×

76 ปี จักรพันธุ์ โปษยกฤต นายช่างเอกในรอบ 200 ปีรัตนโกสินทร์ จากการวาดเล่นตามใจคิดสู่งานศิลปะที่เป็นอกาลิโก

14.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินวัย 76 ปีที่ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและศิลปะร่วมสมัย ผู้ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2543 และ 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
  • หลังจบจากคณะจิตรกรรมและประติมากรรมในปี 2510 อาจารย์จักรพันธุ์ในวัย 24 ปีก็เข้าทำงานเป็นครูพิเศษสอนวิชาวิจัยศิลปะไทย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะสมัครสอบเข้าเป็นช่างเขียนซ่อมจิตรกรรมฝาผนังรอบระเบียงวัดพระแก้ว
  • ครูชื้นได้ขายหุ่นกระบอกที่เป็นตัวเอกทุกครั้งของคณะให้อาจารย์จักรพันธุ์ ซึ่งเป็นหุ่นกระบอกที่สร้างตั้งแต่ปี 2442 หุ่นกระบอกของคณะจักรพันธุ์ โปษยกฤต จึงเป็นการสืบทอดศิลปะแขนงนี้โดยตรง

“การชอบเขียนรูปทำให้สร้างโลกของตนเองขึ้นมาได้ตามใจปรารถนาประสาเด็ก ไปดูโขนละครตอนไหนเรื่องไหนมาก็เห่อเขียนเรื่องนั้นตอนนั้น”

 

คำพูดข้างต้นเป็นความรู้สึกเมื่อครั้งยังเป็นเด็กของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินวัย 76 ปีที่ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและศิลปะร่วมสมัย ผู้ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2543 และ 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

ตลอดระยะกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ความเป็น ‘นายช่าง’ ของอาจารย์จักรพันธุ์ถูกถ่ายทอดผ่านงานศิลปะหลากรูปแบบ ทั้งความอ่อนช้อยในลายเส้นและความสมจริงของภาพวาดที่ทำให้รู้สึกราวกับว่าภาพนั้นมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนของบุคคลหรือภาพตัวละครในวรรณคดี ความละเอียดแม่นยำของงานจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ ความยิ่งใหญ่ของงานประติมากรรมขนาดเท่าคนจริง ความงดงามในทุกรายละเอียดของงานซ่อมแซม และงานสร้างหุ่นกระบอกที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในประเทศไทย กระทั่งความเป็นนักเล่าเรื่องที่เล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานศิลปะได้อย่างน่าสนใจจนเรียกได้ว่าเป็นนักเขียนในตำนานอีกคนหนึ่ง

 

ภาพรัดเกล้ายอดและภาพคลองตะเคียน

 

ความคิดสร้างสรรค์ที่แตกแขนงออกไปเป็นงานศิลปะต่างๆ เริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเด็กสมัยก่อนไม่มีของเล่นมากเหมือนเด็กปัจจุบัน และของเล่นที่มีก็ไม่ใช่ของที่ชอบเล่น จึงทำให้เด็กชายจักรพันธุ์ในตอนนั้นสนุกกับการใช้ทักษะทางด้านศิลปะทำเรื่องสนุกและของเล่นที่ตัวเองชอบขึ้นมาเอง โดยใช้เพียงดินสอดำธรรมดา กระดาษขาว สีไม้ สีน้ำ หรือสีเทียนตามแต่จะหาได้ ตั้งแต่ก่อนถึงวัยที่จะรู้จักคำว่าศิลปะเสียอีก

 

โดยเมื่อครั้งอาจารย์จักรพันธุ์ยังเป็นนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย การเรียนการสอนวิชาวาดเขียนระดับประถมในยุคนั้นมีเพียงสัปดาห์ละหน ครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมง โดยครูจะใช้ชอล์กเขียนรูปผลไม้หรือดอกไม้บนกระดานดำแล้วให้นักเรียนลอก มีคะแนนให้ 10 คะแนน แต่โรงเรียนมีธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการวาดรูปของอาจารย์จักรพันธุ์อย่างมาก นั่นคือประเพณีในการพานักเรียนทั้งโรงเรียนไปดูโขนละครของกรมศิลปากรทุกปี

 

อาจารย์จักรพันธุ์ยังจำได้ว่าเมื่อครั้งเป็นเด็กชั้นประถม 2 โรงเรียนพาไปดูละครเรื่อง อิเหนา ตอน ประสันตาต่อนก ซึ่งสร้างความประทับใจให้เด็กคนหนึ่งอย่างมากจนกลับมาเขียนรูปตัวละครใส่ชฎาและทำม้ากระดาษแข็งเอาไว้เล่นตามเรื่องราวในละครตอนที่ได้ดูมา

 

นอกจากเขียนภาพตัวละครที่ได้เห็นจากโขนละครแล้ว อาจารย์จักรพันธุ์ยังชอบเขียนรูปตัวละครในวรรณคดีโดยดูแบบจากรูปยาซิกาแรตที่แถมมาในซองบุหรี่ตรานกอินทรีย์กางปีก มีทั้งเรื่องพระอภัยมณี, รามเกียรติ์, สังข์ทอง, อิเหนา, ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีหนังสือจิตรกรรมไทยพิมพ์ออกมาขายให้วาดตามอย่างสักเท่าไร จึงต้องอาศัยรูปจากซองบุหรี่ที่มีผู้ใหญ่สะสมไว้มาเป็นแบบ

 

ส่วนการเขียนภาพสีน้ำมันซึ่งเป็นเทคนิคที่อาจารย์จักรพันธุ์ใช้กับผลงานส่วนใหญ่เมื่อเป็นช่างเขียนภาพเต็มเวลา กว่าจะได้ฝึกหัดอย่างจริงจังก็ตอนขึ้นชั้นมัธยมปลาย โดยเน้นวาดจากคนหรือของจริงๆ และหากเป็นภาพทิวทัศน์ก็เลือกวาดเอาจากมุมต่างๆ ในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

 

“นึกถึงสมัยเป็นเด็กวชิราวุธ ตั้งแต่เล็กจนโต โรงเรียนได้วางรากฐานวิชาช่าง ปลูกฝังรสนิยมสิ่งแวดล้อม ตลอดจนระเบียบวินัยประเพณีอันดีงามให้แก่ข้าพเจ้าอย่างไม่รู้ตัว”

 

ภาพดอกบัวและภาพนางอัปสรเล่นพิณ

 

นอกจากวาดเขียนแล้ว วิชาปั้นหรือที่เด็กวชิราวุธเรียกกันเต็มยศว่า ‘วิชาปั้นดิน’ ที่สอนกันในโรงเรียนเวลานั้นเป็นอีกสิ่งที่กลายมาเป็นพื้นฐานหุ่นกระบอกของอาจารย์จักรพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องความสวยงาม เพราะอาศัยการทำงานอย่างละเอียดอ่อนตั้งแต่การปั้นขึ้นรูปหัวหุ่น ปั้นเครื่องประดับ และการเขียนใบหน้าของหุ่นที่สวยงามตามอย่างงานจิตรกรรม โดยแม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่อาจารย์ก็ยังจำความรู้สึกสนุกจนต้องตั้งตารอคอยเวลานี้ทุกสัปดาห์ได้

 

“ข้าพเจ้าชอบวิชาปั้นดิน ซึ่งมีเพียงอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละสองชั่วโมง ตั้งแต่บ่ายสองไปจนถึงสี่โมง พอถึงสี่โมงก็จะมีระฆังเรียกให้เด็กไปเข้าแถวเพื่อแยกย้ายไปเล่นกีฬาต่างๆ เป็นประจำวัน ชั่วโมงปั้นดินอันแสนสนุกจะสิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น ต้องรอไปต่ออาทิตย์หน้าถึงจะได้เริ่มสนุกใหม่

 

“ที่วชิราวุธ เด็กจะไม่ปั้นของใหญ่โตมโหฬารเกินระยะแป้นไม้ที่มีประจำตัวให้บนโต๊ะ ข้าพเจ้าจะยินดีปรีดาถ้าบางทีครูกำหนดให้ปั้นรูปคนแทนที่จะให้ปั้นเป็นสัตว์ จำได้ว่าเคยปั้นเป็นคู่ระบำชายหญิงกำลังเต้นบัลเลต์ ฝ่ายหญิงยกขาชี้เด่ไปด้านหลังอย่างนางระบำบัลเลต์ทั้งหลายที่จำๆ มาจากรูปที่เคยเห็น”

 

นอกจากโรงเรียนแล้ว ครอบครัวก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการบ่มเพาะความรักในเรื่องศิลปะของอาจารย์จักรพันธุ์มาตั้งแต่เด็ก โดยเป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งกำลังใจและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสี กระดาษ พู่กันขนาดต่างๆ หนังสือเกี่ยวกับการเขียนรูป แม้กระทั่งหนังสือฝรั่งที่มีภาพประกอบเป็นรูปเขียนงดงามก็ยินดีซื้อมาให้ พาไปหาช่างเขียนภาพที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นอีกหลายคน และพาไปชมงานแสดงศิลปกรรมที่สมัยนั้นยังไม่ได้จัดการบ่อยๆ เหมือนสมัยนี้ ซึ่งประสบการณ์ที่ได้เห็นในช่วงวัยนั้นส่งผลต่อการทำงานของอาจารย์จักรพันธุ์มากระทั่งทุกวันนี้

 

“ไปทุกครั้งผู้ใหญ่ก็จะซื้อสูจิบัตรให้หนึ่งเล่ม ข้าพเจ้าดูแล้วดูอีก อยากเขียนรูปได้อย่างที่เห็น และคงจะอยากเป็นช่างเขียน ไม่อยากเป็นอื่นนอกไปจากนี้”

 

ภาพล่าสุดที่อาจารย์จักรพันธุ์วาด โดยใช้มือซ้าย

 

เมื่อเรียนจบจากวชิราวุธวิทยาลัยด้วยการรู้ใจ รู้ความชอบ และรู้ความถนัดของตัวเอง อาจารย์จักรพันธุ์จึงสมัครสอบเข้าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถานศึกษาที่ทำให้ได้เปิดโลกใหม่ เพราะได้ทำทั้งสิ่งที่ชอบ พร้อมกับทดลองทำหลายเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน

 

หนึ่งในวิชาหลักที่เด็กจิตรกรรมยุคนั้นต้องเรียนคือวิชาวาดเส้น เป็นวิชาเอกที่ต้องเรียนตลอด 5 ปี วาดตั้งแต่ภาพเหมือนของโครงกระดูกมนุษย์และรูปกล้ามเนื้อที่หล่อจากปูนปลาสเตอร์ ซึ่งอาจารย์บอกว่า “ต้องท่องจำรู้จักกระดูก-กล้ามเนื้อทุกชิ้นให้ได้ราวกับเรียนหมอ” เขียนภาพคนทั้งตัวและเน้นเฉพาะหัว เขียนภาพสัตว์ต่างๆ เมื่อชำนาญขึ้นก็ต้องขยับไปวาดภาพที่ตลาด ซึ่งมีผู้คนขวักไขว่และเคลื่อนไหวไปมาตลอด เป็นบทเรียนที่ช่วยฝึกความรวดเร็วฉับไว รู้ว่าเมื่อใดควรจะเขียนต่อและควรจะหยุด

 

ช่วงขึ้นปี 3 เป็นต้นมา นอกจากเขียนภาพนอกสถานที่แล้วยังต้องฝึกเขียนรูปเปลือยทั้งตัวโดยใช้สีน้ำมัน อาจารย์จักรพันธุ์เล่าถึงการเขียนรูปเปลือยไว้ว่าต่างจากภาพที่คนนอกจินตนาการกันโดยสิ้นเชิง เพราะคนที่มาเป็นแบบนั้นส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่เด็กรุ่นๆ ที่รูปร่างยังไม่โตเต็มที่ก็เป็นป้าๆ ที่คุ้นหน้าคุ้นตากัน เพราะขายน้ำขายข้าวอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย

 

“ไอ้อย่างทัดดอกจำปาติดไม่ยอมตก เห็นจะมีอยู่แต่ในความฝันของกวีหนุ่มช่างพรรณนาหรือกระไร (ถ้าทัดโลงจำปาพอหาได้) นานๆ จึงจะมีคนนอกพลัดผลูเข้ามานั่งแก้ผ้าให้ดูเสียที ถือว่าเป็นเรื่องตื่นเต้นเหลือเกินถ้าเผอิญบังเอิญเกิด”

 

ถึงจะพูดเรื่องนี้แบบติดตลก แต่อาจารย์จักรพันธุ์เคารพทุกคนที่เป็นแบบเปลือยมาก เพราะทุกคนมีส่วนทำให้ช่างเขียนทั้งหลายได้เรียนรู้และฝึกฝนฝีมือจนยกให้เป็นครูของบรรดานักเรียนศิลปะในทางหนึ่ง

 

ภาพพระแม่คงคาและภาพพระลอเสี่ยงน้ำ

 

นอกจากภาพผู้คนแล้ว เด็กจิตรกรรมจะต้องถูกฝึกให้เขียนภาพทิวทัศน์ หรือที่เรียกกันว่าแลนด์สเคป ตั้งแต่ปีแรกจนปีสุดท้าย นักศึกษาจึงตระเวนหาสถานที่เขียนภาพ บางครั้งก็เป็นวัด บางทีก็เป็นย่านค้าขายที่มีร้านค้ามากมายให้เขียน

 

ความหลงใหลในลายไทยที่อาจารย์จักรพันธุ์นำมาใช้กับผลงานจิตรกรรมในภายหลังนั้นสะสมเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะอาจารย์จักรพันธ์ุมักจะเลือกวาดภาพตามวัด ด้วยเห็นความงามที่ซ่อนอยู่ในบรรยากาศที่เงียบสงบของวัดเก่าๆ

 

หากเป็นที่อื่นที่ไม่ใช่วัด ความงามที่ดึงดูดใจให้อาจารย์จักรพันธุ์อยากเขียนภาพแลนด์สเคปบ่อยครั้งมาจากลายปูนปั้นและลวดบัวที่มีตะไคร่จับ แต่มีสีสันและน้ำหนักที่ชวนให้อยากเขียน ทั้งยังมีร่องรอยของเรื่องราวอันยาวนาน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเขียนภาพนอกสถานที่ สิ่งที่ตามมาก็คือไทยมุง ซึ่งอาจารย์จักรพันธุ์เคยเล่าถึงบรรยากาศน่ารักๆ และเรื่องที่ยังจำได้จนถึงตอนนี้ว่า “เรื่องไทยมุงหรือจีนมุงนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเจอะ ไม่มุงมากก็มุงน้อย แต่ไม่มุงอยู่นานเนิ่นตลอด ดูๆ อยู่สักประเดี๋ยวก็เลิกราไป บางครั้งเจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องแถวแถวนั้นอาจนึกเอ็นดู เอาน้ำมาให้ดื่ม เป็นจำพวกชาร้อน หรือไม่ก็น้ำแข็งเปล่าใส่น้ำชาธรรมดาๆ แต่ไม่ถึงกับชวนให้กินข้าวด้วย ก็ของรับประทานแถวทรงวาด-ราชวงศ์ออกถมเถ”

 

ภาพเรือ, 2516 และภาพจับกังแบกกระสอบ เยาวราช ราชวงศ์

 

หลังจบจากคณะจิตรกรรมและประติมากรรมในปี 2510 อาจารย์จักรพันธุ์ในวัย 24 ปีก็เข้าทำงานเป็นครูพิเศษสอนวิชาวิจัยศิลปะไทย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะสมัครสอบเข้าเป็นช่างเขียนซ่อมจิตรกรรมฝาผนังรอบระเบียงวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นการเปิดให้สอบเข้าเป็นรุ่นแรกในรอบกว่า 30 ปี หลังจากว่างเว้นไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ทั้งสองงานนี้คืองานแรกๆ ในชีวิตการทำงานของนายช่างเอก

 

ตลอดช่วงไม่กี่ปีนั้นยังเป็นช่วงที่อาจารย์จักรพันธุ์ส่งภาพเขียนเข้าประกวดและได้รับรางวัลจากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติแทบทุกปี จนทำให้ชื่อเสียงในฐานะนักเขียนภาพที่มีลายเส้นอ่อนช้อยเป็นเอกลักษณ์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแวดวงคนทำงานศิลปะและคนที่สนใจผลงานด้านนี้

 

กระทั่งปี 2517 อาจารย์จักรพันธุ์ได้มีโอกาสรู้จักกับ ครูชื้น สกุลแก้ว เจ้าของคณะหุ่นกระบอกนายเปียก ซึ่งตัวอาจารย์เองเคยได้ดูเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนและประทับใจจนกลับมาหัดทำหุ่นกระบอกเล่นเองจากเปลือกหอยบ้าง เปลือกไข่บ้าง ด้ามพู่กันที่เสียแล้วบ้าง

 

เมื่อครูชื้นเห็นว่าอาจารย์จักรพันธุ์สนใจหุ่นกระบอกอย่างจริงจังจึงได้ขายหัวหุ่นกระบอกเก่าให้ พร้อมกับถ่ายทอดศิลปะการเชิดหุ่นไปด้วยกัน อาจารย์จักรพันธุ์จึงนำหัวของหุ่นกระบอกเหล่านั้นมาซ่อมแซมและสร้างตัวหุ่นที่ยังขาดอยู่จนครบพอจะแสดงเป็นเรื่องได้ จนกลายเป็นที่มาของหุ่นกระบอกสมัครเล่นคณะจักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งเปิดแสดงครั้งแรกเรื่อง พระอภัยมณี ตอน หนีนางผีเสื้อ ที่โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) เมื่อปี 2518

 

ในการแสดงครั้งนั้นทำให้อาจารย์จักรพันธุ์ได้รู้จักกับเจ้าของหุ่นกระบอกคณะชูเชิดชำนาญศิลป์แห่งอัมพวา จึงได้เรียนรู้วิชาเชิดหุ่นจากคณะนั้นอีกทางหนึ่ง

 

 

ในปีถัดมา ครูชื้นได้ขายหุ่นกระบอกที่เป็นตัวเอกทุกครั้งของคณะให้อาจารย์จักรพันธุ์ ซึ่งเป็นหุ่นกระบอกที่สร้างตั้งแต่ปี 2442 หุ่นกระบอกของคณะจักรพันธุ์ โปษยกฤต จึงเป็นการสืบทอดศิลปะแขนงนี้โดยตรง และหลังจากนั้นก็ได้เปิดการแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน นางลอย เป็นเรื่องที่สองก่อนจะเว้นช่วงไปอีกร่วม 10 ปีเพื่อสร้างหุ่นจีนสำหรับใช้ในเรื่อง สามก๊ก ตอน โจโฉแตกทัพ และนำออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2532

 

“ตัวหุ่นจะสวมเครื่องแต่งกายแบบนาฏศิลป์จีนโบราณ สวยงาม ประณีต ละเอียดลออด้วยงานฝีมือประณีตศิลป์ขั้นสูง โดยมี ครูเยื้อน ภาณุทัต ปรมาจารย์ทางงานประณีตศิลป์ผู้ชำนาญศิลปะนี้ โดยรับทอดความรู้จากวังหลวงในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการปักดิ้น เลื่อม ไหมทอง ทองแล่ง ตลอดจนวิชาการปักตามอย่างงานฝีมือชาววังแต่โบราณ” อาจารย์จักรพันธุ์บรรยายถึงหุ่นกระบอกอีกชุดที่เป็นความภาคภูมิใจ

 

เมื่อจบการแสดงเรื่องสามก๊กที่ทำด้วยความรักและให้ทั้งความสนุกในการทำงาน อาจารย์จักรพันธุ์ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างหุ่นและผู้เชิดหุ่นเองจึงคิดทำหุ่นกระบอกเรื่องใหม่ขึ้นอีกคือเรื่อง ตะเลงพ่าย โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2533 และเคยเปิดบ้านให้ชมการซ้อมกันเป็นประจำทุกเดือนเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ก่อนจะพักไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพราะเรื่องสุขภาพของอาจารย์

 

หุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่ายนี้ยังคงเป็นผลงานศิลปะที่ทั้งอาจารย์จักรพันธุ์และลูกศิษย์มุ่งมั่นจะสานต่อให้เสร็จสิ้นภายในรั้วบ้านย่านเอกมัยของอาจารย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ทุกวันนี้ นายช่างหลายคนยังคงเตรียมงานหุ่นกระบอกอย่างขมีขมัน พร้อมด้วยความตั้งใจที่จะเปิดแสดงอีกครั้งในเร็ววันนี้ แม้ในวันที่อาจารย์จักรพันธุ์จะไม่ได้ลงมือเองในแทบทุกรายละเอียดเหมือนแต่ก่อน แต่สิ่งที่ได้สั่งสอนลูกศิษย์ไว้ตลอดหลายสิบปีก็ยังคงอยู่ในผลงานของบรรดานายช่างที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์จักรพันธุ์โดยตรง

 

 

เมื่อครั้งที่อายุครบ 70 ปี อาจารย์จักรพันธุ์ได้เขียนถึงความรู้สึกที่มีต่อประสบการณ์ในวัยเรียนไว้ว่า “สมัยเป็นเด็กนักเรียนรู้สึกเวลาผ่านไปนานเนิ่นกว่าจะหมดเดือนหมดปี แต่มาบัดนี้…ผ่านไป 70 ปีแล้วหรือนี่ เหมือนเป็นช่วงเวลาที่หลับไปแล้วก็ตื่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ เพื่อน บ้านเรือน โรงเรียน สถานศึกษามหาวิทยาลัย…ฯลฯ ได้อันตรธานหายไปหมดสิ้น ไม่มีสิ่งใดเหลือ ทิ้งไว้แต่ร่องรอยคือวิชาความรู้ที่ข้าพเจ้าได้ใช้ ได้ปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเป็นเครื่องยืนยันเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าเป็นความจริง มิใช่ความฝัน

 

“แม่บทที่ครูบาอาจารย์วางเอาไว้ให้ฝึกฝนและเรียนรู้ในชีวิตจริงต้องดำเนินต่อไปไม่มีวันจบ ยิ่งชำนิชำนาญ ยิ่งแก่ตัวเข้าก็ยิ่งเห็นถึงข้อตำหนิ ข้อบกพร่องในงานของตนเอง แก่กล้าขึ้นพอที่จะยอมรับความจริง แม้ไม่มีผู้มาคอยชี้บอก

 

“คำสอนคำเตือนของครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิสั่งสอนไว้ให้เสมือนหนึ่งเข็มทิศนำทางหรือเครื่องศาสตราฝ่าฟันอุปสรรค ไม่มีทางตัน ไม่มีสมัย เป็นอกาลิโก”

 

 

ภาพส่วนหนึ่งจาก: มูลนิธิจักรพันธ์ุ โปษยกฤต

อ้างอิง:

  • หนังสือ จักรพันธุ์ โปษยกฤต 6 รอบ เล่ม 1
  • หนังสือ จักรพันธุ์ โปษยกฤต 6 รอบ เล่ม 2
  • หนังสือ คิดถึงครู โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต
  • หนังสือ หุ่นไทย โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต
FYI
  • นิทรรศการหมุนเวียน ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ จัดแสดงที่มูลนิธิจักรพันธ์ุ โปษยกฤต เลขที่ 49/1 ถนนสุขุมวิท 63 (ซอยเอกมัย) เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร รายละเอียดเพิ่มเติม www.chakrabhand.org
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X