อินเดียคือชาติที่ 4 ในประวัติศาสตร์ต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน ที่สามารถนำยานไปลงจอดอย่างนุ่มนวลบนดวงจันทร์ พร้อมกับปฏิบัติภารกิจต่อได้
การเดินทางไปลงดวงจันทร์อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นนัก เมื่อพิจารณาว่าดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกไปแค่ประมาณ 380,000 กิโลเมตร แต่อัตราความสำเร็จของภารกิจสำรวจตลอดช่วงเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา กลับมีแค่ 56% เท่านั้น
หากมองย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2018 หลังจากความสำเร็จของจีนในการส่งยานฉางเอ๋อ 4 ไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ มีความพยายามไปลงจอดมากมายจากนานาประเทศ ไล่ตั้งแต่ยานแบร์ชีทของอิสราเอล, จันทรายาน-2 ของอินเดีย, ฉางเอ๋อ 5 ของจีน, HAKUTO-R ของญี่ปุ่น ซึ่งมีรถสำรวจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตามไปด้วย กับ Luna-25 ของรัสเซีย
จากลิสต์ข้างต้น มีเพียงฉางเอ๋อ 5 เท่านั้นที่ไปลงจอดและทำงานได้ ส่วนภารกิจจากประเทศอื่นๆ กลับจบลงด้วยความล้มเหลว
เช่นกันกับยานลงสำรวจพื้นผิวลำแรกของอินเดียที่มีกำหนดลงจอดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2019 พวกเขาทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่การพัฒนายาน ส่งออกเดินทางจากโลกไปสู่ดวงจันทร์ จนถึงช่วงการชะลอความเร็วเพื่อลงจอดได้สำเร็จแล้ว ขาดเพียงแค่ขั้นตอนสุดท้ายของการลงจอดจริงๆ ที่สัญญาณได้ขาดหายไป
แน่นอนว่าความผิดพลาดครั้งนั้นมันช่างโหดร้าย เมื่อพิจารณาว่าภารกิจจันทรายาน-2 ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2007 แต่นี่คือบทเรียนข้อสำคัญที่เป็นแกนหลักให้การเดินทางของจันทรายาน-3 ไปสู่ฝั่งฝันได้
อันที่จริงอินเดียเคยมีความร่วมมือกับ ROSCOSMOS หรือหน่วยงานอวกาศของรัสเซีย เพื่อพัฒนายานตามไปสำรวจดวงจันทร์ หลังจากภารกิจยานโคจรลำแรกอย่างจันทรายาน-1 ประสบความสำเร็จ โดยอินเดียจะเป็นฝ่ายพัฒนายานโคจร รถสำรวจ และใช้จรวด GSLV ของพวกเขา ในขณะที่รัสเซียเป็นผู้สร้างตัวยานลงจอด
อย่างไรก็ตาม ในปี 2012 รัสเซียพบปัญหาในระหว่างการส่งภารกิจ Fobos-Grunt มุ่งหน้าไปดาวอังคาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการวิเคราะห์ข้อผิดพลาดเพิ่มเติมเมื่อภารกิจล้มเหลว และทีมวิศวกรพบว่าปัญหาบางส่วนอาจส่งผลกระทบต่อระบบลงจอดของตัวยานสำรวจดวงจันทร์ได้ ทำให้การพัฒนายานจากฝั่งรัสเซียค่อนข้างล่าช้าไปจากเดิม
และในท้ายที่สุดอินเดียได้ตัดสินใจพัฒนายานลงจอดด้วยตนเอง โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีจากรัสเซีย ซึ่งในภายหลังพวกเขาก็ได้ส่งยาน Luna-25 เดินทางตามไปดวงจันทร์ด้วย แต่กลับประสบปัญหาระหว่างการปรับวงโคจร จนพุ่งชนดวงจันทร์ไปก่อนได้พยายามลงจอดเสียอีก
ส่วนอุปกรณ์จากยานโคจรของจันทรายาน-2 บางส่วนก็ถูกโยกไปใส่ให้กับยานมังคลายาน ภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของอินเดียที่ได้ออกจากโลกเมื่อปี 2013 และสามารถปฏิบัติงานในวงโคจรรอบดาวเคราะห์เพื่อนบ้านดวงนี้ได้จนถึงปี 2022 นานกว่าที่ยานถูกออกแบบให้ทำงานได้ถึง 7 ปีด้วยกัน
การเดินทางสู่อวกาศไม่เคยเป็นเรื่องง่าย และความท้าทายนั้นยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีกกับภารกิจเดินทางสู่ดาวดวงอื่น โดยเฉพาะการลงจอดที่จันทรายาน-3 ต้องเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ให้ได้ โดยมีจรวดที่ทรงพลังน้อยกว่าของทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย และยังต้องเลือกจุดลงจอดที่ปลอดภัย ก่อนจะให้ยานจุดเครื่องยนต์เพื่อชะลอความเร็วไปลงจอดบนพื้นผิว ทั้งหมดนี้อาศัยการคำนวณอย่างแม่นยำโดยวิศวกรบนโลก กอปรกับการสร้างยานให้พร้อมรับการไปสำรวจดาวที่มีแรงโน้มถ่วง ⅙ เท่าของโลก
และเมื่อเวลา 19.34 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม 2023 ข้อมูลจากยานที่ถูกส่งกลับมาตามเวลาจริงเผยให้เห็นความเร็วและระยะความสูงที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รับการยืนยันว่าภารกิจจันทรายาน-3 สามารถลงจอดได้สำเร็จ พร้อมกับเสียงเฮและความยินดีจากทีมงานในห้องควบคุม รวมถึงนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้ร่วมรับชมการถ่ายทอดสดจากประเทศแอฟริกาใต้ (โมดีอยู่ระหว่างเยือนแอฟริกาใต้ที่เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS)
“เราได้เดินทางไปถึงจุดที่ประเทศอื่นยังไม่เคยไปได้ นี่คือช่วงเวลาอันเปี่ยมสุขยิ่ง” คือส่วนหนึ่งในแถลงการณ์จากนายกรัฐมนตรีของอินเดีย หนึ่งในประเทศมหาอำนาจการสำรวจอวกาศยุคใหม่ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาจรวดและยานสำรวจอวกาศของตนเอง
หลังจากนี้ยานลงจอด ‘วิกรม’ ที่ถูกตั้งชื่อตาม ดร.วิกรม สระภาย ผู้ก่อตั้งหน่วยงานอวกาศของอินเดีย หรือ ISRO และรถโรเวอร์สำรวจ ‘ปรัชญาณ’ จะเริ่มปฏิบัติการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ในช่วงเวลาราว 14 วันบนโลก หรือเทียบเท่ากับระยะเวลากลางวันบนพื้นผิวที่ตัวยานสามารถรับพลังงานจากแผงเซลล์สุริยะ และออกศึกษาพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับขั้วใต้ดวงจันทร์เพิ่มเติมได้
อุปกรณ์ต่างๆ ที่ยานทั้งสองนำไปด้วยจะมีส่วนในการศึกษาลักษณะและองค์ประกอบบนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อแสดงถึงศักยภาพของประเทศอินเดียและปูรากฐานให้กับภารกิจการสำรวจในอนาคต ที่อาจรวมถึงการส่งมนุษย์ไปลงจอดหรือตั้งศูนย์วิจัยในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ต่างมีแผนการดังกล่าววางไว้อยู่
ดร.ชรีธารา โสมานาถ ผู้อำนวยการ ISRO กล่าวว่า “ความสำเร็จในการลงจอดครั้งนี้ไม่ได้มาจากงานของพวกเราเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ ISRO จากรุ่นสู่รุ่น”
และนอกจากนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรที่นั่งอยู่ในศูนย์ควบคุม ความสำเร็จในการลงจอดครั้งนี้ยังได้ถูกถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กชาวอินเดียจำนวนมากที่อาจเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญให้กับการสำรวจอวกาศยุคใหม่ของประเทศในวันข้างหน้าได้ เหมือนกับที่โครงการอพอลโลของสหรัฐฯ ได้จุดประกายให้เกิดทั้งโครงการกระสวยอวกาศและภารกิจสำรวจจักรวาลต่างๆ ของ NASA มาแล้ว
ย้อนกลับไปในปี 1981 อินเดียเคยต้องทดสอบดาวเทียมสื่อสารของพวกเขาบนหลังเกวียนวัว เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์เพื่อทดสอบการทำงานได้ดีเพียงพอสำหรับช่วงเวลาและงบประมาณในตอนนั้น แต่ในวันนี้พวกเขาเป็นประเทศแรกในประวัติศาสตร์ที่ส่งยานเดินทางไปลงจอดบริเวณใกล้เคียงกับขั้วใต้ดวงจันทร์ได้สำเร็จ
“ฉันเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เช่นกันกับพวกคุณทุกคน” นี่คือข้อความที่ทีมภารกิจเผยแพร่หลังจากการลงจอดของจันทรายาน-3 ความพยายามลงจอดครั้งที่สองของอินเดียที่จบลงด้วยความสำเร็จในขั้นแรก
และหลังจากนี้ก็คือช่วงเวลาแห่งการสำรวจบริวารหนึ่งเดียวของโลกเราแล้ว…
ภาพ: Debarchan Chatterjee / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: