วันนี้ (13 กันยายน) มีรายงานว่า ฉลอง ภักดีวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับและผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2556 เสียชีวิตอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริรวมอายุ 93 ปี
สำหรับ ฉลอง ภักดีวิจิตร หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อาหลอง’ เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2474 เป็นผู้กำกับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ชาวไทย มีฉายาที่วงการภาพยนตร์ขนานนามให้คือ ‘เจ้าพ่อหนังแอ็กชัน’ โดยมีผลงานการกำกับละครและภาพยนตร์อันเป็นที่นิยมมากมาย เช่น ทอง, ระย้า, อังกอร์, เสาร์ 5, เหล็กไหล, นักฆ่าขนตางอน และ เลือดเจ้าพระยา เป็นต้น
ในยุคแรก ชื่อของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ถูกปักแน่นไว้ด้วยงานภาพยนตร์แอ็กชันสุดอลังการ ดุเดือดไปด้วยกระสุนปืน มอดไหม้ไปด้วยระเบิด และตราตรึงไปด้วยงานออกแบบฉากแอ็กชันที่ทั้งแปลกใหม่และล้ำสมัย ฉลองได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการนำเข้าดาราต่างชาติมาร่วมสร้างสีสันประกบกับดาราชั้นนำของไทยจนกลายเป็นเอกลักษณ์ ผลงานสร้างชื่อในยุคนั้นอย่าง ทอง 1-4 (2516, 2525, 2531 และ 2533 ) ตัดเหลี่ยมเพชร (2518) และ 2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (2515)
ในเวลาต่อมาเป็นที่จดจำในฐานะผู้กำกับที่มักจะนำภาพยนตร์ไทยบินข้ามฟ้าไปโกอินเตอร์ จึงจำเป็นต้องหาจุดเด่นในระดับสากล และมักจะเรียกใช้บริการจากนักแสดงต่างประเทศอยู่เป็นประจำ โดยในปี 2515 เมื่อฉลองจับมือกับชอว์บราเดอร์พา เกาหย่วน พระเอกฮ่องกงชื่อดังบินมาทาบรัศมีกับ สมบัติ เมทะนี ใน 2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (The Brothers) ภาพยนตร์ออกฉายไปทั่วเอเชีย และข้ามโลกไปฉายไกลถึงนิวยอร์ก, ซานฟรานซิสโก, ชิคาโก และลอสแอนเจลิส
ต่อมาใน ทอง ภาค 1 (GOLD หรือ S.T.A.B) ฉลองลงทุนบินไปถึงสหรัฐอเมริกาเพื่อชักชวน เกร็ก มอร์ริส พระเอกผิวหมึกที่กำลังโด่งดังสุดขีดจากซีรีส์ ขบวนการพยัคฆ์ร้าย (Mission Impossible) เพื่อร่วมแสดงกับ สมบัติ เมทะนี ร่วมด้วย กรุง ศรีวิไล ที่จะได้ประกบคู่กับ มิส เถิ่ม ถุย หั่ง นางเอกสาวจากเวียดนาม ทอง โด่งดังเป็นอย่างมากและถือเป็นภาพยนตร์สร้างชื่อให้กับฉลอง ไม่เพียงเท่านั้น ฉลองยังเคยพา โอลิเวีย ฮัสซีย์ นักแสดงสาวที่โด่งดังจากภาพยนตร์ โรมิโอกับจูเลียต ฉลองไม่รอช้า เขารีบพาตัวเธอมารับบทนำในภาพยนตร์ ตัดเหลี่ยมเพชร (H-Bomb) ประกบกับ คริสโตเฟอร์ มิทซัม นักแสดงชาวอเมริกัน
กระทั่งถึงยุคที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของฉลอง ในช่วงที่วงการภาพยนตร์ไทยเสื่อมความนิยม ฉลองหันเหตัวเองสู่งานละครโทรทัศน์ และร่วมกับช่อง 7 บุกเบิกละครบู๊แอ็กชันลงจอแก้ว และแม้จะลดขนาดโปรดักชันลง แต่ชายชื่อฉลองก็ยังคงสไตล์เฉพาะตัวจนเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งยุคที่ฝากงานละครดังเรตติ้งสูงไว้มากมายด้วยผลงานอาทิ ระย้า (2541) อังกอร์ (2543) เหล็กไหล (2549) ชุมแพ (2550) ทอง 9 (2551) และ เสาร์ 5 (2552)
นอกจากนี้ ฉลอง ภักดีวิจิตร ยังได้ถูกบันทึกลงใน Guinness World Records ไว้ว่าเป็นผู้กำกับการแสดงที่มีอายุมากที่สุดในโลก (Oldest TV Director) โดยมีอายุ ณ วันที่จดบันทึกถึง 90 ปี
THE STANDARD POP ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ไว้ ณ ที่นี้