‘ไชยชนก ชิดชอบ’ ลูกชายคนโตของ ‘เนวิน ชิดชอบ’ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และครูใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย ก้าวสู่เส้นทางการเมืองครบ 1 ปี หลังจากคนบุรีรัมย์เขต 2 จำนวน 46,729 เสียง ลงคะแนนให้เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ชนะพรรคการเมืองคู่แข่ง ทั้งพรรคส้มและพรรคแดงอย่าง ‘ขาดลอย’
1 ปีบนเส้นทางการเมือง ‘ไชยชนก’ ได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรของคนบุรีรัมย์ใน ‘สัปปายะสภาสถาน’ เขาได้โชว์ลีลาการอภิปรายในห้องประชุมพระสุริยันเพียง 1 ครั้งถ้วนเท่านั้น
แต่ด้วยการเป็นสายเลือดแท้ ‘พ่อเนวิน’ แม้จะไม่ได้ทำตัวส่องแสง แต่สปอตไลต์ก็ส่องถึง และ ‘ทุกครั้ง’ ที่พรรคภูมิใจไทยมีอีเวนต์สำคัญ เขาแม้จะมีพรรษาทางการเมืองน้อย ก็จะปรากฏอยู่ในเฟรมภาพของอีเวนต์นั้นๆ เสมอ
ก่อนครบ 1 ปีของการเป็น สส. เขาก็ยังได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยคนใหม่ แทน ‘อาโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้เป็นเวลา 2 ปี จากกรณีถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ทันทีที่ได้รับตำแหน่ง ‘ไชยชนก’ เดินหน้าทำภารกิจในฐานะแม่บ้านพรรคทันที เริ่มด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพรรคให้ดีขึ้น พร้อมพากรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ขึ้นเหนือล่องใต้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าจังหวัดนั้นพรรคภูมิใจไทยจะมี สส. หรือไม่ก็ตาม
THE STANDARD ร่วมลงพื้นที่ไปสัมผัสวิถีการทำงานของ ‘ไชยชนก’ และทีมกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดใหม่ถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมสัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจเกี่ยวกับบทบาทในฐานะลูกหลานตระกูลชิดชอบรุ่นที่ 3 อนาคตของภูมิใจไทย พรรคการเมืองอันดับ 3 ในมือคนรุ่นใหม่ และหนทางสู่การนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในอนาคต
ไชยชนก ชิดชอบ นั่งรับฟังปัญหาประชาชน
ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ชีวิตไชยชนก ลูกพ่อเนวิน ลูกหลานตระกูลชิดชอบ
ไชยชนกเริ่มต้นเล่าชีวิตตัวเองกับ THE STANDARD ว่าทุกคนสามารถเรียกชื่อเขาสั้นๆ ว่า ‘นก’ ก็ได้ เป็นเด็กจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เกิดที่จังหวัดนนทบุรี ไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษมาเกินครึ่งชีวิต แต่เรียนไม่จบ เพราะอาจจะดื้อบ้าง จนต้องเรียนแบบต่อเวลาในประเทศไทย
“ที่ต้องกลับประเทศไทยตอนนั้น เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสร้างสนามแข่งรถ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต นับเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต” ไชยชนกเล่า
เมื่อกลับประเทศไทยก็ทำงานเอกชนมาโดยตลอด และได้มีโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมฟุตบอล อุตสาหกรรมกีฬา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอีสปอร์ตพาเด็กไทยเป็นแชมป์โลกมาแล้ว
‘ไชยชนก ชิดชอบ’ ในวัยเด็ก
กำลังจ้องมอง ‘เนวิน ชิดชอบ’ ผู้เป็นพ่อ
ขณะกำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
ภาพ: noknokii / Instagram
ไชยชนกยอมรับกับ THE STANDARD ว่าก่อนหน้านี้ตัวเขาเองไม่ได้สนใจการเมือง และหนีมาตลอดทั้งชีวิต เพราะในวัยเด็กเคยสัมผัสชีวิตคนการเมืองมาแล้วในสมัยที่การเมืองค่อนข้างดุเดือด และ ‘เนวิน’ ผู้เป็นพ่อ ก็ได้หนีบเด็กชายไชยชนกไปด้วยทุกที แต่สุดท้ายคนที่จีบ ‘ไชยชนก’ ในวัย 33 ปีคนนี้เข้าสู่เส้นทางการเมือง ก็หนีไม่พ้นเนวิน พ่อของเขาเอง
“เขาจีบมาตลอด แล้วลึกๆ เราแอบสัมผัสในใจมาตลอดว่าการเมืองก็เหมาะกับเราเหมือนกัน หากจะต้องมีใครทำต่อ ก็ไม่อยากให้เป็นน้องๆ แล้วเราก็เชื่อว่าตัวเองเป็นคนเรียนรู้ไว แล้วก็คิดว่าเรื่องนี้คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง” ไชยชนกเล่า
เหตุผลอีกประการที่ทำให้เลือกที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมืองในวัย 33 ปี คือการเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตย และการหมุนเร็วขึ้นของโลก เมื่อมีโอกาสผุดขึ้นมา ก็ขอลองสักตั้ง ลองในความที่ไม่อยากเป็นนักการเมือง ลองในความที่เป็นตัวของตัวเอง แต่หากได้ลองแล้วไม่เหมาะ ก็แค่ถอยออกมา แต่ถ้าเป็นตัวเองแล้วมันเหมาะ ก็ให้การเมืองเป็นสิ่งที่ผิดไป
“แต่ผมก็แอบรู้สึกว่ามันดูจะเหมาะอยู่นะ” ไชยชนกบอกเล่าความรู้สึกตัวเองพร้อมอมยิ้มเล็กๆ
ไชยชนก ชิดชอบ ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD
ที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
แต่ด้วยความเป็นลูกพ่อเนวินและลูกแม่กรุณา ผู้มากบารมีทางการเมืองยาวนานหลายทศวรรษ เมื่อเข้าสู่เส้นทางการเมืองก็ทำให้เขาต้องรับแรงกดดันอันมหาศาลจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน
“ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง บารมีทางการเมืองเหล่านี้ไม่กระทบผมเลย และสัมผัสได้ว่าบารมีที่พ่อและแม่นั้น เป็นบารมีของผู้เสียสละ บารมีของนักพัฒนา บารมีของผู้ที่ดิ้นรนและประสบความสำเร็จ แม้ตัดการเมืองออกไปบารมีนี้ก็ยังคงอยู่”
ไชยชนกยกตัวอย่างข้อดีที่มีบารมีของพ่อและแม่คุ้มหัวอยู่ คือได้เห็นบทเรียน ได้เห็นข้อผิดพลาด ได้มีกัลยาณมิตร และครูบาอาจารย์ที่ถูกคัดสรรจากคนที่มีทัศนคติที่สามารถทำงานกับพ่อแม่ได้ ซึ่งล้วนเป็นคนที่ไม่ธรรมดาทั้งสิ้น
ไชยชนก ชิดชอบ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD
ด้วยสีหน้าเคร่งเครียดเมื่อต้องนึกถึงข้อเสียจากบารมีของพ่อแม่
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
แต่ใช่ว่าการเป็นลูกพ่อเนวินและลูกแม่กรุณาจะมีแต่ข้อดีเท่านั้น เมื่อให้นึกถึงข้อเสีย ไชยชนกพูดกับ THE STANDARD ด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า บารมีของพ่อและแม่คือสิ่งที่ทำให้เขาต้องแบกรับแรงกดดันอันมหาศาล
“บางทีที่กดดันจากคนอื่นก็เยอะแล้ว แต่มากไปกว่านั้นคือการกดดันตัวเอง โดยที่เราไม่รู้ตัว เราอยากทำให้เขาภูมิใจ ไม่อยากทำให้ผิดหวัง การที่เราอยากทำมันให้ดี การที่เราได้เห็นว่าพ่อแม่เจ๋งแค่ไหน และเรายังก้าวข้ามมันไม่ได้ มันเป็นความทุกข์ในใจ มันเป็นแรงกดดันที่ไม่ใช่แรงผลักดัน”
THE STANDARD จึงถามไชยชนกต่อว่า “เคยเห็นแย้งทางการเมืองกับคุณพ่อคุณแม่หรือไม่” ไชยชนกตอบว่ามีเยอะมากมาย ทุกวันนี้ยังทะเลาะกันบ่อยๆ แต่เป็น Discussion ถกเถียง แชร์ไอเดีย แต่บางครั้งก็อาจมีขึ้นเสียงกันบ้าง น้อยใจกันบ้าง แต่ต่างคนต่างแยกย้ายไปคิด วิเคราะห์ ประเมินผล แล้วก็กลับมาคุยกันใหม่ด้วยเหตุและผล เราในตอนนี้เข้าใจกันมากขึ้น และมีเป้าหมายเดียวกัน
ไชยชนก ชิดชอบ ยกโทรศัพท์มือถือถ่ายเซลฟีภาพครอบครัวชิดชอบ
ในเฟรมภาพประกอบด้วย ชัย ชิดชอบ (เสื้อสีเหลืองนั่งตรงกลาง),
เนวิน ชิดชอบ (เสื้อสีน้ำเงินนั่งริมขวา), ศักดิ์สยาม ชิดชอบ (ยืนด้านขวาเสื้อสีม่วง),
พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ยืนด้านบนซ้าย)
ภาพ: noknokii / Instagram
ไชยชนกกล่าวต่อว่า ผมกับพ่อนั้นมีอุดมการณ์แตกต่างกัน โดยมีต้นตอมาจากการผ่านบทเรียนชีวิตและมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน เราเติบโตมาคนละยุคกัน พ่อโตมาในฐานะลูกปู่ชัย ผมโตมาในฐานะลูกลุงเน ป้าต่าย พ่อก้าวแรกเข้ามาบนเส้นทางการเมืองในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องเริ่มนับหนึ่งด้วยตัวเอง ผมก้าวเข้ามาในฐานะลูกลุงเนวิน หลานปู่ชัย หลานอาโอ๋ (ศักดิ์สยาม)
“ผมอยู่ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไวมาก ทุกคนต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเสมอ มากไปกว่านั้น ก้าวมาในยุคที่ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในช่วงวิวัฒนาการ ประชาชนลุกขึ้นมาเข้าใจสิทธิของตัวเองและให้ความสำคัญกับการเมือง ทำให้ระบบเก่าๆ สั่นคลอน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมอยู่ในจุดที่จะทำได้เพราะแค่สถานการณ์ ไม่ใช่เพราะว่าผมเก่ง และมีหลายอย่างที่ผู้ใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาต้องเสียสละทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ เพื่อให้เรามาถึงจุดนี้ในวันนี้”
1 ปี สส. ไชยชนก ผู้แทนของคนบุรีรัมย์
“1 ปีที่ผ่านมา กับบทบาทผู้แทนของ สส. นก ผู้แทนของคนบุรีรัมย์ เป็นอย่างไรบ้าง” THE STANDARD ถาม
ไชยชนกตอบ “มันมาก ดุเดือด”
1 ปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยแรงกดดัน ตอนก้าวเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรก หลายคนไม่เชื่อ ‘ไชยชนก ชิดชอบ’ ผู้เป็นลูกลุงเน (เนวิน ชิดชอบ) หลานปู่ (ชัย ชิดชอบ) หลานอา (ศักดิ์สยาม-พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ) อยู่ในตระกูลชิดชอบ คิดว่าต้องรู้ ต้องเข้าใจการเมือง หลายคนไม่เชื่อหรอกว่าผมหนีการเมืองมาตลอด ทำแต่งานเอกชน ผมอยากเป็นตัวตนของผมให้ได้ อยากจริงใจ ไม่อยากมาสร้างภาพอะไรทั้งนั้น
ไชยชนก ชิดชอบ ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระที่ 2
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
และเหตุผลที่หนี เพราะกลัวกระทบภาพลักษณ์ของพรรค เรารู้ตัวดีว่าเราไม่มีประสบการณ์ด้านการเมือง แต่พอผ่านมาระดับหนึ่งแล้ว เราตั้งใจทำอย่างเต็มที่ เป็นตัวของเราเอง และเรียนรู้หลายอย่างมากขึ้น เราก็รู้ว่าสิ่งที่เราจะมาแชร์เป็นสิ่งที่เป็นตัวตนของเราจริงๆ ไม่ใช่พูดลอยๆ พูดสวยๆ หล่อๆ ผมอยากเป็นตัวตนของผมให้ได้ อยากจริงใจ ไม่อยากมาสร้างภาพอะไรทั้งนั้น
“ตอนทำงานเอกชนเวลาผมผิดพลาด ผลมันตกกับตัวผมและบริษัทผม แต่พอเป็นนักการเมือง เมื่อผิดพลาดขึ้นมามันส่งผลกับสมาชิกพรรค ส่งผลต่อประชาชนที่ตัดสินใจเลือกเราและไม่เลือกเรา มิหนำซ้ำตกไปจนถึงอนาคตด้วย ผลกระทบมันมหาศาล อันนี้เลยกลายเป็นสิ่งที่กดดันเต็มไปหมด แต่สุดท้ายแรงกดดันเป็นสิ่งที่ทำให้ผมพัฒนาตัวเองและพิสูจน์ตัวเองให้หลายๆ คนเห็นได้เร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย”
THE STANDARD จึงถามต่อ “ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เราเห็นคุณไชยชนกอภิปรายน้อยมาก อยากรู้เหตุผลเพราะอะไร”
ไชยชนกคิดครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบกลับมาว่า “เพราะผมไม่ได้อยากจะสร้างภาพ ผมอยากเรียนรู้และทำงาน ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมต้องทำไม่ใช่การอภิปรายหรือการแสดงตัวตน สร้างกระแสในสังคม”
ไชยชนก ชิดชอบ และ อนุทิน ชาญวีรกูล
ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระที่ 2
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
สิ่งที่ตนเองต้องทำที่สุดสำหรับพรรคภูมิใจไทย คือการที่เราเป็นพรรคตั้งแต่ไม่กี่คน จาก 16 คน มาเป็น 20 คน สู่ 40 คน จนมาเป็น 71 คนในวันนี้ พรรคภูมิใจไทยเติบโตจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก มาเป็นพรรคการเมืองระดับกลางกึ่งใหญ่ ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานภายในเลยสักครั้ง
“ลองนึกว่าให้พรรคภูมิใจไทยเป็นองค์กรหนึ่ง เรามีพนักงานเพิ่มขึ้น แต่เราไม่มีระบบ แล้วเราจะใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ผมประเมินแล้วตามความสำคัญ 1. ผมไม่พร้อม 2. ผมไม่คิดว่ามันสำคัญที่สุดสำหรับพรรค เรามีคนเก่งๆ เต็มไปหมด แล้วเรื่องนี้สำคัญกว่า พอเรื่องนี้เซ็ตเสร็จ ทุกคนจะอภิปรายได้เลย เราก็จะทำงานในฐานะสถาบันการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ผมไม่ทำงานนะ ผมอยู่ช่วยประกอบแทบจะทุกการอภิปรายของทุกคน” ไชยชนกอธิบาย
“มีนักการเมืองที่ชื่นชอบที่ไม่ใช่คุณพ่อ-คุณแม่ไหม” THE STANDARD ถาม
ไชยชนกตอบ “ผมไม่ได้ชอบคุณพ่อคุณแม่ในฐานะนักการเมืองด้วยนะครับ ขออธิบาย (หัวเราะ) ไม่ เอาจริงๆ จะบอกว่าชอบหรือไม่ชอบมันพูดยาก เพราะผมไม่มีโอกาสได้ศึกษา แต่ถ้าถามว่ามีใครที่ชื่นชอบไหม ต้องเอาแบบที่ผมได้สัมผัสเลยนะ ผมชอบท่านชวน หลีกภัย”
ชวน หลีกภัย ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วันแรก
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ไชยชนกอธิบายถึงความประทับใจต่อ ชวน หลีกภัย นักการเมืองผู้มากประสบการณ์ ซึ่งปัจจุบันเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ว่าไม่ทราบว่าปัจจุบันท่านชวนต้องพบกับแรงกดดันแค่ไหน หรือเป็นอย่างไร
แต่ไชยชนก สส. ใหม่ป้ายแดงคนนี้ได้รับเฟิร์ส อิมเพรสชันที่ดีจากอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ในวันที่เข้าสัปปายะสภาสถานวันแรกอย่างมาก ‘ชวน’ ได้มอบคำแนะนำต่างๆ แก่คนเป็นผู้แทนของราษฎรเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีขึ้น
THE STANDARD จึงถามต่อว่า “ได้เห็นลีลาการอภิปรายในสภาหรือไม่ เป็นอย่างไรบ้าง”
ไชยชนกบอกเล่าความรู้สึกว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าท่านชวนนั้นเป็นคนที่ ‘เฟี้ยว’ จริงใจ และตรงไปตรงมา แม้จะทราบมาผ่านๆ ถึงสถานการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์ว่าน่าจะลำบากและกระทบจิตใจท่านพอสมควร ก็เห็นมีช่วงหนึ่งท่านดูทุกข์ๆ แต่ว่านอกนั้นเป็นนักการเมืองที่เฟี้ยวพอสมควร
โมเดลความสำเร็จของบุรีรัมย์
ไชยชนกเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในฐานะคนเคยบริหารงานว่า เกิดขึ้นเพราะ ‘เนวิน ชิดชอบ’ ผู้เป็นพ่อของเขา มีความฝันอยากจะพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง เนื่องจากตอนเด็กๆ เคยถูกเพื่อนล้อ และหัวเราะใส่ว่าบุรีรัมย์เป็น ‘จังหวัดบ้านนอก’ และเป็นจังหวัดที่ไม่มีใครรู้จัก
จังหวัดบุรีรัมย์ในอดีตนั้น คนบุรีรัมย์อยู่กับดินกินกับทราย มีสโลแกนว่า ‘บุรีรัมย์ตำน้ำกิน’ ที่ได้สโลแกนนี้มาเพราะไม่มีน้ำกิน มันแล้ง แห้ง และไม่มีเงินจะไปซื้อน้ำดื่ม ต้องเอาดินชื้นๆ เพื่อตำเอาน้ำออกมา เป็นจังหวัดที่จนเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จังหวัดบุรีรัมย์ ‘ไม่มีอะไรเลย’ ที่ดินก็ไม่มีราคา สนามบินก็ไม่มี หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นจุดดึงดูดคน…ก็ไม่มีเลยสักอย่าง
ครอบครัวชิดชอบเฉลิมฉลอง
ในโอกาสที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดเป็นแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก ปี 2017
ภาพ: noknokii / Instagram
‘เนวิน’ เริ่มสร้างบุรีรัมย์โดยใช้ประสบการณ์ที่มี รวมถึงกัลยาณมิตรช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยสิ่งที่รัก 2 อย่าง คือฟุตบอลกับมอเตอร์ไซค์ โดยเริ่มที่ฟุตบอลก่อน
ไชยชนกบอกว่า โมเดลของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตอนแรกอยู่ที่ 60/40 คือ 60 เข้าบริษัท และอีก 40 เข้าบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด การเติบโตที่ยิ่งใหญ่ไม่สามารถทำเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ แต่พอได้เห็นและได้ทำ ก็ทราบว่ามีอุปสรรคค่อนข้างเยอะ การที่จะทำให้คนบุรีรัมย์เชื่อว่าการที่เรามาทำแบบนี้โดยนักการเมืองคนหนึ่ง จะเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และนำมาซึ่งรายได้มหาศาลมาสู่เมืองทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
เราต้องทำเป็นโมเดลให้เห็นภาพอย่างชัดเจน เช่น การสร้างโรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ขึ้นมา ด้วยคุณภาพ 4 ดาว แม้เราจะมีศักยภาพทำให้ 5 ดาวได้ แต่เราเลือกที่จะทำให้เห็นว่าเราอยากกำลังจะพัฒนาบุรีรัมย์จริงๆ เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนก็กล้าที่จะมาลงทุน กล้าที่จะพัฒนาตัวเองเป็นเจ้าบ้านรับรองนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในบุรีรัมย์
“ถ้าเราคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เราจะเห็นผลการเปลี่ยนใจคนและการบังคับใจคนมันใช้คำพูดอย่างเดียวไม่ได้ การกระทำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราจึงได้เห็นว่าทุกวันนี้พี่น้องชาวบุรีรัมย์มีกินมีใช้ และเป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองได้ดีขึ้น เติบโตและมีการพัฒนาขึ้น”
ทำไมกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดใหม่ยังก้าวข้ามการเมืองบ้านใหญ่ไม่พ้น
“การเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคภูมิใจไทย แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ยังเป็นคนรุ่นใหม่จากลูกหลานของนักการเมืองรุ่นเก่า หลายคนมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจการเมืองผ่านสายเลือด แล้วพรรคภูมิใจไทยจะทำการเมืองใหม่อย่างไร” THE STANDARD ถาม
ไชยชนกครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตอบออกมาว่า ตนเองพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะความเป็นนักการเมืองและร่มเงาของผู้ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังพวกเรานั้นแสนกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน แต่ให้รอชมผลงานในงานเปิดสมัยประชุมที่จะถึงนี้
อนุทิน ชาญวีรกูล และ ไชยชนก ชิดชอบ พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ที่สโมสรราชพฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
“ให้ผมพูดไปว่าจะทำอย่างไร สุดท้ายมันคือลม สุดท้ายก็ไม่สามารถล้างบารมีของผู้ใหญ่ที่เป็นบ้านใหญ่ที่ผมมองว่าเป็นร่มเงาที่ดี เพราะร่มเงานี้ไม่ได้ครอบงำเรา เป็นร่มเงาที่คอยซัพพอร์ตเรา คอยเตือนสติเรา และคอยระวังให้เรา มันต่างกัน (ยิ้ม)”
THE STANDARD จึงถามต่อว่า “แม้ว่าการเลือกบริหารพรรคในลักษณะนี้จะถูกคนมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจการเมืองผ่านสายเลือดเช่นนั้นหรือ”
ไชยชนกตอบกลับว่า ‘ไม่ผิด’ และ ‘ไม่แปลก’ แต่อยากให้รู้ว่าทุกคนถูกเลือกโดยศักยภาพ ความทุ่มเท ความขยัน และถูกเลือกด้วยเหตุผล อีกปัจจัยที่สำคัญคือตรงกับดีเอ็นเอใหม่ของพรรคหรือไม่ ซึ่งต้องมีความจริงใจ มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก แล้วก็เป็นกลางกับทุกคนรวมถึงตัวเองด้วย
ไชยชนก ชิดชอบ ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD
ที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
“ทำไมยังเป็นบ้านใหญ่อยู่ ก็เพราะว่าเขาเก่ง (ยิ้ม) ก็เพราะเขามีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างจากคนอื่น ก็เพราะเขาได้ซึมซับทั้งเรื่องบวก เรื่องลบ และได้อยู่ใกล้ชิดประชาชนด้วย รู้ทั้งปัญหาภายในระดับพื้นที่ ปัญหาบริหารในระดับท้องถิ่น ระดับนิติบัญญัติ และระดับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความคิดเป็นของตัวเอง เป็นตัวตนเขาได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ”
ไชยชนกอธิบายถึงคุณสมบัติของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต่อว่า “ผมไม่ได้เลือกเพราะเขาเป็นบ้านใหญ่ แต่เลือกเพราะเขาเป็นตัวตนของเขา และตัวตนของเขามันมาได้จากการเป็นบ้านใหญ่ งงไหม? แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนอื่น มีคนอื่นที่ไม่เป็นบ้านใหญ่เต็มเลยที่รอการได้รับโอกาส โดยรอการพิสูจน์ตัวเอง คนเหล่านั้นใกล้ถึงจุดนี้แล้วเหมือนกัน มันมีเส้นทางที่มาถึงตรงนี้ได้ แต่ว่าการเป็นบ้านใหญ่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มนี้ถูกเลือกมาก่อน”
สิ่งที่ภูมิใจไทยต้องปรับ ฝ่าวิกฤตคะแนนความนิยมติดลบ
“ในฐานะทีมบริหารคนรุ่นใหม่ มองว่าพรรคภูมิใจไทยต้องปรับปรุงเพื่อให้มีความทันสมัยและก้าวเข้าสู่โลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาบ้างหรือไม่” THE STANDARD ถาม ไชยชนกตอบกลับว่า สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยต้องปรับปรุงมีเยอะมาก
เริ่มจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นอันดับแรก โครงสร้างการทำงานภายในพรรคเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อโครงสร้างดีจะทำให้เราเปลี่ยนส่วนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ทำงานเป็นระบบ และมีระเบียบมากขึ้น นอกจากนี้ต้องมีการสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีพื้นที่ให้ สส. มีเวทีได้โชว์ของ มีพื้นที่ให้สมาชิกพรรคและประชาชนมากขึ้น
ไชยชนก ชิดชอบ ขณะเลือกผ้าไหมแพรวาของดีจังหวัดกาฬสินธุ์
ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในสังคมเราต้องลุกขึ้นพูด เรามีคนที่พร้อม และมีความสามารถในหลายๆ เรื่อง เข้าไปแสดงความคิดเห็นในมุมของเราให้คนอื่นได้เห็นมากขึ้น ผมว่ามันเป็นส่วนที่สำคัญและเป็นส่วนที่มาจากรากฐาน (Foundation) ของการมีระบบการทำงานภายในพรรคที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น
“ทุกอย่างมันเป็นดาบสองคมหมด ประสบการณ์ที่ผ่านมาทางการเมืองที่เป็นข้อดีมากๆ ของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเมืองมาก่อน มันเป็นดาบสองคมเหมือนกัน หลายคนผ่านอะไรมาเยอะแล้วมันเป็นปมโดยไม่รู้ตัว ทำให้มีกรอบอยู่กรอบหนึ่ง ซึ่งไม่ผิดด้วยที่เขาจะกังวลหรือกลัว หรือรู้จักจากการพบเจอในชีวิตการเมืองที่ผ่านมา แล้วพอการเมืองเปลี่ยน โลกเปลี่ยนไวมาก กรอบนี้มันยังอยู่ อันนี้เป็นอีกอย่างสำคัญที่ถ้าเราเริ่มจะทยอยปลดกรอบนี้ได้ พรรคภูมิใจไทยจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อประชาชนอย่างมหาศาล”
ไชยชนก ชิดชอบ ขณะฟัง อนุทิน ชาญวีรกูล
ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการปรับทัพกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ที่สโมสรราชพฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
THE STANDARD จึงถามต่อว่า “แม้จะยืนยันว่าจะทำงานเต็มที่ แต่คะแนนความนิยมต้องยอมรับว่าภูมิใจไทยในฐานะพรรคการเมืองอันดับ 3 ได้คะแนนนิยมเพียงล้านนิดๆ ความนิยมค่อนข้างวิกฤต คุณไชยชนกจะแก้วิกฤตนี้อย่างไร”
ไชยชนกบอกว่า ตนเองทราบดีว่ากระแสความนิยมของพรรคภูมิใจไทยนั้น ค่อนข้าง ‘ติดลบ’ แต่ยืนยันว่าภูมิใจไทยจะเป็นตัวของเราเอง และถามว่าขณะนี้วิกฤตไหม ตนเองมองเป็นโอกาสมากกว่า
ก่อนเลือกตั้งภูมิใจไทยมีกระแส และค่อนข้างมากด้วย และเพราะกระแสดีถึงโดนโจมตีจากทุกด้าน จนเราตอบโต้ไม่ทัน ตั้งตัวไม่ทัน หรือเลือกที่จะไม่ตอบโต้ แต่มันก็ยังส่งผลให้เราเป็นพรรคอันดับ 3
ไชยชนก ชิดชอบ ขณะกำลังนั่งรับฟังปัญหาของประชาชน
ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ทั้งๆ ที่กระแสเราติดลบ แล้วหากกระแสพรรคไม่ติดลบ เอาแค่เป็นศูนย์ก็ได้ จะเกิดอะไรขึ้น หรือถ้าบวกสักหน่อย จะเกิดอะไรขึ้น สำหรับผมจึงไม่ใช่วิกฤต แต่เป็นโอกาสมากกว่า แล้วถ้ามาดูผลงานพรรคภูมิใจไทยจริงๆ ในรัฐบาลหลายๆ สมัย ภูมิใจไทยจะเป็นหนึ่งในพรรคที่มีผลงานมากที่สุดเสมอ ไม่ว่าจะคุมกระทรวงไหนที่เราร่วมรัฐบาล
ฉะนั้นถ้าผลงานมีอยู่แล้ว เราสื่อสารมากขึ้น เราจริงใจมากขึ้น เราทำงานได้มากขึ้น เพราะมีสมาชิกที่ทุ่มเทมากขึ้น คนรุ่นใหม่มากขึ้น พร้อมเหนื่อยมากขึ้น และหลุดออกจากกรอบ จากเมืองเก่าๆ มากขึ้น มันจะยังเป็นวิกฤตไหม หรือมันเริ่มเป็นโอกาสแล้ว สุดท้ายก็ต้องรอดู แต่ที่แน่ๆ พวกผมทำเต็มที่
ไชยชนก ชิดชอบ ระหว่างเดินตลาดสดสมเด็จ
ที่ตำบลสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
พรรคการเมืองคู่แข่งภูมิใจไทย
“ภูมิใจไทยครับ” ไชยชนกตอบอย่างเสียงดังและฟังชัด เมื่อถูกถามถึงพรรคการเมืองคู่แข่ง
ไชยชนกอธิบายเพิ่มเติมว่า เราไม่มองคนอื่นเป็นคู่แข่ง สิ่งเดียวที่เปลี่ยนแปลงและควบคุมได้คือ ‘ตัวเราเอง’ ให้ผมมาเสียเวลาดูนู่นเปรียบเทียบนี่ หนักใจเรื่องคนอื่น ทุกวันนี้สิ่งที่ต้องทำ ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องพัฒนาภายในพรรคก็มหาศาลอยู่แล้ว สิ่งที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายได้เร็วและดีที่สุดก็คือ ‘ตัวเราเอง’ และสิ่งที่จะทำให้เราไปไม่ถึงได้ง่ายที่สุดก็คือ ‘ตัวเราเอง’
“สำหรับผมไม่ใช่ไม่เห็นคนอื่นเป็นคู่ต่อสู้ แต่มองตามความเป็นจริง ผมปรับเปลี่ยนอะไรเขาได้ไหม เขาจะทำแบบไหนในอนาคตข้างหน้าผมก็ไม่รู้ เอาเวลาตรงนี้มาใส่ใจปรับปรุงสิ่งที่เราควบคุมได้ดีกว่า” ไชยชนกกล่าว
ไชยชนก ชิดชอบ ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
หนทางสู่…ว่าที่รัฐมนตรี
“รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจนว่าต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ปัจจุบันไชยชนกในวัย 33 ปี ย่าง 34 ปี ต้องรออีกอย่างน้อย 1 ปี มีความคิดเห็นอย่างไรกับการนั่งตำแหน่งรัฐมนตรี” THE STANDARD ถาม
ไชยชนกตอบแบบไม่คิดว่า “ไม่สนเลยครับ”
ไชยชนกอธิบายเพิ่มเติมต่อว่า หากเปลี่ยนแปลงในระบบการทำงานในพรรคภูมิใจไทยสำเร็จ การทำงานภายในพรรคจะเป็นการทำงานที่มีการบูรณาการประสานงานภายในพรรคเหมือนกับเป็นองค์กร นั่นหมายความว่าเราจะสามารถช่วยเหลือกันได้ไม่ว่าจะเป็น สส. เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นอะไร
“ส่วนคำถามว่าคิดอย่างไรกับการนั่งตำแหน่งตรงนี้ ถึงแม้ผมจะไม่ได้สน แต่มีอย่างหนึ่งที่ต้องบอก วันหนึ่งเมื่ออายุผมถึง แต่ความสามารถ ความเหมาะสม หรือคุณสมบัติที่ควรจะต้องมีกับการเป็นรัฐมนตรีผมยังไม่พร้อม หรือคิดว่าจะทำได้ไม่ดี หรือมีคนอื่นทำได้ดีกว่า ไม่มีใครบังคับผมเป็นได้แน่นอน แต่ถ้ารู้สึกว่าทำได้ดี ก็ไม่มีใครห้ามผมได้เหมือนกัน” ไชยชนกยิ้ม และจบการสนทนากับ THE STANDARD
ไชยชนก ชิดชอบ ทำสัญลักษณ์หัวใจโลโก้พรรคภูมิใจไทย
ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร