กระแส EV ในไทยเติบโตไม่มีแผ่ว! หลายแบรนด์รถยนต์ EV จีน ตบเท้าเข้ามาทำตลาดต่อเนื่อง พร้อมทั้งตั้งฐานผลิตเพื่อส่งออกคึกคัก เช่นเดียวกับ ‘CHANGAN’ ที่บุกไทยครบ 1 ปีเต็ม เวลาไม่นานสามารถสร้างแบรนด์ และปิดยอดขายในไทย 8,000 คัน มีศูนย์บริการ 30 แห่งทั่วประเทศ และก้าวต่อไปเตรียมขยายต่อเนื่องอีก 60 แห่งภายในปี 2024 และครบ 100 แห่งในปี 2025
โดยซีอีโอย้ำว่าจะใช้ไทย โดยมีจังหวัดระยองเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออก และใช้ซัพพลายเออร์ท้องถิ่นกว่า 300 ราย เพิ่มอัตราส่วนชิ้นส่วนท้องถิ่นในรุ่นที่ผลิตในประเทศต้นปีหน้าถึง 50% พร้อมเตรียมส่งพนักงานที่มีทักษะประมาณ 100 คนไปฝึกอบรมที่ฉงชิ่งในเดือนกันยายนนี้
เซินซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีส เอเชีย จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า CHANGAN (ฉางอาน) เปิดเผยว่า CHANGAN Thailand ได้เดินทางมาครบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัท และการเปิดตัวแบรนด์ CHANGAN ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการทำตลาดด้วยแบรนด์ DEEPAL ในรุ่น S07 และ L07 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ระดับพรีเมียมในตลาดไทย แม้ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐบาลจีนไฟเขียว ‘ฉางอัน ออโตโมบิล’ เลือกไทยเป็นฐานผลิต EV 1 แสนคันต่อปี
- ทำไม ‘ฮอนด้า’ เลือกที่จะปิดไลน์ผลิตรถยนต์ที่ ‘อยุธยา’ ย้ายไปโรงงานปราจีนบุรีที่เดียว
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย กำลังผลิตเท่าไร ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
- เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย? ครั้งนี้ไม่เหมือนยุค 1980 ปิกอัพไทยเสี่ยงล่มสลาย
“1 ปีกับความสำเร็จของ CHANGAN มียอดขายเกินกว่า 8,000 คัน และส่งมอบแล้วเกือบ 6,000 คัน โดยเกือบ 5,000 คันเป็น DEEPAL S07 จนทำให้ติดอันดับท็อป 10 ของตลาด SUV ทั้งหมด ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 2.6%”
และอันดับ 2 ในกลุ่ม C-SUV ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 21% นอกจากนี้ยังครองอันดับ 1 ในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในช่วงราคาระหว่าง 1.3-1.5 ล้านบาท พร้อมกันนี้เรายังได้จ่ายภาษีให้กับประเทศไทยเกือบ 1.2 พันล้านบาทอีกด้วย
ปัจจุบัน CHANGAN มีการขยายโชว์รูมไปทั่วประเทศกว่า 60 แห่ง โดยเปิดดำเนินการแล้ว 30 แห่ง ครอบคลุมจังหวัดสำคัญ 25 จังหวัด และปี 2025 ตั้งเป้าที่จะขยายโชว์รูมให้ครบ 100 แห่ง
นอกจากนี้ CHANGAN Thailand ได้พัฒนาคลังอะไหล่ขนาดกว่า 3,000 ตารางเมตร ที่สามารถเก็บอะไหล่กว่า 2,000 ประเภท และชิ้นส่วนมากกว่า 40,000 ชิ้น ทำให้สามารถจัดส่งอะไหล่ครอบคลุมกว่า 95% ของประเทศภายใน 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังเปิดตัวศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ดิจิทัลใหม่ในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา
“สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดระยองและจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาของ CHANGAN ทั่วโลก ด้วยการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 80% และมีกำหนดเริ่มการผลิตในไตรมาสแรกของปี 2025
“CHANGAN ได้ใช้ซัพพลายเออร์ท้องถิ่นกว่า 300 ราย และมีแผนที่จะเพิ่มอัตราส่วนชิ้นส่วนท้องถิ่นในรุ่นที่ผลิตในประเทศต้นปีหน้าถึง 50% ในด้านบุคลากรท้องถิ่น ได้ว่าจ้างพนักงานเกือบ 300 คนในกรุงเทพฯ รวมถึงที่จังหวัดระยอง คิดเป็น 70% ของพนักงานทั้งหมด และยังมีแผนที่จะส่งพนักงานที่มีทักษะประมาณ 100 คนไปฝึกอบรมที่ฉงชิ่งในเดือนกันยายนนี้ด้วย” เซินกล่าวย้ำ
เซินมองแนวโน้มตลาดยานยนต์คาดว่าในปี 2024 ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านคัน และยอดขายยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) จะเพิ่มขึ้นถึง 17 ล้านคัน ซึ่งแสดงถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด NEV
โดยจีนยังคงเป็นผู้นำในกระแสนี้ และคาดว่ายอดขาย NEV ในจีนจะถึง 11.5 ล้านคันในปี 2024 และตลาด EV ของไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคง ด้วยการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล และแรงขับเคลื่อนจากลูกค้าพลังงานใหม่ โดยตลาดของ BEV ในไทยเติบโตกว่า 15% ในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ CHANGAN Thailand วางแผนเปิดตัวแบรนด์ AVATR ในเดือนกันยายนนี้ และในงาน Motor Expo เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้จะมีการเปิดตัว DEEPAL E07 ลูกผสมระหว่าง SUV และกระบะขนาดใหญ่ และมีแผนเปิดตัวรุ่นที่ผลิตในประเทศจากโรงงานระยองในไตรมาสแรกของปี 2025 โดยจะเป็นรุ่นแบบ BEV และ REEV ซึ่งเป็นเทคโนโลยี DEEPAL Super REEV สามารถขับขี่ได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตรจากการชาร์จและเติมน้ำมันเต็มถังอีกด้วย
เซินกล่าวอีกว่า แน่นอนว่าจีนเป็นผู้นำ NEV ทั่วโลกนี้ในปี 2024 ยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีนคาดว่าจะถึง 31 ล้านคัน โดยเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตามยอดขาย NEV คาดว่าจะขึ้นถึง 37% หรือ 11.5 ล้านคันภายในปี 2030
โดยโครงสร้างพลังงานของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในจีนคาดว่าจะเป็น EV 40%, XEV (รวมถึง PHEV และ REEV) 40% และเครื่องยนต์สันดาปภายในและ HEV 20% เน้นย้ำถึงบทบาทผู้นำของจีนในการพัฒนา NEV ทั่วโลก
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็กำลังดำเนินนโยบาย 30@30 เพื่อสอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว การอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารที่เข้มงวดขึ้น และความต้องการยานยนต์ในประเทศไทยที่ลดลง แต่อัตราการเข้าถึงตลาด BEV ในเซกเมนต์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลยังคงมากกว่า 15% ทำให้ไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจและเติบโตแน่นอน