วันนี้ (23 สิงหาคม) เวลา 19.34 น. ภารกิจจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ของประเทศอินเดีย มีกำหนดลงจอดบริเวณใกล้เคียงขั้วใต้ดวงจันทร์ โดยหากประสบความสำเร็จ พวกเขาจะเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถนำยานไปลงจอดและปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ได้
หลังจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับภารกิจจันทรายาน-2 ในส่วนของยานลงจอดเมื่อปี 2019 เช่นเดียวกับภารกิจจากประเทศอื่นๆ ที่ตามมา เช่น อิสราเอล ญี่ปุ่น และรัสเซีย หน่วยงานอวกาศของอินเดีย หรือ ISRO จึงได้พัฒนาจันทรายาน-3 เพื่อเดินทางกลับไปสำรวจบริวารหนึ่งเดียวของโลกอีกครั้ง
ภารกิจดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ยานลงจอด Vikram และรถสำรวจ Pragyan ที่มีต้นแบบมาจากยานที่มีชื่อเดียวกันจากภารกิจจันทรายาน-2 แต่ได้รับการปรับปรุงระบบลงจอดทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดจากบทเรียนครั้งก่อนหน้าที่ยานประสบปัญหาระหว่างการเบรกชะลอความเร็วขั้นสุดท้าย จนตกกระแทกพื้นผิว
สำหรับช่วงลงจอด ขั้นตอนต่างๆ จะดำเนินไปตามแผนที่ถูกวางไว้ โดยมีอุปกรณ์ตรวจวัดความเร็ว ระดับความสูง พร้อมกับมีกล้อง LHDAC ที่บันทึกภาพบริเวณใต้ยานลงจอด เพื่อคอยดูโขดหินที่อาจเป็นอันตราย และสามารถเปลี่ยนจุดลงจอดได้หากมีความจำเป็น โดยจะเริ่มจุดเครื่องยนต์เพื่อลดระดับลงจอดเวลา 19.15 น. และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ยานจะสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์ในอีกราว 19 นาทีให้หลัง
เมื่อลงจอดแล้ว ยานจะกางแผงด้านข้างให้เป็นทางลาดสำหรับส่งรถ Pragyan ลงสู่พื้นผิว โดยทั้งคู่มีเวลาปฏิบัติงานนาน 15 วันบนโลก เท่ากับช่วงเวลากลางวันบนดวงจันทร์ เนื่องจากยานทั้งสองต้องใช้พลังงานจากแผงเซลล์สุริยะ และอาจไม่รอดจากความหนาวเหน็บยามค่ำคืนบนดวงจันทร์ไปได้
ยานทั้งสองมีอุปกรณ์เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีบนดวงจันทร์ ศึกษาแผ่นดินไหวและคลื่นสะเทือน คุณสมบัติทางความร้อนบนพื้นผิว รวมทั้งเครื่องมือสำหรับสะท้อนแสงเลเซอร์ สำหรับคำนวณระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์
ในการลงจอดครั้งนี้ ISRO มีกำหนดถ่ายทอดสดผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ สามารถรับชมได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=DLA_64yz8Ss ตั้งแต่เวลา 18.50 น. ของวันนี้
ภาพ: R. Satish BABU / AFP
อ้างอิง: