×

เบื้องหลังแฟชั่นโชว์ CHANEL Métiers d’Art ที่โตเกียว กับ Jennie BLACKPINK, Sailor Moon, Bruno Pavlovsky และ Park Seo Joon

07.06.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เมืองหรือประเทศที่ CHANEL เลือกเพื่อจัดแฟชั่นโชว์ ต้องมาพร้อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น มีประวัติมายาวนาน หรือเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาและขยายฐานธุรกิจในอนาคต ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นประเทศแรกๆ ในโซนเอเชียที่มีการขายสินค้าของแบรนด์มาตั้งแต่ปลายยุค 70 และในปี 1980 ก็จัดตั้งบริษัท CHANEL K.K. เพื่อดูแลกิจการอย่างจริงจัง โดยทุกวันนี้แค่ตึกที่ย่าน Ginza ของ CHANEL ก็สูง 10 ชั้น มีทั้งตัวร้านแฟลกชิปสโตร์ สถานที่จัดงานชื่อ CHANEL NEXUS HALL และยังมีร้านอาหาร BEIGE Alain Ducasse Tokyo ที่ตกแต่งด้วยดีเทลของแบรนด์ เช่น เก้าอี้ผ้าทวีด
  • สำหรับโชว์ Métiers d’Art 2022/23 ที่โตเกียว แบรนด์แอมบาสเดอร์ที่เป็นดาวเด่นของงานก็คงหนีไม่พ้น Jennie BLACKPINK ซึ่งช่วงอาฟเตอร์ปาร์ตี้เธอก็แสดงเมดเลย์ทั้งหมด 3 เพลง คือ Fly Me To The Moon, Killing Me Softly และ You & Me ซึ่งก็ต้องบอกว่า เอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ เพราะบนเวทีอื่นเราจะเห็นเธอในเวอร์ชันของหนึ่งในสมาชิกวง BLACKPINK แต่ค่ำคืนนั้นเราได้เห็นเธอในมุมที่เรียบง่าย เป็นกันเอง และโชว์พลังเสียงร้องอย่างเต็มที่
  • ช่วงสัมภาษณ์พูดคุยกับ Bruno Pavlovsky ประธานฝั่งแฟชั่นของ CHANEL สิ่งแรกคือเขาพูดอย่างมั่นใจว่า “ทุกวันนี้ทุกแบรนด์ก็ทำ Destination Show เหมือนกันหมด และโฟกัสด้านเรื่องราวงานฝีมือ (Craftsmanship) แต่ไม่มีใครทำได้เทียบเท่า CHANEL” ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่การตีความของแต่ละคน

 

 

การที่ใครสักคนเลือกที่จะทำงานที่หนึ่งมายาวนานถึง 36 ปี สำหรับผมแล้วสะท้อนให้เห็นว่า บุคคลนั้นต้องมีความเชื่อมั่น ศรัทธา และรักสถานที่นั้นเป็นอย่างมาก ซึ่งหากดูในบริบทของวงการแฟชั่นที่มีการเล่นเกมเก้าอี้เป็นว่าเล่นตลอดเวลา สิ่งนี้ก็แทบไม่มีให้เห็นในยุคสมัยนี้แล้ว ยกเว้นแต่ที่ CHANEL ที่ผู้หญิงชื่อ Virginie Viard ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนปัจจุบัน ยังคงเดินทางมายังออฟฟิศที่ถนน 31 Rue Cambon ใจกลางกรุงปารีส อยู่ทุกวันตั้งแต่ปี 1987 ตอนที่เธอเป็นเพียงนักศึกษาฝึกงานแผนกโอต์กูตูร์

 

โดยตั้งแต่ Virginie Viard รับไม้ต่อจาก Karl Lagerfeld เมื่อปี 2019 ก็ต้องยอมรับว่าผลงานของเธอมักถูกเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมยอมรับว่าตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะสิ่งที่อดีตหัวหน้าของเธอเคยสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นสิ่งที่สร้างฝันและจินตนาการ ที่ทำให้ผมและอีกหลายคนอยากมาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ แต่ล่าสุดพอผมมีโอกาสไปร่วมอีเวนต์ชมแฟชั่นโชว์คอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/23 ที่กรุงโตเกียว ก็ต้องบอกว่านี่แหละคือยุคสมัยของ CHANEL ภายใต้ยุค Virginie Viard ที่สมบูรณ์แบบ มีชั้นเชิง และก้าวหน้าสุดๆ 

 

ซึ่งการเปรียบเทียบควรจะหยุดได้แล้ว และเราต้องเริ่มมองลึกลงไปว่าแบรนด์กำลังพัฒนาวงการแฟชั่นไปในทิศทางไหนบ้าง ซึ่งผมจะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง และหวังว่าจะไม่ได้สะท้อนแค่เปลือกนอกว่าใส่อะไรในคอลเล็กชันนี้แล้วดูสวย ดูชิค ดูปัง

 

แฟชั่นโชว์ Métiers d’Art 2022/23 ณ Tokyo Big Sight

 

CHANEL AND THE PAST 40 DAYS

 

ในช่วง 40 วันที่ผ่านมา แบรนด์ CHANEL ถือว่ามีอีเวนต์ระดับโลกแบบติดต่อกันเกือบทุกสัปดาห์ ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลในหลากหลายมิติของวงการแฟชั่นและวัฒนธรรมโดยรวม 

 

เริ่มต้นเดือนพฤษภาคม ทางแบรนด์ก็เป็นผู้สนับสนุนหลักสำหรับงาน Met Gala 2023 ที่ฉลองนิทรรศการ Karl Lagerfeld: A Line of Beauty ต่อมาไม่กี่วัน CHANEL ก็จัดแฟชั่นโชว์ Cruise 2023/24 ที่ Paramount Studios ในลอสแอนเจลิส ซึ่ง CHANEL เป็นแบรนด์ลักชัวรีเจ้าแรกที่มีการจัดโชว์คอลเล็กชัน Cruise ทั่วทุกมุมโลกตั้งแต่ปี 2000 

 

ส่วนสัปดาห์ต่อมา ทางแบรนด์ได้แต่งตัวให้เหล่าบรรดาแบรนด์แอมบาสเดอร์และคนดังเยอะแยะมากมายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ไม่ว่าจะเป็น Lily-Rose Depp, Brie Larson และ Jennie BLACKPINK ก่อนที่จะมาจัดแฟชั่นโชว์คอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/23 ณ อาคาร Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว 

 

แฟชั่นโชว์ Métiers d’Art 2022/23 ณ Tokyo Big Sight

 

A RECAP OF MÉTIERS D’ART 2022/23 COLLECTION 

 

แฟชั่นโชว์ในครั้งนี้เป็นรูปแบบที่นำมาตีความใหม่และจัดแสดงอีกครั้งหนึ่ง หรือเรียกว่า Replica หลังเคยนำเสนอครั้งแรกที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล ซึ่งในตอนนั้น CHANEL ได้สร้างประวัติศาสตร์กับการเป็นแบรนด์ลักชัวรีเจ้าแรกที่เลือกไปจัดแฟชั่นโชว์ ณ ภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารา 

 

โดยคอลเล็กชัน Métiers d’Art จะจัดโชว์ทุกต้นเดือนธันวาคม ตั้งแต่ปี 2002 ผ่านความคิดของ Karl Lagerfeld และ Virginie Viard ที่อยากยกย่องผลงานของเหล่าบรรดาช่างฝีมือขั้นเทพกว่า 6,000 ชีวิตที่อยู่ภายใต้เวิร์กช็อปต่างๆ ที่ CHANEL เป็นเจ้าของกิจการ เช่น Atelier Montex, Ecole Lesage, Goossens Paris, Lemarié, Lesage, Lesage Intérieurs, Lognon, Maison Michel, Massaro, Paloma และ Studio MTX เป็นต้น 

 

ซึ่งทุกวันนี้ 11 เวิร์กช็อปก็อยู่ร่วมกันภายใต้ตึก Le19M ซึ่งมีขนาด 25,500 ตารางเมตร ในย่าน Aubervilliers ชานเมืองของกรุงปารีส เพื่อจะได้สร้าง Creative Synergies และ CHANEL ก็ให้แต่ละเวิร์กช็อปบริหารจัดการด้วยตัวเองได้เต็มที่ สามารถรับทำงานให้แบรนด์อื่นได้แม้จะเป็นคู่แข่งก็ตาม

 

สำหรับคอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/23 Virginie Viard ได้แรงบันดาลใจนำรูปทรงเสื้อผ้ายุค 70 ที่เต็มไปด้วยอิสรภาพมาตีความให้ร่วมสมัย และนำมามิกซ์กับโทนสี สัญลักษณ์ และลวดลายวัฒนธรรมแอฟริกาที่มีให้เห็นบนไอเท็ม เช่น เสื้อกั๊กปักลูกปัด สร้อยคอรูปทวีปแอฟริกา หรือสเวตเตอร์พรินต์ลายเสือดาว ซึ่งคอลเล็กชันนี้ก็เตรียมเข้าร้าน CHANEL ทั่วโลกเดือนนี้แล้ว

 

ร้าน CHANEL ที่ย่าน Ginza กรุงโตเกียว

 

WHY JAPAN?

 

CHANEL เป็นแบรนด์ที่มีเหตุและผลเสมอ ซึ่งการจะเลือกเมืองหรือประเทศเพื่อไปจัดแฟชั่นโชว์ต้องมาพร้อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น มีประวัติมายาวนาน หรือเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาและขยายฐานธุรกิจในอนาคต ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นประเทศแรกๆ ในโซนเอเชียที่มีการขายสินค้าของแบรนด์มาตั้งแต่ปลายยุค 70 และในปี 1980 ก็จัดตั้งบริษัท CHANEL K.K. เพื่อดูแลกิจการอย่างจริงจัง โดยทุกวันนี้แค่ตึกที่ย่าน Ginza ของ CHANEL ก็สูง 10 ชั้น มีทั้งตัวร้านแฟลกชิปสโตร์ สถานที่จัดงานชื่อ CHANEL NEXUS HALL และยังมีร้านอาหาร BEIGE Alain Ducasse Tokyo ที่ตกแต่งด้วยดีเทลของแบรนด์ เช่น เก้าอี้ผ้าทวีด

 

ส่วนด้านการจัดแฟชั่นโชว์แบบ Replica ทาง CHANEL ก็เลือกที่โตเกียวอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะ Haute Couture Spring/Summer 2012, Métiers d’Art 2013/14 และ Métiers d’Art 2016/17 ซึ่งก็ทำให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย แถมกับคอลเล็กชัน Fall/Winter 2023/24 ที่จะเข้าร้านในช่วงเดือนกันยายนนี้ ตอนจัดแฟชั่นโชว์ที่ปารีสก็มีการใช้ Nana Komatsu แบรนด์แอมบาสเดอร์จากประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นมิวส์ประจำซีซัน ปรากฏอยู่ในทีเซอร์ด้วย

 

การแสดงของ Nix, Ichika Nito และกลุ่มแดนเซอร์คนรุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่น 

ก่อนเริ่มแฟชั่นโชว์ Métiers d’Art 2022/23 ที่โตเกียว

 

THE SHOW

 

ส่วนตัวผมยกให้คอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/23 เป็นผลงานที่ผมชื่นชอบที่สุดของ Virginie Viard จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับตัวแฟชั่นโชว์ที่กรุงดาการ์ เพราะผมรู้สึกว่าทีม CHANEL ได้ศึกษา ซึมซับ และนำวัฒนธรรมประเทศเซเนกัลมาใช้ในทางที่มีความจริงใจและไม่ปรุงแต่ง แบบที่ว่าแค่ยกแฟชั่นโชว์มาจัด 20 นาทีและจบ ทุกคนกลับปารีส 

 

โดยพอตัวโชว์นำมาจัดที่โตเกียวอีกรอบ ผมก็ชอบยิ่งขึ้นไปอีก เพราะทางทีม CHANEL ไม่ได้ตีความฉาก สภาพแวดล้อม และ Scenography ให้ต้องสะท้อนความเป็นดาการ์หรือทวีปแอฟริกาแบบตรงตัว แต่เลือกดึงเส้นเรื่องและสปิริตของโชว์มาปรับให้เข้ากับบริบทความเป็นประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่น ตอนเปิดโชว์ก็มีการแสดงของ Nix แรปเปอร์จากประเทศเซเนกัล กับมือกีตาร์จากแดนอุทิตย์อุทัยอย่าง Ichika Nito กับเพลง The World is still Beautiful 

 

ก่อนที่จะเล่นเพลง Merry Christmas, Mr.Lawrence เพื่อยกย่องการจากไปของ Ryuichi Sakamoto นักประพันธ์เพลงนี้ และมีการแสดง Contemporary Dance จากกลุ่มแดนเซอร์คนรุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่นที่ออกแบบโดย Dimitri Chamblas ซึ่งก็งดงามเหลือเกินจนผมเสียน้ำตา เพราะผมรู้สึกว่ามันช่างเป็นโมเมนต์สำคัญของเด็กเหล่านี้ ที่ได้เลือกเส้นทางชีวิตด้านศิลปะและการเป็นแดนเซอร์ที่มีความไม่แน่ไม่นอนหากเทียบกับทำงานแบงก์หรือราชการ แต่ ณ เวลานั้นพวกเขาได้แสดงอยู่ที่แฟชั่นโชว์ของ CHANEL ต่อหน้าผู้คน อย่างเช่น Kristen Stewart และ Jennie BLACKPINK

 

โปรเจกต์ซีรีส์ภาพพิเศษ Girl Power 

ที่ได้ Naoko Takeuchi นักประพันธ์และนักวาดภาพของ Sailor Moon 

มาวาดภาพตัวละครสุดคลาสสิกของเธอใน 10 ชุด

จากคอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/23

 

SAILOR MOON MEETS CHANEL

 

หนึ่งในความโดดเด่นของ CHANEL ทุกซีซัน ไม่ว่าจะเป็นโชว์ที่ Paris Fashion Week หรือ Destination Show ต่างประเทศ กับคอลเล็กชัน Cruise หรือ Métiers d’Art คือ ทางแบรนด์ใส่ใจด้านรายละเอียด Storytelling มากๆ โดยตอนแบรนด์ส่งการ์ดเชิญมาให้ผม แม้จะอยู่กรุงเทพฯ และดูผ่านไลฟ์สตรีม ก็จะมาเป็น Boxset ที่มีกิมมิกมากมาย และถือว่าเป็นสินค้า Collectibles ต้องสะสม 

 

โดยกับโชว์ Métiers d’Art 2022/23 ที่โตเกียว มีการทำ CHANEL Magazine 2023 เล่มพิเศษขึ้นมา ซึ่งผมต้องบอกว่า นิตยสารเล่มนี้เพอร์เฟกต์มาก และทำให้ผมนึกถึงยุคทองของสื่อสิ่งพิมพ์ที่นิตยสารแฟชั่นทุกเล่มจะมีอิสระเต็มที่ด้านความคิดสร้างสรรค์

 

โดยใน CHANEL Magazine 2023 เล่มนี้เต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงาน ไม่ว่าจะบทสัมภาษณ์ของ Jennie BLACKPINK หรือแฟชั่นเซ็ตที่ได้ Chikashi Suzuki ช่างภาพชาวญี่ปุ่น มาถ่ายให้ พร้อมการทำสไตลิ่งโดย Ibrahim Kamara บรรณาธิการนิยสาร Dazed 

 

แต่คอนเทนต์ที่ถือว่าว้าวที่สุดสำหรับผมและสร้างความตื่นเต้นอยู่ไม่น้อยเมื่อผมได้อัปเดตข่าวไปทาง THE STANDARD POP ก็คือโปรเจกต์ซีรีส์ภาพพิเศษในชื่อ ‘Girl Power’ ที่ได้ Naoko Takeuchi นักประพันธ์และนักวาดภาพของ Sailor Moon มาวาดภาพของตัวละครสุดคลาสสิกของเธอใน 10 ชุดจากคอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/23 

 

ซึ่งต่อมาภาพเหล่านี้ก็ได้ไปปรากฏอยู่บนจอ LED ช่วงอาฟเตอร์ปาร์ตี้ด้วย ซึ่งสะท้อนความเป็น Paris-Dakar-Tokyo ได้อย่างลงตัว และเพิ่มความเป็นป๊อปคัลเจอร์สนุกๆ ให้กับแบรนด์ CHANEL ได้เป็นอย่างดี

 

พัคซอจุน, วี-วิโอเลต วอเทียร์ และ หวังอี้ป๋อ ที่แฟชั่นโชว์

 

THE GUEST LIST

 

การสร้างกระแสให้อีเวนต์ของคุณกลายเป็น Trending Topic บนโลกโซเชียล เป็นอีกหนึ่งมิติสำคัญที่ทุกแบรนด์ลักชัวรีต้องใส่ใจและวางเกมให้ถูก โดยความสำคัญของโชว์ CHANEL รูปแบบ Replica อาจถูกมองว่าไม่โดดเด่นอะไรมาก เป็นแค่เบอร์รอง เพราะเราเห็นเสื้อผ้ามาหมดแล้ว แต่ผมกลับมองว่าโชว์นี้อาจสำคัญกว่าโชว์ต้นฉบับด้วยซ้ำหากมองในกรอบธุรกิจ เพราะโชว์นี้จะช่วยสร้าง Buzz เพื่อให้คนนึกถึงคอลเล็กชันนั้นอีกรอบ และอยากพุ่งไปจับจองที่ร้านทันที เพราะวางขายพร้อมๆ กัน 

 

ซึ่งดารา เซเลบริตี้ และแบรนด์แอมบาสเดอร์ ที่ CHANEL เลือกให้มาร่วมแต่ละโชว์ ก็ต้องมีความพอดี ดูไม่พยายามจนเกินไป และสามารถลิงก์อะไรบางอย่างกับตัวคอลเล็กชันหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงานได้

 

โชว์ในครั้งนี้แน่นอนว่ามีแบรนด์แอมบาสเดอร์คนสำคัญอย่าง Caroline de Maigret ที่มารับหน้าที่ช่วยผลิตวิดีโอต่างๆ ที่ทางแบรนด์ปล่อยออกมา โดยมี Kristen Stewart ที่มาเป็น Guest Speaker พิเศษที่งาน Chanel Student Day ในวันถัดมาหลังโชว์ต่อหน้าเด็กแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยรอบๆ ญี่ปุ่นกว่า 200 คน รวมทั้งยังมี หวังอี้ป๋อ และ พัคซอจุน อีกด้วย 

 

ซึ่งความน่าสนใจของการมีแบรนด์แอมบาสเดอร์ผู้ชายมาโชว์ทุกครั้งของ CHANEL ผมมองว่าคือการทำ Psychology Marketing ในรูปแบบหนึ่งที่ฉลาดมาก เพราะแฟนคลับผู้หญิงหลายคนก็น่าจะอยากสร้าง Loyalty ไปใช้ของ CHANEL ตาม แถมผู้ชายเองก็จะเห็นว่าแม้ทางแบรนด์จะยืนยันว่าไม่ทำเสื้อผ้าผู้ชายอย่างแน่นอน แต่ก็ยังมีไอเท็มหลายชิ้นที่ใส่ได้ เช่น แจ็กเก็ตทวีดไซส์ใหญ่ หรือแว่นตากันแดด

 

นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีแขกคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น นักแสดงชาวญี่ปุ่นระดับฮอลลีวูด Rinko Kikuchi, Shin Hyun Ji นางแบบชื่อดังจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทของ Jennie BLACKPINK และยังมี วี-วิโอเลต วอเทียร์ ตัวแทนจากประเทศไทย ไปร่วมงานด้วย ซึ่งโตเกียวก็มีความสำคัญต่อเธอไม่น้อย เพราะเธอเกิดที่นั่น

 

Jennie BLACKPINK แสดงเพลงเมดเลย์ช่วงอาฟเตอร์ปาร์ตี้

 

SPOTLIGHT: JENNIE BLACKPINK

 

สำหรับโชว์ Métiers d’Art 2022/23 ที่โตเกียว แบรนด์แอมบาสเดอร์ที่เป็นดาวเด่นของงานก็คงหนีไม่พ้น Jennie BLACKPINK ซึ่งถึงแม้ทางทีมพีอาร์ของ CHANEL ประเทศไทย จะเก็บเงียบ ไม่ยอมบอกว่าเธอจะมาร่วมงานจนถึงวันจริง แต่ผมก็เริ่มเดาได้ว่าเธอต้องมาปรากฏตัวอย่างแน่นอน หลังเห็นว่าในตารางเวิลด์ทัวร์ ‘Born Pink World Tour มีช่วงว่างระหว่างที่ BLACKPINK แสดงจบที่กรุงเทพฯ และก่อนโชว์ที่โอซาก้าพอดี บวกกับเธอได้ขึ้นปกล่าสุดของ Vogue ญี่ปุ่น ในคอนเซปต์ ‘JENNIEVERSE’ กับเสื้อผ้าคอลเล็กชันนี้ และมีการพูดในคลิปวิดีโอโปรโมตว่า “สถานีต่อไป…โตเกียว”

 

โดยที่แฟชั่นโชว์ Jennie ปรากฏตัวเป็นคนสุดท้ายเมื่อทุกคนได้นั่งที่แล้ว และเมื่อโชว์จบปุ๊บ Jennie ก็รีบทำสัมภาษณ์สั้นๆ ให้กับทีม CHANEL เพื่อนำไปใช้ใน Official Video ของแบรนด์ และพูดคุยกับสื่อที่ทางทีมของเธอได้แอพพรูฟล่วงหน้า อาทิ Vogue อเมริกา ก่อนที่จะหายตัวไปและกลับมาอีกครั้งเพื่อแสดงเมดเลย์จำนวน 3 เพลง คือ Fly Me To The Moon, Killing Me Softly และ You & Me ในช่วงอาฟเตอร์ปาร์ตี้ 

 

ซึ่งผมก็ต้องบอกว่า รู้สึกเอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ เพราะบนเวทีอื่นๆ เราจะเห็นเธอในเวอร์ชันของหนึ่งในสมาชิก BLACKPINK แต่ค่ำคืนนั้นเราได้เห็นเธอในมุมที่เรียบง่าย เป็นกันเอง และโชว์พลังเสียงได้เต็มที่ ซึ่งทำให้ผมหวังว่าต่อไปผลงานของเธอจะมาในด้านนี้มากยิ่งขึ้น

 

โดยการที่ผมได้เจอ Jennie ในงานโชว์ Métiers d’Art 2022/23 และได้เห็นบทบาทของเธอในค่ำคืนนั้น สะท้อนให้เห็นว่า อิทธิพลของเธอ วง BLACKPINK และอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีมาแรงจริงๆ ซึ่งเมื่อ 6 ปีก่อนตอนที่เธอร่วมงานกับ CHANEL ใหม่ๆ เธอยังดูเหมือนเป็นแค่ตัวประกอบที่เรียกกระแสได้เพียงในเอเชีย แต่เพียงแค่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เธอปรากฏตัวบนแคมเปญกระเป๋า CHANEL 22 ทั่วโลก พร้อมกับไปร่วมงาน Met Gala และ Cannes Film Festival กับ CHANEL ทั้งสิ้น 

 

โดยสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ ทางแบรนด์จะร่วมงานกับ Jennie ในรูปแบบไหนที่แตกต่างและมีชั้นเชิง แถมกับแบรนด์แอมบาสเดอร์คนต่อไปจากเกาหลีใต้อย่างศิลปินรุ่นน้องอย่าง Minji วง NewJeans ก็ต้องดูว่า CHANEL จะเวิร์กกับเธออย่างไรเพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังทำให้ Brand Positioning แข็งแกร่งและเป็นที่พูดถึง

 

Bruno Pavlovsky ขึ้นเวทีสนทนา CHANEL Student Day

 

TALKS WITH BRUNO PAVLOVSKY 

 

ประธานและซีอีโอแบรนด์แฟชั่นที่ผมมีโอกาสสัมภาษณ์และพูดคุยบ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้น Bruno Pavlovsky ประธานฝั่งแฟชั่นของ CHANEL ซึ่งที่โตเกียวก็เป็นรอบที่ 3 ที่ผมได้คุยกับเขาต่อจากที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2018 ในช่วงโชว์ Cruise Replica และที่เซี่ยงไฮ้ในปีถัดมากับช่วงนิทรรศการ Mademoiselle Privé 

 

การพูดคุยกับ Bruno Pavlovsky ในครั้งนี้มี 2 ประเด็นที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจที่สุด โดยสิ่งแรกคือ เขาพูดอย่างมั่นใจว่า “ทุกวันนี้ทุกแบรนด์ก็ทำ Destination Show เหมือนกันหมด และโฟกัสด้านเรื่องราวงานฝีมือ (Craftsmanship) แต่ไม่มีใครทำได้เทียบเท่า CHANEL” ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่การตีความของแต่ละคน แต่ในมุมของผม หากเทียบดูจากความเป็นจริง CHANEL ได้เริ่มการทำแฟชั่นโชว์นอกสถานที่ทั่วโลกแบบ Destination Show ก่อนใครเพื่อนเป็นหลายปี แม้ทุกวันนี้แบรนด์คู่แข่งจะทำในสเกลที่เวอร์วังตระการตาและเป็นที่พูดถึงมากกว่าหากดูในเชิงตัวเลขโซเชียลมีเดีย 

 

ส่วนด้านงานฝีมือ Craftsmanship หากดูในบริบทของสินค้าไลน์เสื้อผ้า ผมก็ต้องยกให้ CHANEL เป็นที่หนึ่ง เพราะไม่มีแบรนด์หรือเครือลักชัวรีเจ้าไหนที่ได้ช่วยเหลือและประคองศิลปะด้านงานฝีมือเหมือน CHANEL ที่นับวันจะสูญหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

โดยตั้งแต่ปี 1985 ทาง CHANEL ก็ได้เข้าซื้อกิจการของผู้ผลิตสินค้า (Manufactures) และแบรนด์งานฝีมือมากถึง 42 เจ้าแล้ว ซึ่งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน CHANEL ก็เพิ่งจับมือกับแบรนด์ลักชัวรีอย่าง Brunello Cucinelli เพื่อลงทุนถือหุ้น 24.5% ในบริษัท Cariaggi Lanificio จากอิตาลี ซึ่งผลิตเส้นด้ายให้กลุ่มสินค้า Knitwear ของ CHANEL

 

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่ผมได้ถาม Bruno Pavlovsky ก็คือ CHANEL โฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้า Gen Z อย่างไรบ้าง โดยเขาก็ตอบกลับทันทีอย่างไม่เกร็งกลัวว่า “CHANEL ไม่เคยทำสินค้าเพื่อตอบโจทย์ Gen Z ซึ่งถ้าเรามีกลุ่มลูกค้า Gen Z เยอะ ก็แปลว่าพวกเขาชอบในสิ่งที่เราสร้างสรรค์” ซึ่งคำตอบนี้ก็ตรงดีสำหรับผม และผมก็เชื่อว่า Virginie Viard และทีมของเธอ คงไม่ได้มานั่งคิดว่ากระเป๋ารุ่นนี้หรือแจ็กเก็ตทรงนี้ต้องทำให้ลูกค้าที่เกิดปี 1997-2012 เท่านั้น 

 

แต่ผมก็ยังเชื่อว่า Gen Z มีอิทธิพลต่อแบรนด์อย่าง CHANEL ไม่น้อย เพราะหนึ่งในเทรนด์ที่ผมเห็นเกิดขึ้นเยอะมากในช่วงหลังกับคนรุ่นใหม่ผ่าน TikTok หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ ก็คือการที่คนมีความ Nostalgia เลือกแชร์วิดีโอแฟชั่นโชว์จากยุค 90 หรือเก็บเงินซื้อสินค้าวินเทจหายาก โดยเมื่อมากับแฟชั่นโชว์ล่าสุดอย่าง Cruise 2023/24 ก็มีหลายไอเท็มที่เป็นการปัดฝุ่นเอามานำเสนอใหม่ อย่างเช่น แอ็กเซสซอรีกระเป๋าทรงหัวใจ ทรงดาว หรือแว่นตาทรง Visor แบบยุค 80

 

Kristen Stewart ขึ้นเวทีสนทนา CHANEL Student Day

 

WHAT’S NEXT

 

สำหรับผมเองที่ถือว่าเป็นเนิร์ดด้านธุรกิจแฟชั่นและชอบสังเกตการณ์ทุกอย่าง ว่าแต่ละแบรนด์ลักชัวรีระดับมหาอำนาจกำลังทำอะไรอยู่ กับ CHANEL ผมคิดว่าทางแบรนด์ก็ยังคงเดินหน้าโฟกัสไปที่ด้านพัฒนาสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า แอ็กเซสซอรี และบิวตี้ ที่มีอยู่แล้วอย่างเดียว มากกว่าที่จะไปเจาะกลุ่มตลาดใหม่ ซึ่งเราคงไม่ได้เห็น CHANEL Hotel, CHANEL Café, CHANEL Restaurant, CHANEL Home Furniture หรือ CHANEL Baby อย่างแน่นอน 

 

แต่สิ่งที่เราน่าจะเห็นมากขึ้นคือ การซื้อกิจการด้านงานฝีมือมากยิ่งขึ้น มีการไปเป็นสปอนเซอร์โปรเจกต์วัฒนธรรมไม่ว่าจะโลกภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ และที่ผมคาดเดาเองก็คือในปี 2024 ทาง CHANEL น่าจะมีบทบาทในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีสไม่มากก็น้อย ซึ่งที่แน่ๆ ก็คือแบรนด์ได้มอบเงินจำนวน 25 ล้านยูโร เพื่อบูรณะและปรับปรุงอาคาร Grand Palais ที่เมื่อก่อนใช้จัดแฟชั่นโชว์เป็นประจำ โดยช่วงโอลิมปิก Grand Palais ก็จะเป็นที่แข่งฟันดาบและเทควันโด โดยผมจะไม่แปลกใจเลยหากแฟชั่นโชว์ Cruise 2024/25 ทางแบรนด์จะเลือกจัดที่นั่น เพื่อเป็นเหมือนการ Kick-Off ฤดูมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

 

ส่วนกับคอลเล็กชัน Métiers d’Art 2023/24 ที่จะจัดแฟชั่นโชว์ในเดือนธันวาคมนี้ ถึงแม้ Bruno Pavlovsky จะยังไม่บอกผมว่าจะจัดที่ไหน และพูดว่ามีอีกหลายเมืองทั่วโลกที่ CHANEL อยากไปจัดโชว์ แต่ผมเชื่อว่าทางแบรนด์น่าจะยังอยากสร้างเซอร์ไพรส์เลือกเมืองที่ไม่เคยทำโปรเจกต์อะไรมาก่อน และมีเรื่องราวงานฝีมือระดับท้องถิ่นที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ขาดแค่การส่องจากสปอตไลต์ เพราะผมคิดว่าความสำเร็จของคอลเล็กชัน Métiers d’Art ที่จัด ณ เมืองดาการ์ เป็นการบ่งบอกให้เห็นว่า CHANEL อยากใช้พลังในมือเปิดโอกาสให้กับเมืองและประเทศที่ไม่จำเป็นต้องสวยหรู ต้องมีรีสอร์ต 5 ดาวเป็นสิบแห่ง หรือร้านอาหารระดับมิชลิน แต่หากมีงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์ น่าสืบทอดต่อไป และจะสามารถสร้างมิติใหม่ให้กับแบรนด์อายุ 113 ปีได้ เมืองนั้นก็มีโอกาสแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ทวีปไหนของโลก

 

 

 

ภาพ: CHANEL

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X