×

“ทำไมต้องล็อกแก้รัฐธรรมนูญหมวด 1-2” ชัยธวัชถามรัฐบาล ภูมิธรรมตอบอย่าหมกมุ่นแค่เรื่องนี้ ต้องแสวงจุดร่วมเพื่อเดินหน้า

โดย THE STANDARD TEAM
11.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (11 มกราคม) ชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถาม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจ จึงมอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบกระทู้แทน

 

ชัยธวัชตั้งกระทู้ถาม ทำไมต้องล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1-2

 

ชัยธวัชกล่าวว่า การดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ 2 ประเด็น คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเรื่องสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติรัฐที่เข้มแข็ง

 

ประเด็นแรกจำเป็นต้องถาม เพราะคณะกรรมการศึกษาประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญฯ ที่ตั้งโดยรัฐบาล ได้สรุปว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประชามติครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้งจะเป็นการถาม 1 คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ตนในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล มีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะสนับสนุนการจัดตั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

 

แต่คำถามนี้มีปัญหาเกิดขึ้นคือ ขัดกับหลักประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ตกลงในสังคมไทยผู้ที่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้จะมีแต่คณะรัฐประหารอย่างนั้นหรือไม่ ประชาชนไม่มีสิทธิ์ใช่หรือไม่

 

ประเด็นต่อมา พรรคก้าวไกลคาดหวังว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้ลดความขัดแย้ง แสวงหาฉันทมติใหม่ของสังคมไทยที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน

 

และประเด็นที่ 3 คำถามนี้เป็นความกังวลโดยไม่จำเป็นของรัฐบาลที่อาจสร้างปัญหาใหม่โดยไม่จำเป็น เนื้อหารัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติเมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด  แต่ตอนนี้มีความพยายามสร้างความกลัวและความเข้าใจผิดทางการเมืองว่า การแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 จะไปกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ทั้งนี้ อาจสร้างปัญหาเชิงกฎหมายและปัญหาเชิงการเมือง 

 

ชัยธวัชย้ำถึงการล็อกหมวด 1 และหมวด 2 ไม่สมเหตุสมผล พร้อมถามคำถามแรกว่า รัฐบาลจะทบทวนข้อเสนอเรื่องคำถามประชามติครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการศึกษาประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

สส. เพื่อไทย ประท้วงให้รักษาเวลา ภูมิธรรมตอบปมประชามติ

 

ต่อมา ไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงประธานในที่ประชุมให้รักษาเวลาและเงื่อนไขที่ว่าห้ามไม่ให้ถามเหมือนอภิปราย

 

จากนั้น ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง กลายเป็นหลุมดำของประเทศ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายสมัย ตั้งแต่สมัยที่พวกเราเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน และยื่นแก้ไขมาแล้วครั้งหลาย หลายวิธี มากกว่า 6-7 ครั้ง แต่ไม่เคยผ่านเลยสักครั้ง 

 

แม้กระทั่งครั้งสุดท้ายที่ยื่นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ยกเว้นพรรคก้าวไกลที่ไม่ร่วมลงชื่อและมีความเห็นต่าง ซึ่งตนก็เคารพ แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่านวาระ 2 

 

สิ่งที่สำคัญในขณะนี้คือ เราต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อให้เดินหน้าประเทศให้ได้ ซึ่งเห็นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่เป็นปัญหา แต่พรรคก้าวไกลบอกว่าไม่ควรมาสนใจเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องดูความจริงที่บอกเรามาทุกครั้ง ก่อนตั้งรัฐบาลนี้ก็เห็นว่าทุกพรรคการเมืองบอกแล้วว่าจะไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 จึงเป็นเหตุผลที่พรรคการเมืองเหล่านั้นไม่สามารถร่วมมือกับพรรคก้าวไกลได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็พูดเรื่องนี้ชัดเจน เพราะเห็นจากการกระทำ ไม่ได้คิดไปเอง และตอนที่พรรคก้าวไกลจะร่วมรัฐบาล ที่ประชุมก็ซักเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 

 

‘อย่าหมกมุ่นกับเรื่องแก้ไขหมวด 1-2’

 

ภูมิธรรมย้ำว่า ประเด็นสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าเราปล่อยข้ามเรื่องแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2  ที่ต้องยอมรับว่ามีคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นห่วงและกังวลใจในเรื่องนี้ เชื่อว่าทางออกของสังคมจะไปได้ง่ายขึ้น และพรรคเพื่อไทยก็คิดเช่นนี้มาตลอด โดยพรรคได้แถลงในฐานะรัฐบาลว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 และพรรคก็หาเสียงมาเช่นนี้ ทำให้ที่ประชุมรัฐสภารวมทั้ง สส. และ สว. ก็ตอบรับ และยืนยันว่าขณะนี้เราก็ดำเนินการตามนี้ทั้งหมด ตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และพยายามจะหลีกเลี่ยงประเด็นนั้น จึงอยากขอให้มีสติ 

 

พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ขัดขวาง และพร้อมจะบันทึกความเห็นของทางพรรคก้าวไกลเอาไว้ โดยคาดว่าหากไม่ถูกท้วงติงภายในไตรมาสแรกก็น่าจะทำประชามติได้ แต่รัฐบาลพยายามจะทำให้เสร็จภายในเดือนมกราคมนี้

 

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นนี้ ขอให้ท่านลงไปถามโดยเฉพาะที่สภาแห่งนี้ และวุฒิสภาด้วย เขาติดใจเรื่องนี้ เขาติดใจเรื่องนี้แล้วจะทำให้เรื่องอื่นๆ เราไม่ได้ สิ่งที่สำคัญคือ ขณะนี้เราอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ทำให้หลีกหนีจากปัญหาใหม่ จึงอยากให้แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ผมก็เชิญชวนท่านมาแสดงจุดร่วมร่วมกัน ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ตกค้างมาก ถ้าท่านยอมละเว้น แล้วมาทำให้ทุกอย่างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

 

“เท่าที่ผมถาม เท่าที่ออกไปสำรวจ เท่าที่ออกไปฟังเสียงส่วนใหญ่ทั้งหมด เขาไม่ให้มาแต่หมวด 1 และหมวด 2 เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นความเห็นที่แตกต่างจากท่านและพรรคการเมืองของท่าน

 

“ดังนั้นถ้าจะชวนจริงๆ ผมต้องเป็นคนชวนท่านชวนมาอยู่ร่วมกัน อย่าไปแตะเลยครับ เรื่องนี้มันเป็นความไม่สบายใจของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แล้วมาคิดกันว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและมีอำนาจให้มาก อย่าไปหมกมุ่นกับประเด็นเดียว รัฐธรรมนูญนี้จะเป็นประชาธิปไตยได้ ผมคุยกับทุกคนมา เขายินดีที่จะทำให้เป็นประชาธิปไตยและมาร่วมแก้ด้วย และคนที่ทำให้เป็นประเด็นไม่ใช่คนส่วนใหญ่ แต่เป็นประเด็นของพรรคท่านที่หยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทุกครั้งมากเกินไป” ภูมิธรรมกล่าว

 

ภูมิธรรมตอบปม ทำไมยังไม่ถามเรื่องตั้ง สสร.

 

ส่วนประเด็นที่ยังไม่ตั้งคำถามเรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) นั้น ภูมิธรรมกล่าวว่า เราอยากตั้งคำถามให้ชัดเจน เพราะครั้งที่แล้วหลังจากที่สภาไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และบอกชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชามติของประชาชน ดังนั้นหากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ  ก็ขอให้ไปหารือกับประชาชนก่อน 

 

เพราะรัฐธรรมนูญที่ประชาชนลงประชามติมาเนื้อหาก็เป็นอย่างที่เห็น ดังนั้นตรงนี้จึงเอาคำถามเดียวเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ส่วนประเด็นที่จะถามเรื่อง สสร. ตนคิดว่าเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ยังไม่จำเป็นต้องสร้างความสับสนในเรื่องของคำถาม เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญอยากให้ประชาชนผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินใจ ขอโปรดเข้าใจตรงนี้ ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น

 

ชัยธวัชชี้ ปัญหากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน

 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า หลังจากที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ยังคงมีการดำเนินคดีทางการเมืองต่อผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 9 คดี และผู้ต้องหาบางคนไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวจากปัญหาหลักเกณฑ์ที่ไม่แน่นอน กระทบต่อสิทธิของประชาชน เช่นเดียวกับการคุกคามทางการเมืองก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐานยิ่งรุนแรงมากขึ้น จากกรณีการรักษาตัวนอกเรือนจำบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับกรณีทั่วไปเป็นเรื่องที่ยากมาก

 

จากนั้น ไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงทันที ขอให้ชัยธวัชรักษาเวลาในการตั้งคำถาม เพราะตอนนี้ได้ใช้เวลาหมดลงไปแล้ว

 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานในที่ประชุม จึงอนุโลมในประเด็นที่ประท้วงให้ เนื่องจากยังอยู่ในประเด็นที่ต้องการถาม 

 

ชัยธวัชจึงถามต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลอาจอ้างว่าเรื่องนี้ถูกต้องตามระเบียบ แต่ตอนนี้มีผู้ที่ได้รับสิทธิไปรักษานอกเรือนจำเกิน 120 วันเพียง 3 คน

 

ไชยวัฒนาได้ยกมือประท้วงอีกครั้ง เนื่องจากเป็นการถามนอกประเด็น

 

จนทำให้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงไชยวัฒนาว่า “เมื่อประธานวินิจฉัยเรื่องเวลาแล้วถือเป็นเด็ดขาด แต่ไชยวัฒนายังมีพฤติกรรมดื้อดึง ยกมือขึ้นยกมือลงไม่จบไม่สิ้น ทำไมชั้น 14 แตะไม่ได้เลยหรืออย่างไร ตนจะเอาข้าวผัดกับโอเลี้ยงไปฝาก”

 

ไชยวัฒนาจึงโต้กลับว่า “คุณวิโรจน์ยังเลอะเทอะอยู่ เพราะในการประชุมครั้งที่แล้ววิโรจน์ก็พูดคำว่าสันดานในที่ประชุม ตนยังไม่ประท้วงเลย เดชะบุญของคนกรุงเทพมหานคร”

 

วิโรจน์จึงได้ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิงโต้ไชยวัฒนาว่า “การพูดแบบนี้ก็ส่อถึงพฤติกรรมของคนพูด แล้วก็ขอยืนยันว่า คำวินิจฉัยของประธานในเรื่องเวลาเป็นอันเด็ดขาด หากมีพฤติกรรมยกมือขึ้นยกมือลง คำที่พูดเมื่อกี้ก็จะย้อนกลับมาที่ตัวท่านเอง”

 

ภูมิธรรมขออย่าท้าทายกฎหมาย หันหน้าคุยกัน ชั้น 14 เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์

 

ภูมิธรรมได้ลุกขึ้นตอบคำถามถึงการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องในการดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยใช้มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการคุกคามหรือทำให้เกิดความหวาดกลัว เพราะถือเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมจะมีกระบวนการทางกฎหมายดูแลอยู่ แต่ที่หลายคนมองว่าเป็นประเด็นก็เป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงคือทุกคนต้องเคารพกฎหมาย 

 

ส่วนกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม ไม่เป็นธรรม หรือเป็นปัญหา ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไข เพราะหากมีกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่ก็จะลำบากใจ หากไม่ทำเจ้าหน้าที่ก็จะโดนมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงขออย่าไปท้าทายกฎหมาย ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง ขอให้หันหน้ามาพูดคุยกันด้วยการหาทางออกอย่างสันติ 

 

สำหรับกรณีที่ได้มีการกล่าวถึงความเสมอภาคเท่าเทียมและชั้น 14 ตนมองว่าชัยธวัชไม่ได้ทำความเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายเท่าที่ควร หากเข้าใจจะไม่รู้สึกเช่นนี้ เพราะกฎหมายที่ออกมาทำให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม และกฎหมายฉบับนี้ก็เกิดตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้เป็นคนสร้างขึ้นมาเพื่อใคร ผู้ที่อยู่ในเรือนจำหากแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยก็ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย เรื่องชั้น 14 เมื่อแพทย์วินิจฉัยก็ถือเป็นอันสิ้นสุด 

 

“หากท่านอยากเรียกร้องอะไรก็ไปเรียกร้องกับแพทย์ที่รับผิดชอบ อย่าเอากระบวนการที่ทำโดยปกติมาโยนใส่รัฐบาล และทำให้กลายเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เสมอภาคกัน ขอให้ใจกว้างๆ และใจเย็นๆ และคิดให้ดี หากยังจุกจิกแบบนี้ ปัญหาของประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ขอให้ใจเที่ยงธรรม หากกฎหมายฉบับนี้ต้องการออกมาเพื่อคนคนเดียวถือเป็นเรื่องไม่ถูก ไม่มีใครเขาทำ กฎหมายทุกวันนี้เพื่อคนส่วนใหญ่และตามหลักสากล” ภูมิธรรมกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising