วันนี้ (19 พฤษภาคม) ที่ไบเทค บางนา ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นเวทีปาฐกถา ‘อนาคตการเมืองไทย’ ปิดมหกรรมนโยบายพรรคก้าวไกล Policy Fest ครั้งที่ 1 ‘ก้าวไกล Big Bang’ ว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเข้าร่วมในกิจกรรมที่สำคัญมาก ในฐานะที่เราวางเป้าหมายว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก
ชัยธวัชกล่าวต่อว่า 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง 22 สิงหาคม 2566 เมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้เห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นับเป็นหมุดหมายใหม่ของการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และ 2557 สำหรับตนเอง นั่นคือวันสิ้นสุดการเมืองแบบเหลือง-แดงอย่างเป็นทางการ ชนชั้นนำของสองสีเสื้อ จับมือเป็นพันธมิตรกันได้ชั่วคราว โดยที่พลังสีเหลืองและพลังสีแดงไม่ได้หายไป
การสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยให้เกิดขึ้นได้นั้น แค่การเลือกตั้งไม่เพียงพอ ต้องมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ รวมถึงปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปสถาบันตุลาการ เพื่อให้อำนาจของประชาชนที่เราบอกว่าเป็นอำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยนั้นปรากฏขึ้นเป็นจริง
สำหรับกลุ่มคนเสื้อเหลืองจำนวนมาก มีบทเรียนแล้วว่าการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งนั้นไม่มีจริง และการเมืองในระบบเลือกตั้งที่หลายคนไม่เชื่อมั่นศรัทธา สามารถพัฒนายกระดับได้ การเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งนั้นเป็นไปได้ และอาจเป็นทางที่ดีที่สุดที่เรามี
ชัยธวัชเปรียบเทียบว่า ต่างฝ่ายต่างก็รู้จักช้างกันคนละแบบ อาจรู้จักจากหาง จากงา จากงวง แต่สุดท้ายแล้ว ก็คือช้างตัวเดียวกัน การเมืองไทยที่มีการแบ่งฝ่าย แบ่งสี เกือบสองทศวรรษได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของการเมืองไทยระหว่างการเมืองชนชั้นนำเพื่อชนชั้นนำกับการเมืองของประชาชนเพื่อประชาชน การจัดตั้งรัฐบาลในชุดปัจจุบันนั้นเป็นการสะท้อนว่าเป็นการจัดตั้งรัฐบาลของชนชั้นนำอย่างโจ่งแจ้ง ล่อนจ้อน
เมื่อการเมืองของชนชั้นนำ สิทธิของแต่ละคนย่อมลดหลั่นกันไปตามสถานภาพทางสังคม การพิจารณาว่าผู้ต้องขังในเรือนจำคนไหนป่วยหรือไม่ ป่วยมากหรือน้อย จะได้สิทธิส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือไม่จึงไม่ใช่เรื่องของการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ จึงไม่ใช่สิทธิที่ทุกคนพึงมีเสมอภาคกัน แต่เป็นสถานภาพทางสังคม นี่ย่อมไม่ใช่เจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างล้นหลามในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
“บ่อยครั้งที่ระบบกฎหมายหรือนิติรัฐแบบไทยๆ ได้กลายเป็นกลไกในการโบยตีประชาชนให้หลาบจำ เพื่อให้สำเหนียกว่าบุญบารมีหรือลำดับชั้นต่ำสูงของคนเรานั้นมันไม่เท่ากัน”
ปัจจุบันรัฐไทยมีกำลังพลราว 3.2 ล้านคน ขณะที่ประชากรไทยมี 66 ล้านคน จึงหมายความว่า ถ้านำมาหารกันแล้ว เรามีเจ้าหน้าที่ 1 คนดูแลประชาชน 20 คน คำถามคือ เรารู้สึกว่าได้รับการดูแลจากรัฐหรือไม่ ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เด็กเกิดใหม่น้อยลงอย่างรวดเร็ว แต่รัฐไทยมีกำลังพลเพิ่ม 5 แสนคน ทำให้งบประมาณของรัฐร้อยละ 40 เป็นรายจ่ายของบุคลากรภาครัฐ หากเราไม่ปฏิรูปไทยให้เล็กลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงต้องปรับปรุงระบบงบประมาณอย่างจริงจัง คิดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ารัฐไทยจะมีหน้าตาแบบไหน
ชนชั้นนำพยายามทำให้เราเชื่อว่า เมื่อประเทศเกิดวิกฤต เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย และต่อให้สุดท้ายการเมืองไทยไม่สามารถปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งได้ พวกเขาก็พยายามจะออกแบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่ยอมให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นอันขาด ไม่ยอมปลดล็อกประเทศ ถอยออกจากโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐ กองทัพอยู่เหนือพลเรือน รวมทั้งระบบบริหารแบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่สืบทอดมากว่า 100 ปี
‘การเมืองแบบชนชั้นนำชอบสงเคราะห์ประชาชน กดให้จนแล้วขนมาแจก ชีวิตที่อยากเห็นของเกษตรกรไทยในชนบท ที่เราอยากหลุดพ้นกลายเป็นภาพสวยงามโรแมนติกสำหรับคนข้างบน สวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคนกลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยสำหรับประเทศแบบไทยๆ”
ในระบบเศรษฐกิจของชนชั้นนำแข่งกันด้วยเส้นสาย ไม่ใช่ความสามารถหรือนวัตกรรม โอกาสและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะเข้าถึงได้และแบ่งปันอย่างเท่าเทียม งานที่มีคุณภาพ ค่าแรงสอดคล้องกับค่าครองชีพ ชนชั้นนำมักออกมาเตือนให้ระวังว่าประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ จึงควรขึ้นค่าแรงเฉพาะแรงงานที่มีทักษะที่ดีแล้ว แต่ปัญหาคือภาคเอกชนไทยอาจต้องจ่ายเงินสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งน้อยกว่าจ่ายเงินใต้โต๊ะ
การเมืองชนชั้นนำมองยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ว่าทำร้ายความดีในอดีต ทำร้ายความรู้สึกนึกคิดของประชาชนแบบใหม่ๆ ตามยุคสมัยว่าเป็นภัยคุกคาม ไม่ได้มองประชาชนว่าเป็นเจ้าของประเทศ แต่มองเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจตลอดเวลา ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่รู้คุณแผ่นดิน ไม่รักชาติ หรือไม่ก็ไม่มีการศึกษา จึงพยายามกดทับการเมืองของประชาชนเอาไว้ไม่ให้เติบโต
“การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่บ่งบอกว่า การเมืองไทยจึงกำลังเดินเข้าสู่บทใหม่ ที่สิ่งเก่ากำลังจะตาย และสิ่งใหม่กำลังจะเกิด การเมืองแบบชนชั้นนำไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนล้วนมองว่า การเมืองแบบพรรคก้าวไกลเป็นภัยคุกคามต่อตนเองทั้งสิ้น แต่พวกเราพรรคก้าวไกล เราจะเป็นสะพานเชื่อมแห่งยุคสมัย เชื่อมสังคมไทยแบบเก่ากับสังคมไทยแบบใหม่ แล้วเชื่อมความฝันความหวังกับความเป็นจริง คือภารกิจของพรรคก้าวไกลในสถานการณ์ปัจจุบัน”
ชัยธวัชกล่าวต่อว่า เราเดินเข้าสู่การเมืองด้วยความหวัง ด้วยความฝัน และอุดมการณ์ที่อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น มีอนาคตที่ดีกว่านี้ เราเรียนรู้และเติบโตขึ้นทุกวัน แม้เราจะไม่ได้ดีพร้อมตั้งแต่วันแรก แต่เราก็เรียนรู้และเติบโตขึ้นทุกวัน ทุกปี เราใช้เวลาทำงานอย่างเต็มที่ในรัฐสภา เพื่อเข้าใจระบบงบประมาณ กฎหมาย กลไกการบริหาร เพื่อเตรียมพร้อมเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดของประชาชนให้ได้
“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พวกเราพรรคก้าวไกลจะมุ่งมั่นทำงานอย่างหนักและสร้างการระเบิดครั้งใหญ่ในการปลดปล่อยศักยภาพของสังคมไทยออกมาให้ได้ ปลดปล่อยความรู้สึกนึกคิดและความปรารถนาแบบใหม่ๆ ของประชาชน ปล่อยการเมืองออกจากการเมืองของชนชั้นนำ และพัฒนาการเมืองของประชาชน แสวงหาฉันทมติใหม่เพื่อเชื่อมต่อสังคมไทยแบบเก่าก้าวสู่สังคมไทยแบบใหม่”