×

CHANEL กับคอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport ที่เชื่อมโยงแนวคิดของ Gabrielle Chanel ตั้งแต่นับหนึ่งสู่ปัจจุบัน

30.07.2024
  • LOADING...
Chanel Haute Joaillerie Sport

HIGHLIGHTS

  • Patrice Leguéreau ที่รับตำแหน่งผู้อำนวยการสตูดิโอสร้างสรรค์ไฟน์จิวเวลรีของ CHANEL คิดนอกกรอบและตัดสินใจนำบริบทเรื่องความหลงใหลในกิจกรรมกีฬาของ Gabrielle Chanel มาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของคอลเล็กชัน High Jewelry ในชื่อ Sport ซึ่งหากย้อนไปเมื่อปี 1921 เธอเคยปฏิวัติวงการแฟชั่นด้วยการเปิดอาเตอลิเยร์ชื่อ ‘Sport’ ภายใต้แบรนด์ CHANEL
  • คอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport มีมากกว่า 80 ไอเท็มที่แบ่งแยกออกเป็น 6 เซ็ตย่อย ทั้ง Sweater, Graphic Line, CHANEL Print, Quilted Icons, Sporty 5 และ Gold Slider โดยในแต่ละเซ็ตมีสร้อยคอ กำไล แหวน ต่างหู เข็มกลัด และนาฬิการะดับ High Jewelry ทั้งหมดที่ทำผ่านงานฝีมือระดับ Ultimate Savoir-Faire ณ อาคาร 18 Place Vendôme ใจกลางปารีส ซึ่งเป็นที่ตั้งบูติก Watches & Fine Jewelry ของ CHANEL
  • ในเชิงของอัญมณีในหมวด Exceptional Gemstones ที่นำมาใช้ในคอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport ถือว่าตระการตาไม่แพ้กัน และเป็นการทำ High Jewelry ที่ CHANEL ยกระดับไปอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็นแคชเมียร์แซฟไฟร์ 5 เซ็ตที่มีการเสาะหามานานหลายปี เป็นต้น  
  • ในคอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport หลายชิ้นมีนวัตกรรมแบบ Adjustable และ Transformable เพื่อให้ผู้หญิงสามารถใส่แยกชิ้นได้ในสไตล์ของตัวเองโดยไม่ต้องมีกรอบมาบังคับ พร้อมมีความพลิ้วไหวที่ขยับตามเรือนร่างของผู้สวมใส่ อาทิ CHANEL Print Lion Brooch เข็มกลัดรูปสิงโตที่ทำมาจากเพชร ทองคำขาว และแล็กเกอร์ดำ ที่สามารถนำมาติดบนแจ็กเก็ตหรือจะนำจี้มาห้อยกับสร้อยก็ได้

สร้อย CHANEL Print

 

ถ้าเอ่ยชื่อแบรนด์ CHANEL ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึงแจ็กเก็ตทวีด, กระเป๋ารุ่น 2.55, แหวน Coco Crush ที่ JENNIE ใส่ในแคมเปญล่าสุด, น้ำหอม CHANEL N°5 หรือแฟชั่นโชว์สุดตระการตา แต่ภายใต้โลก CHANEL Universe ที่ Gabrielle Chanel ได้ปูรากฐานเอาไว้อย่างสง่างามและก้าวหน้าตั้งแต่ปี 1910 กับการเปิดร้านหมวก CHANEL Modes พาร์ตของเครื่องประดับชั้นสูงหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า High Jewelry ถือว่ามีคุณค่ามหาศาลในการเรียนรู้และขยายความเพื่อให้เข้าใจว่า ทำไม CHANEL เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ไม่เพียงแค่ในวงการลักชัวรี แต่กับทุกวงการหากนำมาเทียบกัน

 

โดยล่าสุดผมมีโอกาสเดินทางไปยังไต้หวันเพื่อไปชมคอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport ของ CHANEL หลังเปิดตัวไปครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ โมนาโก ซึ่งนับว่าเป็นทริปแรกของผมกับ CHANEL ในหมวด Watches & Fine Jewelry ซึ่งก่อนหน้านี้ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาผมเคยไปร่วมอีก 11 ทริปรอบโลก แต่จะอยู่ในพาร์ตแฟชั่น บิวตี้ และคัลเจอร์ เป็นหลักเท่านั้น

 

Gabrielle Chanel กับกิจกรรมสปอร์ตและเอาต์ดอร์

 

AUTHENTICITY OF CHANEL HIGH JEWELRY

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ชัดว่าหลายแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นเพิ่งจะได้ก้าวเข้าสู่โลกของ High Jewelry เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่ม Ultra Luxury ที่อยู่บนยอดพีระมิด และเป็นการเพิ่มมูลค่าแบรนดิ้งของตัวเอง ซึ่ง CHANEL ก็เคยถูกเหมารวมและถูกมองแบบนั้น แต่นั่นไม่ใช่ความจริงเลย เพราะกับ CHANEL ทุกหมวดสินค้าที่ทางแบรนด์ทำต่างต้องมีเหตุและผลที่ผู้ก่อตั้ง Gabrielle Chanel เคยริเริ่มเองด้วยมือและอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ของเธอ สำหรับ High Jewelry ทาง Gabrielle Chanel ดีไซน์ครั้งแรกเมื่อปี 1932 ในชื่อ Bijoux de Diamants ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นคอลเล็กชัน High Jewelry แรกของโลก เพราะ Gabrielle Chanel เป็นดีไซเนอร์คนแรกที่นำเสนอผลงานในรูปแบบคอลเล็กชันที่มีธีมครอบแบบชัดเจนเหมือนกับคอลเล็กชันเสื้อผ้าโอต์กูตูร์ของเธอในแต่ละซีซัน 

 

คอลเล็กชัน Bijoux de Diamants 

 

แต่ก็น่าเสียดายว่า Bijoux de Diamants กลายเป็นคอลเล็กชัน High Jewelry ครั้งแรกและครั้งเดียวของ Gabrielle Chanel เพราะในตอนนั้นเธอเสียใจที่โดนเหล่าบรรดาพ่อค้าเพชรพลอยในย่าน Place Vendôme ของกรุงปารีสรวมตัวกันโจมตีทาง London Diamond Corporation ที่ได้เลือกให้แฟชั่นดีไซเนอร์อย่างเธอมารังสรรค์คอลเล็กชัน High Jewelry พร้อมนิยามเหตุการณ์นี้ว่า ‘The CHANEL Affair’ 

 

แต่ 61 ปีต่อมา CHANEL ได้ชุบชีวิต High Jewelry อีกครั้งหลังเปิดแผนก Creation Fine Jewelry Studio ในปี 1993 และตั้งแต่ปี 2003 ก็ได้ Patrice Leguéreau มาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ที่สามารถรังสรรค์ชิ้นงานอันเลอค่าและทำให้ High Jewelry ของ CHANEL เติบโตและเป็นอีกหนึ่งดาวเด่นของแบรนด์ โดยเฉพาะกับฐานลูกค้าในเอเชียที่ไม่แพ้ภูมิภาคอื่นในโลก ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักว่าทำไมแบรนด์เลือกจัดงานคอลเล็กชัน Sport ในครั้งนี้ที่ไต้หวัน

 

ขั้นตอนการทำงาน Savoir-Faire ของสร้อย Graphic Line

 

BUT WHY SPORT?

 

สำหรับใครที่ติดตามคอลเล็กชัน High Jewelry ที่ผ่านมาของ CHANEL จะรู้ดีว่า Patrice Leguéreau มักจะนำสัญลักษณ์และสิ่งที่ Gabrielle Chanel ชื่นชอบมาเล่นเป็นคอนเซปต์หลักอยู่เสมอ เช่น ขนนก รวงข้าวสาลี ผ้าทวีด ฉากกั้นเคลือบโคโรแมนเดล หรือจะเป็นสิงโต

 

แต่มาในปีนี้ Patrice Leguéreau กลับคิดนอกกรอบและตัดสินใจนำบริบทเรื่องความหลงใหลในกิจกรรมกีฬาของ Gabrielle Chanel มาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ซึ่งหากย้อนไปเมื่อปี 1921 เธอเคยปฏิวัติวงการแฟชั่นด้วยการเปิดอาเตอลิเยร์ชื่อ ‘Sport’ ภายใต้แบรนด์ CHANEL เพื่อดีไซน์เสื้อผ้าสำหรับใส่กิจกรรมกีฬาเอาต์ดอร์ ไม่ว่าจะเป็นตีกอล์ฟ เล่นสกี ตกปลา หรือที่โปรดปรานสุดๆ คือการขี่ม้าที่ Gabrielle Chanel เริ่มมีแพสชันตั้งแต่คบหากับ Étienne Balsan และต่อมากับ Boy Capel ที่เป็นนักขี่ม้าโปโลด้วย โดยเสื้อผ้าสไตล์สปอร์ตเหล่านี้ในยุคสมัยนั้นถือว่ามีความกบฏ เพราะผู้หญิงในสังคมมักถูกตีกรอบให้ใส่แต่กระโปรง ชุดเดรส และไม่ได้มีอิสระมากนักในการแต่งตัว

 

สร้อย Sweater

 

DISSECTING THE COLLECTION

 

คอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport มีมากกว่า 80 ไอเท็มที่แบ่งแยกออกเป็น 6 เซ็ตย่อย ทั้ง Sweater, Graphic Line, CHANEL Print, Quilted Icons, Sporty 5 และ Gold Slider โดยในแต่ละเซ็ตมีสร้อยคอ กำไล แหวน ต่างหู เข็มกลัด และนาฬิการะดับ High Jewelry ทั้งหมดที่ทำผ่านงานฝีมือระดับ Ultimate Savoir-Faire ณ อาคาร 18 Place Vendôme ใจกลางปารีส ซึ่งเป็นที่ตั้งบูติก Watches & Fine Jewelry ของ CHANEL

 

ในเชิงดีไซน์เราจะเห็นได้ว่า Patrice Leguéreau นำองค์ประกอบและกลิ่นอายของหลายกีฬามาร่วมกันที่ทำให้ภาพรวมของคอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport ดูสนุก มีชั้นเชิง และในมุมมองผมเองรู้สึกถึงความเป็นป๊อปคัลเจอร์ที่มวลรวมดูร่วมสมัยมาก และทำให้เห็นว่า High Jewelry ของ CHANEL ไม่ได้ทำมาเพื่อแค่คนในสังคมชั้นสูงใส่ไปงานกาล่าดินเนอร์ แต่เอามาใส่ในชีวิตประจำวันได้ด้วย อย่างเช่นแหวนหลายวงก็มีรูปทรงเหมือนแหวนผู้ชนะมวยปล้ำที่เรียกว่า Wrestling Championship Ring หรือในเซ็ต Sweater กับสร้อยและต่างหูหลายชิ้นที่มีดีเทลเป็นเหมือนเชือก Drawstring ของเสื้อฮูดดี้ที่ตรงปลายจะเป็นโลหะหุ้มเรียกว่า Aglet ซึ่งในคอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport ทำมาจากเพชร 

 

จากซ้ายบน: สร้อยจากเซ็ต Graphic Line, Quilted Icons, CHANEL Print, Sweater, Gold Slider และ Sporty 5

 

ส่วนที่พลาดไม่ได้คือการนำลายกราฟิกโครโนมิเตอร์มาใช้กับหมายเลข 5 อันเป็นสัญลักษณ์เบอร์โชคดีของ Gabrielle Chanel ในเซ็ต Sporty 5 โดยกราฟิกโครโนมิเตอร์มักเห็นในการแข่งขันรถ F1 ซึ่งหนึ่งในรอบ Grand Prix ที่คนทั่วโลกตั้งหน้าตั้งตารอชมทุกปีคือที่โมนาโก สถานที่จัดงานพรีเมียร์เปิดตัวคอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport เป็นที่แรกนั่นเอง แถมการดีไซน์ฉาก Scenography ของงาน สิ่งที่โดดเด่นสุดคือการจำลองสนามแข่งรถในสไตล์ CHANEL กับที่นั่ง Grandstand ในเวอร์ชันสีขาวที่แขกทุกคนอยากถ่ายรูปเก็บไว้ ซึ่งผมว่าเป็นไอเดียที่ฉลาดมาก และสร้างบรรยากาศที่เฟรนด์ลี เพราะงาน High Jewelry มักมีภาพลักษณ์ว่าต้องทางการ

 

อีกอย่างที่ผมอยากเพิ่มเติมด้วยในเรื่องของ Scenography และการจัดงาน High Jewelry ของ CHANEL ที่น่าสนใจไม่น้อยคือ เราจะไม่เห็นนางแบบมาเดินโชว์แต่ละชิ้นตามสูตรของอีกหลายแบรนด์ เพราะตอนที่ Gabrielle Chanel โชว์คอลเล็กชัน Bijoux de Diamants เมื่อปี 1932 ตามที่กล่าวไปข้างต้น เธอก็ตัดสินใจโชว์ไอเท็มบนหุ่นขี้ผึ้งเสมือนคนจริงแทนที่จะมีแบบมาเดินไปมาในงาน

 

มาดูในเชิงของอัญมณีในหมวด Exceptional Gemstones ที่นำมาใช้ในคอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport ถือว่าตระการตาไม่แพ้กัน และเป็นการทำ High Jewelry ที่ CHANEL ยกระดับไปอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็นแคชเมียร์แซฟไฟร์ 5 เซ็ตที่มีการเสาะหามานานหลายปี พร้อมมรกตร่วม 37.18 กะรัตในสร้อยของเซ็ต Sweater, มีพลอยแมนดารินการ์เนตสีส้มร่วม 30.67 กะรัตในแหวนเซ็ต Graphic Line, มีเพชรทรงลูกแพร์ 5.5 กะรัตในสร้อยเซ็ต Sporty 5 และยังมีทับทิมทรงหมอน (Cushion Cut) 7.56 กะรัตในแหวนเซ็ต Quilted Icons เป็นต้น

 

Scenography ของงานจัดแสดงคอลเล็กชัน Sport ณ Taipei Music Center ไต้หวัน

 

ADJUSTABLE & TRANSFORMABLE

 

Gabrielle Chanel ถือว่าเป็นหนึ่งในแฟชั่นดีไซเนอร์ที่คนชอบนำโควตมาใช้อยู่เสมอและกลายเป็นวลีเด็ด โดยหากผมต้องนำหนึ่งคำกล่าวของเธอมาสะท้อนคอลเล็กชัน High Jewelry ของ CHANEL ก็คงเป็นประโยคที่เธอเคยพูดไว้ว่า “Nothing is more beautiful than freedom of the body” ที่แปลว่า “ไม่มีอะไรสวยไปกว่าเรือนร่างที่มีอิสระในการพลิ้วไหว” ซึ่งสิ่งนี้เป็นดีเอ็นเอสำคัญที่ Patrice Leguéreau นำมาใช้ในทุกคอลเล็กชัน High Jewelry เหมือนกับ Haute Joaillerie Sport ที่หลายชิ้นมีนวัตกรรมแบบ Adjustable และ Transformable เพื่อให้ผู้หญิงสามารถใส่แยกชิ้นได้ในสไตล์ของตัวเองโดยไม่ต้องมีกรอบมาบังคับ พร้อมความพลิ้วไหวที่ขยับตามเรือนร่างของผู้สวมใส่

 

ชิ้นไฮไลต์ อาทิ CHANEL Print Lion Brooch เข็มกลัดรูปสิงโตที่ทำมาจากเพชร ทองคำขาว และแล็กเกอร์ดำ ที่สามารถนำมาติดบนแจ็กเก็ตหรือจะนำจี้มาห้อยกับสร้อยก็ได้ หรืออีกชิ้นที่ผมชอบมากๆ คือ CHANEL Print Cuff ชิ้นนี้เป็นกำไลข้อมือขนาดใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนเป็นทองคำ เพชร หรือคาร์บอนอันเป็นวัสดุที่ถูกใช้ในอะไหล่รถแข่ง ซึ่งผมว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากๆ และทำให้เห็นถึงความเป็น Innovator ของ Patrice Leguéreau ไม่น้อย ที่อยากลองอะไรใหม่แบบที่คนไม่เคยคิดว่าจะเห็นใน High Jewelry

 

ส่วนอีก 2 ชิ้นในรูปแบบ Adjustable และ Transformable ที่ผมอยากไฮไลต์คือแหวน Sporty 5 Ring ที่ทำมาจากทองคำ เพชร และมีมรกต 10.24 กะรัต ซึ่งสามารถปรับมาเป็นจี้ (Pendant) ของสร้อยคอได้ด้วย หรือจะเป็นสร้อยคอเพชร Sweater ที่มีจี้เป็นเส้น Drawstring จำนวน 2 ชิ้น กับมรกต 37.18 กะรัต โดยตัว Drawstring สามารถถอดมาเป็นต่างหูได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่าในการลงทุนสำหรับผู้สวมใส่มากๆ 

 

ภาพกำไล CHANEL Print Cuff ที่สามารถแยกชิ้นส่วนเป็นทองคำ เพชร หรือคาร์บอน 

 

FINAL THOUGHTS

 

ผมคิดว่าคอลเล็กชัน Haute Joaillerie Sport ในครั้งนี้ทาง Patrice Leguéreau เหมือนมี Blank Canvas อันเป็นกระดาษเปล่าที่เขาสามารถใช้จินตนาการอย่างเต็มเปี่ยมของตัวเอง เพราะความเป็นสปอร์ตในบริบทของ Gabrielle Chanel มีความเป็นนามธรรมสูงที่เป็น Aesthetic มากกว่าเป็นรูปทรงเสื้อผ้า ลวดลาย หรือสัญลักษณ์ที่เห็นได้ด้วยตา ซึ่งคือผลลัพธ์ของคอลเล็กชัน ผมเลยมองว่าเหมือน Patrice Leguéreau ได้สร้างบทสนทนาขึ้นมาว่า หาก Gabrielle Chanel ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้และต้องดีไซน์คอลเล็กชันเคียงข้างเขา อะไรเป็นสิ่งที่เธอจะนำมาเล่นที่แตกต่างและก้าวหน้าแบบไม่เหมือนใคร ผมคิดว่ากับคอลเล็กชัน High Jewelry ต่อๆ ไปของ CHANEL เราก็จะเห็นสิ่งนี้ เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิด แต่ยังสวยงามและตอบโจทย์ความเป็น Allure ได้อย่างไร้ที่ติ

 

CHANEL Ambassador คนสำคัญ Keira Knightley กับการสวมใส่ CHANEL High Jewelry คอลเล็กชัน Sport ที่โมนาโก

 

ภาพ: Courtesy of CHANEL

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories