วันนี้ (11 กรกฎาคม) ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังร่วมหารือกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และตัวแทนพรรคการเมือง รวมทั้งวิปวุฒิสภา ถึงจำนวนเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ว่าขณะนี้มีกระแสกดดันใน ส.ว. ค่อนข้างมาก ดังนั้นตอนนี้ ส.ว. ส่วนใหญ่จึงมีท่าทีไม่แสดงออกชัดเจน ต้องรอในวันที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันลงมติเลย
ขณะนี้มีสัญญาณบวกอย่างแน่นอน แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายวันนี้มีกระแสข่าวว่ามีการกดดัน ส.ว. ที่อาจถูกคาดว่าจะโหวตให้พิธา ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความหรือส่งคนไปพูดคุยกดดัน และบางกระแสข่าวมีถึงขั้นแบล็กเมลด้วยซ้ำ หรือมีการเสนอผลประโยชน์ให้ต่างๆ นานา แต่ยังไม่มีหลักฐาน เป็นเพียงกระแสข่าว และหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ
ส่วนกรณีที่ ส.ว. เตือนพรรคการเมืองที่โหวตให้คนที่ขัดรัฐธรรมนูญอาจถูกยุบพรรค ชัยธวัชกล่าวว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ซึ่งจากที่ติดตามข่าว นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว. ก็บอกว่าไม่เกี่ยวกัน แม้ว่าจะมีข้อกล่าวหาอะไรในตัวพิธา แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการไม่ว่าจะเป็นศาลหรือองค์กรอิสระ เมื่อยังไม่มีข้อยุติถึงที่สุดก็ต้องถือว่าพิธาไม่ได้มีอะไรผิด และเป็นการแยกการทำหน้าที่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครตามกฎหมาย กับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าไม่ว่าผลการพิจารณาของ กกต. จะออกมาเป็นอย่างไร คงไม่เป็นเช่นนั้น เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาจะแยกเรื่องนี้ออก
ชัยธวัชระบุอีกว่า ขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกรณีที่มีความพยายามจะชูเรื่องความจงรักภักดีมาเป็นเกณฑ์ในการโหวตหรือไม่โหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะทำเช่นนั้น เพราะถือว่าเป็นการหมิ่นเหม่ที่จะนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาปะทะกับผลการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
ส่วนกรณีที่มี ส.ว. บางคนเสนอให้ลดเพดานเรื่องมาตรา 112 ก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ชัยธวัชกล่าวว่า เมื่อวานตนได้ทราบข่าวว่ามีการส่งข้อความกันในหมู่ ส.ว. ต่อให้พิธาและพรรคก้าวไกลบอกว่าจะอย่างนั้นอย่างนี้ก็ขออย่าหลงเชื่อ ซึ่งเข้าใจว่าคนที่มีเจตนาแน่วแน่ว่าไม่ต้องการเห็นพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะมีเหตุผล 108 แต่ทางพรรคยังไม่ได้พูดคุยกัน ในห้องประชุมก็ยังไม่ได้หารือกันเรื่องนี้ และยังไม่มีการคุยกันว่าจะมีการโหวตกี่ครั้ง
ส่วนจะแยกโหวต ส.ส. ก่อนหรือไม่นั้นก็มีการพูดคุยกัน แต่ในที่ประชุมเห็นว่าคงยังไม่เหมาะสมที่จะต้องยกเว้นข้อบังคับการประชุม แต่จริงๆ ส.ว. ก็ทราบอยู่แล้วว่าเสียงของ ส.ส. ส่วนใหญ่ชัดเจน โดยทั้ง 8 พรรคยังยืนยันที่จะเสนอพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นก็ทราบอยู่แล้วว่าเสียงส่วนใหญ่ของสภาล่างเป็นอย่างไร
ชัยธวัชยังย้ำว่าพรรคก้าวไกลไม่มีการเตรียมแผน 2 หากโหวตรอบแรกไม่ผ่าน ขณะนี้ยังโฟกัสว่าจะทำวันที่ 13 กรกฎาคมให้ดีที่สุดก่อน ส่วนผลการประชุมของ กกต. ที่พิจารณาเรื่องการถือหุ้นของพิธานั้น พิธาได้ทำหนังสือว่าอยากให้ กกต. ได้แจ้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่มีการกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายอย่างไร เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พิธาได้ชี้แจง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ควรจะเป็น
ชัยธวัชกล่าวว่าตอนนี้เกิดคำถามว่าเหตุใดลุกลี้ลุกลน มีกระแสข่าวว่าจะรวบรัดให้ กกต. มีธงที่จะรีบส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้สั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ของพิธาให้ได้ก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี อันนี้เป็นความกังวล และคิดว่า กกต. ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าเหตุใดไม่มีกระบวนการนี้ หรือจะอ้างว่าไม่จำเป็น จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยหรือไต่สวนเลย
คำถามก็คือกระบวนการของ กกต. ที่ปกติควรต้องมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน สืบสวน และวินิจฉัย ซึ่งก็มีระเบียบรองรับอยู่ จะมีแบบนี้ไปทำไมถ้าจะส่งทุกเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งตรงนี้อธิบายไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงและมีข้อถกเถียงกันเยอะว่าตกลง ITV เป็นสื่อหรือไม่ เรื่องนี้คงฟังไม่ได้ว่า กกต. ไม่มีหน้าที่วินิจฉัย ทำแค่รวบรวมข้อมูลในเบื้องต้นและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าผิดสังเกต และหวังว่าจะไม่มีการเมืองอย่างที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้
ส่วนการประชุมของ กกต. จะกระทบกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคมหรือไม่นั้น ชัยธวัชกล่าวว่า ไม่ เพราะสถานะการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพิธายังคงอยู่