู้เรื่องในชีวิตของคุณดีที่สุด เท่ากับตัวของคุณเอง
- ในกรณีที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ไหว คุณควรมองหาความช่วยเหลือครับ
หากคุณมีความเครียดเป็นอย่างมาก เครียดอยู่นานเกินไปไม่หายสักที ซึมเศร้า แยกตัว อาการเป็นมากจนกระทั่งส่งผลถึงการนอนหลับ การดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้คุณไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ น้ำหนักลด อาการเหล่านี้คือสัญญาณว่าคุณต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาแล้วล่ะครับ
ในโลกใบนี้ การเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์ ทุกสรรพสิ่งล้วนอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีใครที่หนีพ้นการเปลี่ยนแปลงได้แม้สักคนเดียว ดังนั้น หากเราเตรียมตัวให้พร้อม ย่อมจะเติบโตและก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างสง่างาม
- การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ส่งผลกระทบกับสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ และเลยไปถึงวัฒนธรรม ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาจึงมีวิชาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Change Management เปิดสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง ผู้ที่ริเริ่มพูดถึง Change Management เป็นคนแรกคือ ด็อกเตอร์เอเวอเรตต์ เอ็ม. โรเจอร์ส (Dr. Everett M. Rogers) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Ohio State University เขาเริ่มสร้างหลักสูตรเพื่อสอนเรื่อง Change มาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 60 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมโลกกำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเรื่อง Change Management ไม่ต่ำกว่า 50 แห่งทั่วโลก