วันนี้ (21 กันยายน) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.40 น. การประชุมร่วมกันของผู้แทนจากพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร โดยมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม
การประชุมพรรคการเมืองได้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ก่อนที่ประธานในที่ประชุมจะนำเข้าสู่วาระ และได้เปิดให้สมาชิกในที่ประชุมได้เสนอแนวทางต่างๆ และในที่ประชุมได้มีการเตรียมอุปกรณ์จับสลากสี่เหลี่ยมใส บรรจุไข่สีทองและสีน้ำเงิน 2 กล่อง ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้
โดย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกันนอกรอบ วันนี้ตนอยากจะให้ทุกพรรคถอยกันคนละก้าว ถ้าเราถอยกันก็จะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้
ขณะที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส. พรรคก้าวไกล กล่าวเห็นด้วยกับวิสุทธิ์ว่า เราควรถอยกันคนละก้าว แต่อยากให้สมาชิกย้อนไปดูเอกสารที่เจ้าหน้าที่ได้จัดทำไว้ เพื่อเป็นการยืนยันจำนวน สส. ของพรรคก้าวไกล ในการคำนวณจำนวนคณะกรรมาธิการที่พรรคก้าวไกลจะได้รับ โดยยังมีชื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ และ สส. ระยอง คือ พงศธร ศรเพชรนรินทร์ ที่เป็น สส. ใหม่ จึงยืนยันว่าตัวเลขกรรมาธิการของพรรคก้าวไกลจะต้องมี 11 คณะ
ภายหลังจากที่ได้มีการประชุมผ่านไปประมาณ 30 นาที ก็ได้มีการพักการประชุม เนื่องจากพรรคการเมืองไม่อยากใช้วิธีการจับสลากตำแหน่งประธานกรรมการ จึงเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ยังตกลงประธานกรรมาธิการกันไม่ได้พูดคุยหาข้อสรุปเกือบ 1 ชั่วโมง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป จนกระทั่งพิเชษฐ์ได้เข้าไปร่วมวงการพูดคุยด้วย จนได้ข้อยุติ แล้วกลับเข้าไปในห้องประชุมเพื่อประชุมต่อ
โดยพิเชษฐ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ที่ประชุมจบด้วยดี ทุกพรรคถอยคนละก้าว โดยวันที่ 27 กันยายนนี้ ทุกพรรคจะเสนอรายชื่อเข้าทั้ง 35 คณะ และวันที่ 28 กันยายน จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการนัดแรก เพื่อเลือกประธานกรรมาธิการ และตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งทุกพรรคได้ประธานกรรมาธิการตามสัดส่วน แต่จะมีการเปลี่ยนชื่อกรรมาธิการบางคณะ เช่น กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ และ กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม เพื่อเปลี่ยนเป็นภารกิจอื่นที่สำคัญกว่า
“ความสามัคคีได้กลับมาแล้ว และหลังจากนี้ก็ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน พรรคใหญ่ยอมถอยให้” พิเชษฐ์กล่าว
ขณะที่ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ 2 คณะครึ่ง คือ กมธ.การพลังงาน และ กมธ.การอุตสาหกรรม ส่วนอีก 1 กมธ. คือ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน ซึ่งต้องแบ่งกับพรรคก้าวไกลคนละครึ่ง เนื่องจากติดในเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คือจะเป็น กมธ. คนละ 2 ปี หรือปีเว้นปี ซึ่งจะต้องมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง
โดยผลสรุปคณะกรรมาธิการออกมาดังนี้
พรรคก้าวไกล
- กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ
- กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน
- กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ
- กมธ.การสวัสดิการสังคม
- กมธ.การทหาร
- กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
- กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- กมธ.การเกษตรและสหกรณ์
- กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม
- กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน
- กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค
พรรคเพื่อไทย
- กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
- กมธ.การคมนาคม
- กมธ.การท่องเที่ยว
- กมธ.การสาธารณสุข
- กมธ.การต่างประเทศ
- กมธ.การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
- กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร
- กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- กมธ.การป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด
- กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน
พรรคภูมิใจไทย
- กมธ.การศึกษา
- กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ
- กมธ.การปกครอง
- กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย
- กมธ.การแรงงาน
พรรคพลังประชารัฐ
- กมธ.การกีฬา
- กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ
- กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม
พรรครวมไทยสร้างชาติ
- กมธ.การพลังงาน
- กมธ.การอุตสาหกรรม
พรรคประชาธิปัตย์
- กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา
- กมธ.การตำรวจ
พรรคชาติไทยพัฒนา
- กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
พรรคประชาชาติ
- กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน