‘15 นาที’ คือเวลาโดยเฉลี่ยที่หนึ่งแบรนด์ใช้ในการจัดรันเวย์และนำเสนอผลงานของตัวเองในแฟชั่นวีก ภายในเวลา 15 นาทีนั้น ดีไซเนอร์จะต้องสร้างความประทับใจและทำให้ลูกค้า สื่อมวลชน บายเออร์ และผู้ติดตามจากทั่วโลกจดจำคอลเล็กชันของคุณให้ได้ท่ามกลางโชว์อีกนับร้อยในทุกซีซัน โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียที่สมาธิของคนแกว่งไกวราวชิงช้า เพราะมีอะไรให้เห็นและอ่านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้ารันเวย์ของคุณมาแบบเบสิกหรือไม่มีอะไรโดดเด่น วันต่อมาคนก็อาจลืมไปแล้ว
แต่สำหรับ Chanel ซึ่งไม่เคยมีปัญหากับการรังสรรค์แฟชั่นโชว์ และนั่นทำให้แบรนด์ถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งยังตอกย้ำถึงการเป็นแบรนด์ระดับมหาอำนาจของวงการ
ทุกๆ ปี คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ดีไซเนอร์ชาวเยอรมันที่รับตำแหน่ง Artistic Director ตั้งแต่ปี 1983 จะสร้างโชว์ 6 ครั้งต่อปีที่ประกอบไปด้วย
- 2 โชว์สำหรับเสื้อผ้า Ready-to-wear ช่วง Spring/Summer และ Fall/Winter
- 2 โชว์เสื้อผ้ากูตูร์ช่วง Spring/Summer และ Fall/Winter
- 1 โชว์สำหรับเสื้อผ้า Cruise Collection ที่จะไปเลือกจัดตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก
- 1 คอลเล็กชัน Métiers d’Art หรือที่เรียกว่า Pre-Fall ที่โฟกัสด้านเทคนิคของเหล่าช่างฝีมือ ซึ่งปีนี้กำลังจะไปจัดโชว์ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี บ้านเกิดของคาร์ลเอง
ตั้งแต่เข้าสหัสวรรษใหม่ โชว์ของ Chanel ก็ทุ่มทุนจัดฉากตระการตาที่มาพร้อมราคาหลายร้อยล้านบาท ซึ่งในยุคนี้กับกิจกรรมออนไลน์ทั้ง Instagram, Instagram Stories และ Snapchat ภาพของฉากที่ถูกสรรสร้างจึงท่วมฟีดโซเชียลมีเดียก่อนเสื้อผ้าจะปรากฏให้เห็นเสียด้วยซ้ำ และนั่นเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่ม value และ engagement ในด้านการประชาสัมพันธ์ให้ Chanel ซึ่งแน่นอนว่ามันจะส่งผลเป็นโดมิโนต่อยอดขายในเวลาต่อมา
แต่มากไปกว่านั้น คาร์ลและทีมงานได้ทำให้เห็นว่าการทำแฟชั่นโชว์หนึ่งครั้งต้องไม่มีขอบเขต คือสามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ และเป็นสิ่งที่ทำให้คนสามารถใช้จินตนาการและมีอารมณ์ร่วมกับเสื้อผ้าได้
THE STANDARD ได้รวบรวมโชว์เด็ดของ Chanel ที่กลับมาดูกี่ครั้งก็ต้องอึ้งกับสเกลงาน การเก็บรายละเอียด และทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นสร้างสรรค์ความงดงามอลังการได้อย่างไม่เป็นรองใคร
Cover Photo: Fall/Winter 2018
อ้างอิง:
- โชว์ Fall/Winter 2010 Chanel ได้เอาภูเขาน้ำแข็งของจริงจากสแกนดิเนเวีย ที่สูง 9 เมตร และหนัก 250 ตัน มาไว้ที่แกรนด์พาเลซ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน โดยต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 4 องศา
- โชว์ Spring/Summer 2012 Chanel เลือกจัดที่แกรนด์พาเลซเหมือนเดิม พร้อมฉากโลกใต้น้ำสีขาวไข่มุกที่ได้ ซาฮา ฮาดิด สถาปนิกระดับตำนานมาดีไซน์ให้ ซึ่งครึ่งหลังของโชว์ นักร้องสาว ฟลอเรนซ์ เวลช์ ก็ออกมาเริ่มร้องเพลง What The Water Gave Me ในหอย
- โชว์ Fall/Winter 2014 เป็นการจัดฉากในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีสินค้าตั้งแต่ขนมปัง ชีส นม ไปจนถึงผงซักฟอกและสีทาบ้าน โดยเมื่อโชว์จบ สินค้าที่ไม่ใช่ของสดก็จะถูกนำไปตกแต่งวินโดว์ดิสเพลย์ตอนเสื้อผ้าเข้าร้าน
- โชว์ Spring/Summer 2015 จัดฉากจำลองถนนในปารีสแบบสเกลจริงในแกรนด์พาเลซ และเก็บรายละเอียดสถาปัตยกรรมสไตล์ Haussmannian ของตึกได้ทุกอณู โดยในช่วงฟินาเล่ เหล่านางแบบก็ได้ออกมาเดินประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง ซึ่งถึงแม้คาร์ลจะไม่ชอบพูดถึงเรื่องการเมือง แต่ภาพที่เราเห็นก็เหมือนการเดินขบวน Women’s March ที่อเมริกาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
- โชว์ Fall/Winter 2017 คาร์ลทำให้เห็นว่าเขาไม่เคยหมดไฟและเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์แฟชั่น เพราะโชว์นี้เขาอยากส่งเสื้อผ้า Chanel ไปนอกโลก พร้อมจรวดของแบรนด์เองที่ไม่ต้องไปพึ่งริชาร์ด แบรนสัน หรืออีลอน มัสก์
- โชว์ Spring/Summer 2018 ก็เลือกจำลองหุบเขากอร์จ ดู แวร์ดง (Gorges du Verdon) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส โดยผู้ชมกว่า 2,500 คนในแกรนด์พาเลซได้สัมผัสหุบเขาจำลองนี้ที่มีน้ำตก 6 สายระหว่างก้อนหินยาว 85 เมตร สูง 15 เมตร ส่วนน้ำที่ไหลตกลงมาก็ถูกดีไซน์ให้สามารถกลับเข้าไประบบบำบัดน้ำของกรุงปารีสได้เมื่อโชว์จบ
- โชว์ Cruise 2019 สร้างเรือสำราญชื่อ ‘La Pausa’ ความยาว 330 ฟุต ซึ่งเรือลำนี้ใช้เวลาสร้างนานถึง 2 เดือน และจุคนได้ถึง 1,000 คน
- โชว์ Spring/Summer 2019 เนรมิตชายหาดกลาง พร้อมมีคลื่นน้ำซัดเข้ามาจริง ซึ่งคาร์ลได้แรงบันดาลใจจากชายหาดบนเกาะซูลต์ ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนีที่เขาเติบโต
- โชว์ Haute Couture Spring/Summer 2019 ทางทีมงานได้เนรมิตฉากบ้านพักตากอากาศสไตล์อิตาเลียนชื่อ #VillaCHANEL พร้อมสระน้ำขนาดจริงใจกลางสถานที่จัดงานแกรนด์พาเลซในกรุงปารีส