×

เมื่อขวดกาแฟ Cold Brew กลายเป็นศิลปะ ฝีมือศิลปินไทยที่งานอาร์ตระดับโลก i Light Marina Bay

14.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • Chandelier of Spirits คือผลงานรูปแบบ Interactive Installation ออกแบบโดยกลุ่ม Living Spirits ของประเทศไทย โดยเป็นแชนเดอเลียร์ 3 ต้นที่ประดับด้วยขวดกาแฟ Cold Brew
  • ตอนแรกทางทีม Living Spirits อยากใช้ขวดเครื่องดื่มชูกำลังเป็นสัญลักษณ์สะท้อนเรื่องการเติมพลัง แต่พอมาคุยกับทางสิงคโปร์ ทางคณะผู้จัดกลับบอกว่าที่ประเทศเขาไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแบบขวด หากจะหาเครื่องดื่มที่คล้ายคลึงกันและให้พลังงาน ขวดกาแฟ Cold Brew ก็ตอบโจทย์
  • งาน i Light Marina Bay จัดมาตั้งแต่ปี 2010 เพื่อรณรงค์ให้คนเห็นถึงคุณค่าการรักษาสภาพแวดล้อม รู้จักเรื่องการรีไซเคิล และสร้างสรรค์รูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยงานนี้ก็จะคล้ายกับเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติอีกหลายที่

ผลงาน Chandelier of Spirits

 

ประโยคที่พูดกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ‘อะไรก็เกิดขึ้นได้’ คือสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เรากำลังจะเผชิญทุกสัดส่วนของชีวิตในยุค Disruption ที่ทุกอย่างง่ายขึ้น ยากขึ้น วุ่นวายขึ้น สนุกขึ้น สับสนขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงศิลปะที่หลายคนกำลังมองหาศิลปินที่มีจุดยืน มีทัศนคติที่ทำให้เราคิด และมีความออริจินัลที่เป็นการเติมเต็มวงการให้มีมิติใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตอนเราได้ไปดูผลงานของกลุ่ม Living Spirits ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีผลงานไปจัดแสดงที่งาน i Light Marina Bay ที่กำลังจัดอยู่ช่วงนี้

 

ต้องบอกก่อนว่าหากเขียนสมการบนกระดาษว่า ‘ขวดกาแฟ Cold Brew 1,040 ขวด + ไฟ 1,040 ดวง = ผลงาน Interactive Installation’ เราอาจจะไม่เก็ต แต่พอได้นั่งพูดคุยกับกลุ่ม Living Spirits นำทัพโดย ศศิศ สุวรรณปากแพรก ผู้ก่อตั้ง เราเริ่มเข้าใจมุมมองของผลงานที่ชื่อ Chandelier of Spirits และทำให้เห็นว่าทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราก็สามารถกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอะไรก็ได้

 

Chandelier of Spirits คือผลงานรูปแบบ Interactive Installation ที่เป็นแชนเดอเลียร์ 3 ต้นประดับด้วยขวดกาแฟ Cold Brew แบบใช้แล้วของร้านกาแฟชื่อดัง Chye Seng Huat Hardware ในสิงคโปร์ ซึ่งให้กลุ่ม Living Spirits มาใช้ 1,040 ขวด โดยในแต่ละขวดก็จะใส่ไฟหนึ่งดวงเข้าไปเพื่อจุดประกายพร้อมกันตอนพระอาทิตย์ตกดิน

 

บนเสาแต่ละต้นจะมีเซนเซอร์อยู่ ซึ่งหากคนมาล้อมรอบเยอะขึ้น ตัวแชนเดอเลียร์ก็จะสว่างขึ้น และหากมีลมพัด เหล่าขวด Cold Brew ก็จะกระทบกันเป็นเหมือนเสียงระฆัง ซึ่งผลงานนี้ก็มีการระดมความคิดและใช้เวลาผลิตกว่า 1 ปี ตั้งแต่ร่างคอนเซปต์ ส่งไอเดียให้ทางสิงคโปร์ดู และเริ่มผลิตตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วหลังจากผ่านเกณฑ์คัดเลือก

 

ทีมงาน Living Spirits

 

ภาพแนว Perspective ตอนส่งผลงานให้ทางสิงคโปร์พิจารณา

 

แล้วทำไมต้องเป็นขวดกาแฟ Cold Brew

ทางทีม Living Spirits เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ก่อตั้ง ทางทีมมุ่งหวังที่จะสร้างผลงานที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตผู้คน ซึ่งตรงกับโจทย์ของงาน i Light Marina Bay ปีนี้ขององค์กรพัฒนาเมืองสิงคโปร์ (Urban Redevelopment Authority) ที่พูดถึงเรื่อง ‘พลังงาน’ ต่อผู้คนในยุคนี้ ทางทีม Living Spirits ก็ตีโจทย์ว่าเครื่องดื่มชูกำลังเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมและอยากใช้ขวดแก้วในผลงาน แต่พอมาคุยกับทางสิงคโปร์ ทางคณะผู้จัดกลับบอกว่าที่ประเทศเขาไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแบบขวด หากจะหาเครื่องดื่มที่คล้ายคลึงและให้ ‘พลังงาน’ เช่นกัน การใช้ขวดกาแฟ Cold Brew ก็เป็นตัวแทนที่ดี โดยในตอนแรกทางทีม Living Spirits วางแผนจะทำแชนเดอเลียร์แค่ 1 ต้น แต่ทางทีมงานสิงคโปร์ชอบคอนเซปต์นี้มาก เลยตัดสินใจให้ทำ 3 ต้นไปเลย

 

ตัวผลงาน Chandelier of Spirits จัดตั้งอยู่บริเวณถนน Marina Boulevard ภายใต้งาน i Light Marina Bay ที่มีงาน Interactive Installation จำนวน 22 ชิ้นจาก 14 ประเทศ เช่น แคนาดา, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, อังกฤษ, เกาหลีใต้, ไทย ฯลฯ แถมในงานยังมีผลงานของนักเรียนจากสถาบันศิลปะของประเทศสิงคโปร์ เช่น Raffles College และ Nanyang Technological University

 

งาน i Light Marina Bay จัดมาตั้งแต่ปี 2010 เพื่อรณรงค์ให้คนเห็นถึงคุณค่าของการรักษาสภาพแวดล้อม รู้จักเรื่องการรีไซเคิล และสร้างสรรค์รูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยงานนี้ก็จะคล้ายกับเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติอีกหลายที่ เช่น LUX Light Festival ที่ประเทศนิวซีแลนด์ และ Scottsdale Canal Convergence ที่แอริโซนา สหรัฐอเมริกา

 

ขวดกาแฟ Cold Brew ของร้าน Chye Seng Huat Hardware ที่นำมาใช้

 

หนึ่งส่วนของขวดกาแฟ Cold Brew 1,040 ขวดที่นำมาใช้

 

ผลงาน Chandelier of Spirits ที่โซนถนน Marina Boulevard

 

หลังจากงานนี้ ทางทีมสิงคโปร์ก็จะเป็นคนดูแลผลงาน Chandelier of Spirits ต่อไป โดยจะหาพื้นที่ให้มีการนำไปแสดงรอบโลกตามเมืองต่างๆ สำหรับทีม Living Spirits เองก็อยากให้คนไทยได้เห็นผลงานนี้ แต่ทำจากขวดเครื่องดื่มชูกำลังตามความตั้งใจแรก ซึ่งเรามองว่าถ้าทางภาครัฐและส่วนเอกชนที่มีภาระกำลังเพียงพอก็ควรผลักดันให้มีงานศิลปะมากยิ่งขึ้นในทุกแขนง เพราะไม่เพียงจะเป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้เสพงานรุ่น 4.0 ที่จะได้สัมผัสและถ่ายรูปอัปโหลดขึ้นโซเชียลรัวๆ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ศิลปินได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่

 

สุดท้ายเรากลับมานั่งคิดถึงจุดประสงค์หลักของงานนี้ที่จัดในประเทศที่ห่างจากประเทศไทยแค่นั่งเครื่องบิน 2 ชั่วโมง อากาศอบอ้าวกว่า มีตึกสูงไม่แพ้กัน แต่ทำไมเขาเลือกจัด ทำไมต้องรณรงค์เรื่องการดูแลสภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง มันจะเวิร์กไหม เวิร์กไม่เวิร์กเราไม่รู้ แต่ในช่วงที่ PM2.5 กำลังเป็นปัญหา (แต่เราไม่อยากจะมี) การทำงานแบบนี้ก็อาจจะช่วยสภาพแวดล้อมได้ในระยะยาวมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

 

สำหรับงาน i Light Marina Bay 2018 เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันนี้ถึง 1 เมษายน 2018 ตั้งแต่เวลา 19.30-23.00 น. ของทุกวัน บริเวณริมอ่าว Marina Bay และ Esplanade Park ประเทศสิงคโปร์ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ilightmarinabay.sg

 

ผลงาน Milk Bottle Cows ของ BP Loh ที่งาน i Light Marina Bay 2018

 

ผลงาน Transistable Plastic ของ Luzinterruptus ที่งาน i Light Marina Bay 2018

FYI
  • สำหรับข่าวสารและเรื่องราวของผลงาน Interactive Installation ต่างๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่เฟซบุ๊กเพจ ‘Journey I’
  • i Light Marina Bay ครั้งต่อไปจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงเดือนมกราคม 2019 เพื่อฉลองครบรอบ 200 ปีของเกาะสิงคโปร์ ใครสนใจอยากสมัครเพื่อไปแสดงผลงานในปีหน้าก็สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 18 พฤษภาคม 2018
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising