×

‘หมอฉันชาย’ แนะหาความรู้ก่อนใช้กัญชาในคุณภาพและปริมาณเหมาะสม ห่วงเด็กเสพแล้วส่งผลเซลล์สมองน้อยลง

โดย THE STANDARD TEAM
14.06.2022
  • LOADING...
ฉันชาย สิทธิพันธุ์

วานนี้ (13  มิถุนายน) รายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ได้สัมภาษณ์ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีปลดล็อกกัญชาจนกลายเป็นกระแสฟีเวอร์ทั้งในมุมบวกและลบ ตอนนี้เห็นปัญหาอย่างไร 

 

คลิกดูย้อนหลัง

 

 

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ที่มองเห็นปัญหาคือมี ‘โอกาส’ ซึ่งเกรงว่าจะมีคนฉวยโอกาสนั้น หน้าที่ของเราคือต้องทำให้สมดุลกัน เชื่อว่ากัญชาก็เหมือนกับยาตัวอื่น คือถ้าเราใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม แล้วคนใช้มีความรู้ดี เราห่วงน้อยมาก

 

แต่สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีโอกาสจะทำให้เกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ผมคิดว่าคอนเซ็ปต์คือต้องมีวิธีการทำให้เด็กไม่มีทางเข้าถึงกัญชาได้ กำหนดอายุเท่าไรก็ตาม 20 หรือ 25 ปี

 

นอกจากนั้นกัญชาต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เรารู้ปริมาณสารที่อยู่ข้างใน ไม่มีสารตกค้าง แล้วก็ใช้ให้ถูกต้องตามข้อบ่งชี้ แต่จะมี Controversy นิดหน่อยว่าเราจะยอมคำว่าสันทนาการไหม ซึ่งเราคุยความเห็นกันได้เรื่องสันทนาการ แต่ตอนนี้นโยบายรัฐบาลชัดเจนมาก จะเน้นทางการแพทย์ ยังไม่เน้นสันทนาการ และสุดท้ายเชื่อว่าต้องเอากัญชาใต้ดินขึ้นมาบนดินเพราะมีการใช้อยู่ 

 

มีหลักสำคัญอยู่ ถ้าใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมก็ไม่ควรจะมีคนถูกจับ แต่ที่เรากังวลเพราะมีช่องว่าง จริงๆ ประกาศฉบับนี้ถูกเลื่อนออกมาด้วยความหวังที่ว่าจะมี พ.ร.บ. ออกมากำกับก่อน บังเอิญมีอุบัติเหตุเรื่องโควิด ทำให้ พ.ร.บ. ไม่ผ่าน จึงกลายเป็นว่าประกาศมีผลบังคับใช้ 

 

ตอนแรกคิดว่าจะเลื่อนได้ไหม แต่ว่าเมื่อไม่เลื่อนก็ต้องจัดการไปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่กล่าวไปแล้ว นี่เป็นมุมมองตอนนี้ 

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงความเห็นที่ว่า เป็นการปลดล็อกที่เร็วเกินไปในระหว่างที่ไม่มีอะไรมาควบคุมเลย คุณหมอเป็นห่วงจุดนี้หรือไม่ 

 

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ถ้าเลือกได้ ถ้าจะให้ดี พ.ร.บ. น่าจะตอบโจทย์ทุกอย่าง เพราะ พ.ร.บ. เป็นการผ่านการพิจารณาจาก ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ ขณะที่ประกาศอาจจะออกมาในแง่หลักการว่า อันนี้ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด 

 

“อันนี้เป็นความเห็น ซึ่งจริงๆ แล้วผมเห็นว่าใน พ.ร.บ. มีข้อกำกับหลายอย่างเลย เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นว่าพยายามจะใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมมาแก้ไข แต่เราก็เห็นว่ามันแก้ไม่ตรงจุด เลยคิดว่าจริงๆ แล้ว ถ้า ครม. จะผ่านในเวลาอีก 2-3 เดือน ถ้ายืดเวลา ขยายเวลาออกไปอีกสักระยะหนึ่ง แล้วรอ พ.ร.บ. ออกมา มันก็จะสวยงาม ถือว่าเป็นฉันทามติของคนทั้งประเทศผ่านทาง ส.ส. แต่ตอนนี้มันผ่านมาแล้ว เดินหน้าไปแล้ว ทำอย่างไรให้เกิดผลเสียให้น้อยที่สุด ให้มีความเข้าใจ แล้วก็มี พ.ร.บ. ให้มีความสมดุล เป็นประโยชน์สูงสุด” 

 

นพ.ฉันชาย กล่าวด้วยว่า มีความกังวล คำว่าบนดิน ปัจจุบันถ้าเราโปรโมตให้บุคคลทั่วไปปลูกโดยไม่มีการจำกัด โดยเฉพาะช่วงที่มีช่องว่างตอนนี้ ขณะที่ถ้าเป็น พ.ร.บ. ออกมา จะมีการจำกัดไม่ให้ปลูกเกินกี่ต้น แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกคนหวังจะปลูกเยอะๆ เพราะมีช่องว่าง ทุกคนอาจจะไม่ได้หวังว่าจะปลูกใช้เอง แต่ปลูกเพื่อการพาณิชย์ ตรงนี้มีความกังวล เพราะถ้าเราปลูกเองและไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอ เราอาจจะมีกัญชาซึ่งมีคุณภาพไม่ดี ตรงนี้เอาไปแปรรูปไม่ได้ ไม่มีโรงงานไหนรับ ตรงนี้จะลงใต้ดินต่อ เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ทราบจะเกิดขึ้นหรือไม่ 

 

มีการสร้างกระแสให้มีการปลูกไม่อั้น ขณะที่การใช้ในครัวเรือน กับการหวังว่าจะทำให้เกิดประโยชน์เชิงธุรกิจ ต้องแบ่งกันให้ดี 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ทำไมจึงควรจำกัดการใช้กัญชากับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี 

 

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ข้อกังวลที่สุดส่วนหนึ่งของกัญชา ทั้งข้อมูลในสัตว์ทดลองและการศึกษาจากมนุษย์คือ จะไปมีผลต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำ แล้วอาจจะทำให้เซลล์สมองมันน้อยลง ไม่พัฒนาไปเต็มที่ ซึ่งอันนี้จะมีผลมากในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กมาก ยิ่งใช้กัญชาเร็ว ใช้ต่อเนื่อง ก็จะติด มีโอกาสสมองเสื่อม มีข้อมูลจากนิวซีแลนด์ ไอคิวลดลงกว่าคนที่ไม่ใช้กัญชา 4-8 พอยต์ อาจจะมีปัญหาเรื่องการเรียน เรียนไม่จบมากขึ้น มีโอกาสใช้สารอื่นมากขึ้น มีโอกาสฆ่าตัวตายมากขึ้น 

 

มีความพยายามจะเอากัญชาไปลิงก์กับโรคอื่นๆ เช่น จิตเภท ต้องเรียนว่าข้อมูลขณะนี้ไม่ได้ชัดเจนตรงจุดนั้น ยกเว้นคนที่มีความเสี่ยงทางยีนบางอย่าง ถ้าเขามียีนบางอย่างซึ่งจะทำให้เขามีโอกาสเป็นจิตเภทมากขึ้นอยู่แล้ว แล้วไปบวกกัญชา จะมีโอกาสเป็นมาก นี่เป็นข้อเท็จจริง 

 

จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องพยายามปกป้องเยาวชน อย่าให้เข้าถึงกัญชา เพราะเขามีโอกาสซึ่งจะเกิดปัญหาทางสมองในอนาคต ยกเว้นบางกรณีเช่นเป็นโรคลมชัก 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า กรณีมีผู้ให้ความเห็นว่ากลไกตลาดหรือคนใช้กัญชาเองจะควบคุมสิ่งต่างๆ ที่เรากังวลได้เอง คนใช้จะรู้ข้อดี-ข้อเสีย และคุมสิ่งที่เรากังวลได้เอง คุณหมอคิดว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่  

 

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ถ้าทุกอย่างควบคุมด้วยกลไกตลาดหรือจิตสำนึกได้ อีกหน่อยก็คงไม่ต้องควบคุมยาบ้าหรือฝิ่น ก็เลยคิดว่าจริงๆ มีประเด็นซึ่งเป็นเรื่องหลายอย่างที่มีปัจจัยเยอะ ถ้าเรารู้ว่าจะมีปัญหา ควรมีมาตรการระดับหนึ่งที่จะลดโอกาสเกิด แต่หลายคนบอกว่าถึงกฎหมายออกมาก็ห้ามเด็กสูบไม่ได้ แต่เราต้องพยายามอย่าให้เกิดสิ่งเร้าหรือการที่เข้าถึงได้ง่าย เพราะถ้าพูดว่าให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ เป็นการพูดที่ไม่รับผิดชอบ 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า การที่คนใช้กัญชาในเชิงสันทนาการอย่างเกินขนาด มีข้อปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างไร 

 

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ถ้ารู้ว่าผิดต้องหยุดใช้ การเสพติดอาจจะไม่รุนแรง การหยุดสามารถทำได้ ส่วนตัวยังถือว่าเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง ถ้าใช้ต่อเนื่องจะมีคนกลุ่มหนึ่งหยุดใช้ได้ยากหรือรู้สึกอยากใช้ต่อเนื่อง ซึ่งต้องแยกกันระหว่างการติดยากับการใช้เพื่อสันทนาการ ปัญหาคือ เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าสันทนาการจะกลายเป็นติดยาแล้วเกิดผลกระทบชีวิตเขาเมื่อไร 

 

การใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์มีชัดเจน แต่ข้อบ่งชี้ที่ไม่ชัดเจน เช่น กรณีนอนไม่หลับ เครียด ปวดศีรษะ ใช้กัญชาแล้วรู้สึกตอบสนองดีกับการใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ผมคิดว่าอันนี้เป็นกึ่งข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง ใช้สารที่คุณภาพดี ในมุมมองทางการแพทย์ แต่ในแง่สันทนาการคือใช้เพื่อให้มีความสุข ไปปาร์ตี้ ซึ่งขณะนี้ต้องเรียนว่าแม้กระทั่งนโยบายของกระทรวงเองก็ไม่สนับสนุนในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งถ้าคุมไม่ได้จะกลายเป็นปัญหาในอนาคต ณ เวลานี้    

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงปัญหาผู้ใช้ที่มีอาการจนต้องเข้าโรงพยาบาล

 

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า เรื่องความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชา การดูดซึมหลังการกินใช้เวลาครึ่งชั่วโมง จะไม่ออกฤทธิ์เร็วเหมือนการสูบ ดังนั้นจึงมีกรณีกินไป 1 หยดยังเฉยๆ จึงกินไปเรื่อยๆ สุดท้ายไปมีผลพร้อมกัน มีอาการรุนแรง นี่เป็นเรื่ององค์ความรู้ ใช้ผิดประเภท ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเกิดผลเสียได้

 

นพ.ฉันชาย กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ. ของ อย. มีกำหนดไว้ชัดเจน ไม่ให้เอาช่อดอกมาปรุงอาหาร แต่ตอนนี้ก็ไม่ทราบว่า อย. สรุปว่าอย่างไรเมื่อไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว ขณะที่ถ้าดูตามกฎเดิมจะเขียนว่าห้ามใช้ช่อดอก เพราะแรง ต้องระวังช่อดอก กฎหมายปัจจุบันห้ามเอาช่อดอกมาผสม แต่ไม่ได้ห้ามเอาช่อดอกมาสูบ ยังไม่มีการห้าม ซึ่งเป็นช่องโหว่อย่างหนึ่งที่มีความกังวล นอกจากนั้น อย. มีกฎว่าต้องไม่เกินเท่าไร แต่จะบังคับใช้อย่างไร อย. มีความสามารถจะไปตรวจหรือไม่ 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า จะกลายเป็นปัญหาที่ทำให้หมอและพยาบาลทำงานหนักหรือไม่ 

 

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ส่วนตัวมีความกังวล เมื่อมีคนปลูกเยอะ ก็จะมีความพยายามให้มีการนำไปใช้เยอะ ขณะที่ควรใช้ในปริมาณน้อย ในก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ใส่ได้ 1 ใบ ส่วนช่อดอกห้ามใช้เลย แล้วกินสดได้ปริมาณสารไม่มาก แต่ถ้าโดนความร้อน โดนน้ำมัน จะมีสารปริมาณเยอะ ต้องใช้ใบในปริมาณไม่เยอะ

 

นอกจากนั้นมีความกังวลกรณีมีความเชื่อว่า เมื่อสูบกัญชาผ่านน้ำจะทำให้สารพิษลดลง ปลอดภัยขึ้น ซึ่งความจริงแล้วการสูบผ่านน้ำจะทำให้คนสูบรู้สึกสูบง่ายขึ้น เพราะไอจะเย็นขึ้น แล้วทำให้คนสูบมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่จริงๆ ไม่ได้ลดสารพิษเท่าไร ดังนั้นส่วนตัวแนะนำไม่ให้สูบ

 

ส่วน พ.ร.บ. ที่กำลังจะออกมาควรจะเป็นอย่างไร นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ต้องระวังผู้ซึ่งมีโอกาสจะได้รับผลกระทบสูง เช่น เด็ก ต้องไม่ให้เข้าถึง ต้องป้องกันเขา แล้วก็ทำอย่างไรให้การใช้ถูกต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ จะเป็นสันทนาการหรือไม่ต้องตกลงกัน ต้องให้นิยามให้ดี ถ้าจะใช้ต้องเป็นกัญชาที่มีคุณภาพ รู้ปริมาณแน่นอน ใช้ได้อย่างเหมาะสม ทำทุกอย่างให้ชัดเจน มีการตรวจสอบคุณภาพ เรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจอยากให้มองเป็นประเด็นรอง ถ้าเราผ่านทุกข้อแล้วเกิดผลทางเศรษฐกิจที่ดีถึงจะโอเค

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X