×

จาก ‘อีสา’ ถึง ‘หม่อมลูกปลา’ เธอคือซินเดอเรลลา หรือเป็นแค่ ‘เหยื่อ’

23.02.2021
  • LOADING...
จาก ‘อีสา’ ถึง ‘หม่อมลูกปลา’ เธอคือซินเดอเรลลา หรือเป็นแค่ ‘เหยื่อ’

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับฉายา ‘ซินเดอเรลลาตกสวรรค์’ เพราะหม่อมลูกปลาไม่ใช่ซินเดอเรลลา แต่เธอคือเหยื่อของมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมที่บิดเบี้ยว และถ้าการที่เด็กสาวอายุ 12 ปี ต้องทำหน้าที่เป็นภรรยาของผู้เลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก เราคงต้องมานิยามคำว่าสวรรค์กันใหม่ทั้งหมด 
  • เรื่องราวใน อีสา รวีช่วงโชติ เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่เรื่องของหม่อมลูกปลาเกิดขึ้นในยุค 90 มันสะท้อนว่าสังคมไทยของเราแทบจะไม่ได้พัฒนาเลย   

พอเห็นข่าวหม่อมลูกปลากลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ทำให้ผู้เขียนนึกถึงตัวละคร ‘อีสา’ จากละครเรื่อง อีสา รวีช่วงโชติ ขึ้นมาทันที เพราะผู้หญิงในโลกจริงและโลกละคร สองคนนี้มีอะไรที่เหมือนกันหลายอย่าง ทั้งกราฟชีวิตขึ้นสุดลงสุดเหมือนรถไฟเหาะ ได้ใช้ชีวิตคู่กับชายสูงวัยผู้สูงศักดิ์ และมีช่วงชีวิตหนึ่งได้อยู่สุขสบายราวกับ ‘ซินเดอเรลลา’ แต่แน่ใจแล้วเหรอว่านั่นคือชีวิตแบบซินเดอเรลลาที่ใครๆ ก็อยากเป็น? 

 

อีสา รวีช่วงโชติ เป็นบทประพันธ์ของสีฟ้าในยุคของการเปลี่ยนแปลงผ่านเรื่องราวชีวิตของ า หรือ อุษา ลูกทาสที่เกิดและโตในวังของ หม่อมเจ้าโชติช่วงระวี รวีวาร ที่แม้จะมีการเลิกทาสแล้ว แต่ก็มีทาสหลายคนยังสมัครใจอาศัยใบบุญเพราะไม่มีที่ไป สาเป็นเด็กกำพร้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของป้าเจิม อดีตทาสที่อาวุโสสูงสุดในวัง พออายุได้ 12 ปี ป้าเจิมก็พาไปฝากตัวไว้กับ หม่อมนิ่ม หม่อมน้อย ให้ช่วยขัดเกลากิริยามารยาทและยังได้หัดรำละครอีกด้วย เมื่ออายุได้ 16 ปี ก็ได้ถวายตัวให้กับท่านชาย จนกระทั่งสาตั้งท้องและคลอดลูกชาย ซึ่งเป็นลูกชายคนแรกและคนเดียวของท่านชาย หม่อมพริ้ม ซึ่งเป็นหม่อมใหญ่ก็เอาลูกของเธอเลี้ยงดู ผ่านไปไม่นานท่านชายก็เสียชีวิต หลังจากที่สา ’ถวายงาน’ ฐานะในวังของสาก็มีอันตกต่ำ ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงกินผัว จากนั้นสาก็พาลูกสาวของหม่อมพริ้มหนีตามผู้ชาย ออกไปหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนางเอกละคร ต่อมาก็แอบเป็นชู้กับผู้ชายคนนั้น กลายเป็นโศกนาฏกรรมทำให้ชีวิตพลิกผันอีกครั้ง สาได้ใช้ชีวิตคู่กับผู้ชายอีกสามคน หนึ่งในนั้นเป็นชายชาวญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้เธอกลายเป็นคนมั่งมีจนเป็นเจ้าของสถานบันเทิงพร้อมกับชื่อเสียงอันฉาวโฉ่ วงเวียนชีวิตทำให้สาได้กลับมาพบกับลูกชายอีกครั้ง แต่โชคชะตาก็เล่นตลกให้ต้องติดคุก และสุดท้ายลูกแท้ๆ กลับไม่รู้ว่าเธอเป็นแม่ด้วยซ้ำ ชีวิตดาร์กๆ ของตัวละครหญิงสีเทาๆ นี้มีเสน่ห์ ขนาดที่ถูกนำมาสร้างแล้วถึง 6 ครั้ง ที่ดังสุดๆ ขอยกให้กับเวอร์ชันหลังๆ ทั้งของแก้ว-อภิรดี ภวภูตานนท์ (2531), ต้อม-รชนีกร พันธ์ุมณี (2541) และนุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี (2556) 

 

เครดิตภาพจากละครเรื่อง อีสา รวีช่วงโชติ

 

มาถึง ‘อีสา’ ในเวอร์ชันชีวิตจริง หรือหม่อมลูกปลา-โชติกา ขวัญฐิติ หรือชื่อในอดีต หม่อมชลาศัย ยุคล ณ อยุธยา เธอถูกพ่อแม่ทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตั้งแต่อายุได้เพียง 2 เดือน ท่านหญิงอ๋อย-หม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล ก็รับมาเลี้ยงดูจนอายุได้ 4 ปี ก็ยกให้กับท่านชายกบ-หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ผู้เป็นพี่ชายรับไปเลี้ยงดูเหมือนลูกสาวคนหนึ่ง จนกระทั่งปี 2537 ก็เกิดข่าวฮือฮาในแวดวงสังคม เมื่อท่านชายกบในวัย 58 ปี เสกสมรสกับหม่อมลูกปลา ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 22 ปี ซึ่งความจริงแล้วหม่อมลูกปลาเป็นภรรยาลับของท่านชายกบมาตั้งแต่อายุ 12 ปีแล้ว การแต่งงานในครั้งนี้เป็นเพียงการเอาชนะของทั้งคู่ โดยท่านชายกบอยากทำให้หม่อมลูกปลาเลิกเที่ยว และหม่อมลูกปลาเองก็อยากเอาชนะหม่อมคนอื่นๆ ชีวิตในช่วงนั้นของหม่อมลูกปลาดูหรูหราฟู่ฟ่า ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนม บินไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น คล้อยหลังไปเพียง 1 ปี ท่านกบก็สิ้นชีพิตักษัยเพราะถูกวางยาพิษ หม่อมลูกปลาตกเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง ต้องระเห็จออกจากวังอัศวิน ไปใช้ชีวิตกับคนรักที่เป็นชายขายเกาลัด แต่สุดท้ายก็เลิกรากันจนได้พบกับสามีคนปัจจุบัน ในช่วงที่คดีความถึงที่สุดถูกตัดสินจำคุก และคลอดลูกสาวในเรือนจำ จนกระทั่งพ้นโทษในปี 2558 

 

ถึงจะไม่ใช่ดารานักแสดง แต่ชื่อของ ‘หม่อมลูกปลา’ เป็นต้องปรากฏในหน้าสื่อมวลชนทุกๆ 5-10 ปี ในฐานะตำนาน ‘ซินเดอเรลลาตกสวรรค์’ ทั้งที่เรื่องที่ทำให้เธอกลายเป็นคนดังก็ผ่านมาแล้วตั้ง 27 ปี ผู้เขียนเองก็ได้ติดตามชีวิตของหม่อมลูกปลามาตั้งแต่ตัวเองอายุแค่ 16 ปี ได้เห็นหม่อมลูกปลาใส่เสื้อยืดแบรนด์เนมอันเป็นที่หมายปองของวัยรุ่นยุค 90 อย่างข้าพเจ้า จนกระทั่งสวมชุดซอมซ่อเป็นแม่ค้าขายไก่ย่าง 5 ดาวบ้าง เป็นแม่ค้าขายหมูในตลาดบ้าง และล่าสุดก็รับงานเป็นนักแสดงในคลิปวิดีโอ Social Experiment ที่กลายเป็นกระแสว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้หญิง และตอกย้ำมุมมองเกี่ยวกับ Beauty Standard อันคับแคบ 

 

เครดิตภาพจากช่อง DOM ใน YouTube 

 

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับฉายา ‘ซินเดอเรลลาตกสวรรค์’ เพราะหม่อมลูกปลาไม่ใช่ซินเดอเรลลา แต่เธอคือเหยื่อของมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมที่บิดเบี้ยว และถ้าการที่เด็กสาวอายุ 12 ปี ต้องทำหน้าที่เป็นภรรยาของผู้เลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก เราคงต้องมานิยามคำว่าสวรรค์กันใหม่ทั้งหมด เรื่องราวใน อีสา รวีช่วงโชติ เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่เรื่องของหม่อมลูกปลาเกิดขึ้นในยุค 90 มันสะท้อนว่าสังคมไทยของเราแทบจะไม่ได้พัฒนาเลย   

 

มาถึงปี 2021 มีคนหยิบยื่นโอกาสให้หม่อมลูกปลามีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการเป็นพรีเซนเตอร์อาหารเสริมยี่ห้อหนึ่งในคลิปทาง YouTube ทุกอย่างเหมือนจะดูดี ผิดที่การเล่าเรื่องที่ดูตื้นเขินเกินไป สารภาพตามตรงว่าผู้เขียนดูวิดีโอไม่ทันจบคลิป ขอหยุดลงตรงที่มีคนพูดต่อว่าหม่อมลูกปลาว่า “ทุเรศมากป้า” คือคนพูดก็ไม่ผิด แต่คนที่ทุเรศจริงๆ คือคนที่คิดคอนเทนต์แบบนี้ ในยุคที่ใครๆ ก็พูดถึงเรื่องความงามที่หลากหลาย ซึ่งก็เป็นคนรุ่นใหม่วัยไม่น่าจะเกิน 30 ปี ที่น่าจะได้ซึมซับทัศนคติใหม่ๆ ของโลกปัจจุบันมาบ้าง แต่ก็ยังทำคอนเทนต์แบบนี้ออกมาได้ นี่สะท้อนว่าหนทางการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยยังอีกยาวไกล และเป็นอีกครั้งที่หม่อมลูกปลาต้องกลายเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ถูกลดทอนคุณค่าในตัวเองไปกับงาน เพื่อแลกเงินชดใช้หนี้สินที่เกิดขึ้นจากคดีความ และหาเลี้ยงครอบครัว

ในละครเรื่อง อีสา รวีช่วงโชติ ชีวิตของ ‘อีสา’ ยังมีขึ้นบ้างลงบ้าง แต่ในชีวิตของ ‘หม่อมลูกปลา’ ดูเหมือนจะยังไม่มีจังหวะขึ้นกับเขาเลย มันเหมือนได้ดูละครรีรันชีวิตเศร้าๆ ซ้ำไปซ้ำมา ละครเรื่อง อีสา รวีช่วงโชติ ช่วงรีเมกอีกเป็นครั้งที่ 7, 8, 9 ก็ได้แต่ชีวิตแบบหม่อมลูกปลา ขออย่าให้ไปรีเมกในชีวิตของเด็กหรือผู้หญิงคนไหนอีกเลย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising