×

ความบ้าคลั่งในความละเมียดที่ถ่ายทอดผ่านโปรเจกต์ Chang Lamiat หนังโฆษณาเรื่องใหม่ของสาธิต กาลวันตวานิช

29.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins read
  • Chang Lamiat คือภาพยนตร์โฆษณาชิ้นล่าสุด ผลงานกำกับของ สาธิต กาลวันตวานิช ผู้กำกับโฆษณามือรางวัลระดับโลก เจ้าของบริษัทฟีโนมีนา ที่ใช้เวลาร่วม 6 เดือนในการผลิตหนังแอนิเมชันที่ใส่ความ ‘ละเมียด’ เข้าไปในทุกวินาทีที่เราได้ชมกัน
  • สาธิตนิยามคำว่า ‘ละเมียด’ ว่าคือการหาเรื่องใส่ตัว และความคลั่งไคล้ในรายละเอียดที่จำเป็นมากในการพัฒนาขีดจำกัดของมนุษย์
  • Chang Lamiat คือการร่วมมือกันระหว่างสาธิตแห่งบริษัทฟีโนมีนา นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่อย่าง พิงค์-ฉัตรชนก วงศ์วัชรา และกับทีมแอนิเมชันจาก Yggdrazil
  • สาธิตเชื่อระยะเวลา 6 เดือนและความละเมียดที่ใส่ลงไปในงาน Chang Lamiat จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันวงการโฆษณาให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันว่าเราสามารถทำงานที่ ‘คราฟต์’ อยู่ ถึงแม้ว่าโลกของการโฆษณาจะถูกขับเคลื่อนด้วยเวลาที่รวดเร็วขนาดไหนก็ตาม

ในโลกของวงการโฆษณาที่มีความเชื่อว่ายิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี ยังมีผู้กำกับรุ่นใหญ่ที่ชื่อ สาธิต กาลวันตวานิช ผู้ก่อตั้งบริษัทฟีโนมีนา ยอมใช้เวลาร่วม 6 เดือน เพื่อสร้างงานโฆษณาที่มีระยะเวลาแค่ 1 นาที กับอีก 6 วินาที ผ่านโปรเจกต์ Chang Lamiat แอนิเมชันฝีมือคนไทยคุณภาพระดับโลก ที่สาธิตและทีมงานใส่ความ ‘ละเมียด’ ในระดับบ้าคลั่ง อัดแน่นอยู่ในทุกๆ วินาทีที่เราได้รับชม

 

ซึ่งสำหรับสาธิต ความละเมียดไม่เพียงแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงาน หากแต่ยังสำคัญในถึงระดับการใช้ชีวิต เพราะเขาเชื่อว่าความละเมียดนี้ล่ะคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาขอบเขตของความเป็นมนุษย์ให้ดีและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

 

เพราะฉะนั้นความละเอียด สวยงาม ทั้งหมดที่เห็นในโฆษณา Chang Lamiat ชิ้นนี้ จึงไม่ได้ถ่ายทอดแค่ความสวยงามเพื่อชวนเชื่อให้คนดูต้องมาซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ หากแต่ยังถ่ายทอดแพสชันและความตั้งใจอันแรงกล้าของทีมงานผู้ผลิต ที่สาธิตหวังเอาไว้ว่าจะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจการทำงานและก้าวขึ้นมาช่วยกันพัฒนาวงการโฆษณาไทยให้ก้าวไปได้ไกลในอนาคต

 

 

นิยามคำว่า ‘ละเมียด’ ของคุณคืออะไร

ความละเมียดคือการหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว ความคลั่งคือความที่จะใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะดูเกินเลยฟังก์ชันต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินชีวิต แต่เป็นความคลั่งเพื่อที่จะพัฒนาขีดจำกัดและเติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ความละเมียดจะนำเราไปสู่ประสบการณ์ที่เป็นขั้นกว่า ไม่ว่าจะดีกว่า มีคุณภาพมากกว่า ใหม่กว่า สุขภาพดีกว่า หรูหรากว่า ฯลฯ

 

ยกตัวอย่างเช่นวัดต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องละเอียดขนาดนั้น เป็นปูนเฉยๆ ก็ได้ แต่เขาละเมียด แต่เขามีความคลั่งที่จะเอากระจกมาตัดแปะทีละชิ้น นั่งวาดประติมากรรมฝาผนังอย่างละเอียดในทุกๆ ผนัง ทุกๆ เสา หรือการสร้างเฟอร์นิเจอร์ในยุคที่ทุกอย่างยึดปรัชญาฝั่ง ‘โมเดิร์น’ ที่ทุกอย่างต้องเรียบ เร็ว เข้าระบบอุตสาหกรรมปุ๊บ ทิ้งความเวิ่นเว้อทุกอย่างไปหมด แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ขอใส่ความละเอียดเข้าไปหน่อย เหลาไม้ตรงนี้ เพิ่มเดือยเข้าไปตรงนี้ ติดไม้ตรงนี้เข้าไปหน่อย กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียที่ประสบความสำเร็จขายได้ชิ้นละ 2-3 แสน หรือวัดพระแก้วที่มีคนจากทั่วโลกมาต่อคิวกันแน่นทุกฝาผนัง ถามว่าตอนสร้างเขาคิดหรือว่าจะประสบความสำเร็จ เขาไม่ได้คิดหรอก เขาแค่คลั่งและคิดว่าต้องทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจและใส่ความละเมียดเข้าไปให้มากที่สุดเท่านั้นเอง

 

 

ซึ่งคุณยึดหลักความ ‘ละเมียด’ อยู่ในการทำงานทุกชิ้นมาโดยตลอด

ผมไม่ได้บอกว่าตัวเองดีนะ ผมยืนยันมาตลอดว่าผมโง่ ผมปั๊มตราคำนี้ไว้บนหัวเลย เพราะฉะนั้นพอรู้ว่าโง่แล้วยังไง ก็ต้องถึก ต้องทำอะไรให้มากเข้าไว้ พอทำมากเข้ามันก็เกิดเป็นความเป็นละเอียด เป็นความละเมียดที่เราคุยกัน และสุดท้ายเมื่อเราบ้าคลั่งมากพอ ใส่ใจรายละเอียดมากพอ แล้วเราจะเริ่มสังเกตเห็นรายละเอียดของการผลิตซ้ำในรูปแบบเก่าๆ และคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เราเข้าสู่กระบวนการผลิตซ้ำงานเหล่านั้นขึ้นมา เราจะค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้น จนสุดท้ายมันจะมีความหัศจรรย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ

 

คุณบอกว่าเวลาทำงานที่ละเอียดมากๆ คนทำจะไม่รู้หรอกว่าผลสุดท้ายจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แล้วเวลาที่คุณทดลองใส่รายละเอียดมากๆ ลงไปในงาน คุณมั่นใจได้อย่างไรว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะสามารถตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ของลูกค้าที่จ้างคุณได้

เริ่มจากการเดาแบบเด็กๆ ก่อน คิดว่าทำอย่างไรก็ได้ให้งานดีขึ้น แล้วชีวิตเราคงจะดีขึ้น ได้งานแพงขึ้น ซึ่งตอนนั้นเราไม่ค่อยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำลงไปแล้วมันจะได้อะไรกลับมา มันเกิดจากอะไรบางอย่างในชีวิตที่ไดรฟ์ให้เราเลือกเดินไปในทางนั้น ซึ่งพอเราทำไปเรื่อยๆ มันก็จะพัฒนาไปสู่การคาดเดาที่อาจจะแม่นยำมากขึ้นตามประสบการณ์ แต่สุดท้ายเราก็กลับมาที่จุดเดิมว่าเรายังต้องพยายามเรียนรู้และพัฒนางานของเราเพื่อที่จะออกไปจากกระบวนการผลิตซ้ำเดิมให้ได้

 

การคาดเดาหรือการไม่รู้แบบเด็กๆ ที่เอามาใช้ในการทำงานมันลดลงบ้างไหม เมื่อประสบการณ์มากขึ้น ทำงานมากขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

มันหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำนะ (หัวเราะ) เพราะว่าผมพยายามระวังตัว ผมเห็นตัวอย่างคนแก่มาเยอะ ที่พอประสบการณ์ทำให้รู้เยอะแล้วเขาเหมือนจะหยุดนิ่งกันหมด เกิดปรากฏการณ์น้ำเต็มแก้ว ซึ่งถ้าไปดูพวกดีไซเนอร์ต่างประเทศ เพราะจะเห็นว่าต่อให้อายุมากขนาดไหน แต่เขายังคิดงานเปรี้ยวๆ ออกมาได้ตลอดเวลา เราต้องทำตัวเป็นแก้วว่าง เพื่อเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ให้มากขึ้น เหมือนที่ไอน์สไตน์บอกว่า ยิ่งคุณรู้เยอะ คุณยิ่งไม่รู้อะไรเลย ไม่ว่าปริมาณความรู้ของคุณจะมหาศาลขนาดไหน เมื่อเทียบกับปริมาณสิ่งที่ไม่รู้ สัดส่วนมันมีแค่นิดเดียว ผมเลยกลายเป็นคนที่สนุกความไม่รู้ สนุกกับความโง่ ผมรักมันมากเลย

 

มีความเป็นเด็กเรื่องไหนบ้าง ที่คุณเอามาทดลองใช้ในงาน Chang Lamiat ในครั้งนี้

ความไร้สาระ มีหลายอย่างในนั้นที่ผมไม่สามารอธิบายด้วยตรรกะให้เข้าใจ

 

 

ลูกค้าไม่ตกใจเหรอ เวลาคุณบอกว่าจุดแข็งของงานชิ้นนั้นคือความไร้สาระ

ตกใจสิ (หัวเราะ) ซึ่งก็มีหลายไอเดียที่ลูกค้าไม่ซื้อและผมไม่สามารถดีเฟนด์ไอเดียของผมได้เลยนะ เพราะผมเริ่มต้นคิดภาพในเรื่องด้วยการมโนรายละเอียดต่างๆ ที่เห็นแบบฟรุ้งฟริ้ง แบบ weird ที่สุดเท่าที่จะคิดได้เลย ผมพยายามผลักดันไอเดียให้มันทะลุออกไปได้มากที่สุดภายใต้กรอบของงานแอนิเมชัน ภายใต้กรอบของคำว่าละเมียดที่เขาวางเอาไว้ เพราะรู้สึกว่าเวลาดูแอนิเมชันดีๆ โอ้โห มันไม่ได้ยึดความจริงอะไรเลยนะ มันบ้าแบบสุดๆ ภาพ ฉาก ตัวละคร ม้วน บิด เบี้ยว ทะลุตรงนั้นไปออกตรงนี้ ยิ่งอะไรที่เกินจริงและเวอร์ได้ไกลเท่าไร แอนิเมชันนั้นจะมีพลังมาก

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมคิดว่าจะทำให้โปรเจกต์นี้เวิร์กคือ ต้องทะลุลอดช่องของตรรกะออกไปให้ได้ ใส่ไปเลยว่าต้องมีพายุ น้ำพุ ช้าง ต้องมีขบวนแห่ยิ่งใหญ่ เมล็ดข้าวแตกออกมาเป็นนักมวย มีความอ่อนช้อยของแม่ไม้มวยไทย ทุกอย่างลอยมาจากตรงนี้ ม้วนไปถึงตรงนั้น จินตนาการออกไปให้ไกลที่สุด แต่เมื่อไปตอบคำถามลูกค้าที่เขาต้องคิดถึงกลยุทธ์ ความเป็นไปได้ของโปรดักต์เมื่อปล่อยออกไปสู่คนดู หน้าที่ของผมอีกอย่างนอกจากการคิดให้มันทะลุกรอบก็คือ การใช้ฝีปาก ตอหลดตอแหล หาเหตุผลสวยๆ มาประกอบแพสชันที่ไร้เหตุผลของเรา ให้ลูกค้าเชื่อได้มากที่สุด (หัวเราะ) โยงเข้าหลัก 4 ปรัชญาที่ว่าด้วย Craftsmanship เราก็สร้างงานให้มันคราฟต์ ให้มันละเอียดที่สุด เอาส่วนประกอบทุกอย่างมาทำให้สวย เมล็ดข้าว มอลต์ ยีสต์ ให้เห็นว่าทุกขั้นตอนการผลิตของช้างมันคืองานคราฟต์จริงๆ

 

Respect เราก็วางให้มีการนำเสนอผ่านรูปแบบแม่ไม้มวยไทย ที่ดูภายนอกแข็งกร้าว แต่จริงๆ แล้วเต็มไปด้วยความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตนผ่านท่าทางการไหว้ครูที่สวยงาม Harmony ก็คือทุกอย่างที่เห็นในหนังไม่ว่าขบวนแห่ วัตถุดิบทุกอย่างจะเคลื่อนไหวอย่างอลังการขนาดไหน แต่ทั้งหมดจะถูกร้อยเรียงกันอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว ส่วน Refreshment ก็ต่อยอดมาจากภาพบ่อน้ำในโลโก้ของผลิตภัณฑ์ ที่เรามองเป็นตัวแทนของความสดชื่น กลายเป็นน้ำพุที่พุ่งออกมาให้ความชื่นฉ่ำ สะท้อนกลับมาที่ตัวผลิตภัณฑ์ของช้างที่ให้ความสดชื่น ทุกอย่างมันเกิดจากการคิด logic มาประกอบแพสชันที่มีแต่ความรู้สึกของเรา ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าที่จะทำให้ทั้งความสวยงาม อารมณ์ และความเป็นเหตุผลทั้งหมดรวมเข้าด้วยกันได้

 

บรรยากาศในการทำงานทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนออกมาเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์เป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นต้องขอบคุณน้องพิงค์ (ฉัตรชนก วงศ์วัชรา) อิลลัสเตรเตอร์กับทีมแอนิเมชันจาก Yggdrazil ที่ทำงานร่วมกับผมมาตลอด ถ้าไปดูในไลน์ที่ผมบรีฟงานก็จะเห็นว่ามันมีรายละเอียดที่ต้องปรับแก้เยอะแยะเต็มไปหมดเลย ระหว่างทำงานผมต้องคอยทะนุถนอมทีมงานของผมมาก กลัวว่าเขาจะทนไม่ไหวกันก่อน (หัวเราะ) เพราะรายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่การลอยของก้อนเมฆ การฟุ้งตลบของฝุ่นควัน การม้วนตัวของนักมวย การแตกตัวของเมล็ดข้าว การเคลื่อนไหวของช้าง ฯลฯ อย่างที่บอกว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากความรู้สึก เพราะฉะนั้นมันยากตั้งแต่การหาเรฟเฟอเรนซ์ที่มันแทบจะหาแบบที่ตรงกับภาพในหัวของผมได้ยากอยู่แล้ว เราเลยต้องใช้เวลาปรับแก้การอยู่นานมาก ต้องยอมรับในทัศนคติและความอึดของทีมงานครั้งนี้จริงๆ ที่ช่วยกันทำจนออกมาแบบนี้ได้

 

 

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำโฆษณา Chang Lamiat ครั้งนี้

จริงๆ มันยากทุกขั้นตอน แล้วมันก็จะมีช่วงแรกที่เขาให้เวลาพวกเราทำงานประมาณ 2 เดือน พอส่งงานไปปุ๊บ ปรากฏว่าโดนคำสั่งฟ้าผ่าจากลูกค้าทางสิงคโปร์บอกว่าเขายังไม่พอใจ เขาอยากได้งานที่ดีและละเมียดกว่านี้ ความรู้สึกแรกคือเราเจ็บปวดรวดร้าวนะ แต่อีกมุมหนึ่งคือผมมองเห็นว่าโอกาสของเราเปิดแล้ว เพราะนี่คือโอกาสที่จะอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่า ถ้าอยากได้สเกลงานระดับโลกในระดับความละเมียดที่ฝั่งยุโรปเขาทำกัน มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในเวลา 2 เดือน  

 

พอได้คุยและทำความเข้าใจกันใหม่ เราขอโควทราคาและเลื่อนเวลาใหม่ จนลูกค้าเข้าใจและให้เวลาเพิ่มมา 4 เดือน ซึ่งถามว่าได้ทั้งหมด 100% หรือเปล่า ก็ยังนะ แต่เราก็เข้าใจเงื่อนไขทางด้านเวลาของลูกค้าด้วย ซึ่งตรงนั้นคือหน้าที่ของฝั่งโปรดักชัน เฮาส์อย่างเราแล้วที่จะต้องทำงานออกมาให้สมบูรณ์ที่สุดในเงื่อนไขที่เขากำหนดมา เพราะฉะนั้นนอกจากทีมงานของเราแล้ว ก็ต้องขอบคุณทางฝั่งลูกค้าด้วยที่เขายอมเข้าใจและมีความคิดอยากพัฒนาโปรเจกต์นี้ให้ไปได้ไกลไปพร้อมๆ กับเรา

 

 

ซึ่งเวลา 6 เดือน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานมากในการภาพยนตร์โฆษณา ที่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความรวดเร็ว

มันแทบเป็นไปไม่ได้แล้วในยุคนี้ แต่ข้อดีของงานชิ้นนี้คือ พอมีหนังโฆษณาแบบนี้ออกมา มันเลยแปลกใหม่ และอาจจะดลใจคนทำงานหลายๆ คน ดลใจเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นอิลลัสเตรเตอร์ อยากเป็นคนทำแอนิเมชัน หรือทำซีจี ที่เห็นว่า เฮ้ย มันทำแบบนี้ก็ได้นี่ ไปผลักดันความฝันของเขา เพราะงานนี้ถ้าประสบความสำเร็จหมายความว่าทีมงานของเราทั้งคนวาด คนทำแอนิเมชันเขาเก่งจริงๆ ลูกค้าก็ให้โอกาสเราผลิตงานแบบนี้ออกมา มันเกิดการวิน-วินระหว่างทุกฝ่าย และสุดท้ายคนที่วินที่สุดก็คือคนดู และวงการโฆษณาที่มีโอกาสในการพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นต่อไป

 

เวลาต่างประเทศดู เขาก็อะเมซิงมากว่า เฮ้ย นี่มันไทยแลนด์เหรอวะ มันทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ เพราะเขาไม่เคยมีภาพแบบนี้อยู่ในหัวของเขา เพราะหนังของเราต้องเป็นแบบเรียลลิสติก เล่าเรื่องดี ตลก emotional แต่ยังไม่เคยมีหนังที่เน้นด้านโปรดักชันมากๆ คราฟต์จัดๆ ผมหวังว่างานนี้มันจะช่วยสร้างความเป็นไปได้อื่นๆ ให้คนมองประเทศไทยแตกต่างออกไป เรามีขุมพลังตรงนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามันอาจจะถูกปิดไว้ตลอดหรือเปล่าเท่านั้นเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising