วันนี้ (2 กุมภาพันธ์) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยถึงนโยบายเบื้องต้นและปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ที่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจ เพราะมีผลต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ปัญหาเรื่องฝุ่น หาบเร่แผงลอย สาธารณสุข ขยะ ความปลอดภัย การกระจายอำนาจ การระบายน้ำ น้ำเสีย การศึกษา ที่อยู่อาศัย ปัญหาสุนัขและแมวจรจัด ความหลากหลายทางเพศ และคนไร้บ้าน ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวนโยบายภายในเดือนนี้ พร้อมย้ำว่าหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. มี 2 สิ่งที่ต้องทำคือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตและการเพิ่มเงิน
ชัชชาติยังได้กล่าวถึงแนวโน้มการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยระบุว่าถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชนในการเลือกผู้แทนเข้าไปทำงาน หากทำได้จริงก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะช่วงนี้มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข เนื่องจากยังมีปัญหาที่เป็นภาระผูกพันในระยะยาว การที่ไม่มีผู้แทนประชาชนเข้าไปติดสินใจนั้นจะหาคนรับผิดชอบยาก พร้อมขอบคุณรัฐบาลที่ยืนยันที่จะให้จัดเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม และขอให้ทำตามที่บอกไว้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทีมงานชัชชาติที่เปิดตัวก่อนจะได้เปรียบหรือไม่ ชัชชาติมองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะได้เห็นปัญหาก่อนใคร แต่อาจทำให้ทีมงานนั้นเกิดความล้า แต่มองว่าเรื่องเวลาไม่มีผลมากนัก เพราะท้ายที่สุดจะไปวัดกันที่ 4 เดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ที่คิดว่าทุกคนมีสิทธิ์ใกล้เคียงกัน อยู่ที่ว่าใครจะได้กระแสจากประชาชนมากกว่ากัน
ทั้งนี้ หากมีพรรคการเมือง เช่น พรรคเพื่อไทย ที่พร้อมประกาศสนับสนุนจะทำให้ได้เปรียบกว่าผู้สมัครคนอื่นหรือไม่ ชัชชาติยืนยันว่า ส่วนตัวลงในนามอิสระ แต่หากจะมีพรรคการเมืองใดสนับสนุนก็ไม่ปฏิเสธ แต่อยากให้สนับสนุนที่นโยบายและแนวทางการทำงาน ไม่ใช่สนับสนุนแค่ตัวบุคคล
สำหรับผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 หลักสี่-จตุจักร มีสัญญาณให้ทีมต้องปรับตัวหรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่า ไม่ได้วัดการเมืองใหญ่ได้มากนัก เพราะเป็นเพียงรายเขตและรายบุคคล แต่สิ่งที่กังวลคือมีคนออกมาใช้สิทธิ์น้อย ดังนั้นต้องรณรงค์ให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิ์ให้มากกว่านี้ เพราะทุกคะแนนมีความหมาย ส่งผลให้เห็นว่าทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งมีผลกับการเปลี่ยนแปลงประเทศ
ชัชชาติยังได้กล่าวถึงกระแสข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐอาจไม่ส่งผู้สมัครลงชิงผู้ว่าฯ กทม. โดยยืนยันว่า ตนไม่ได้แข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเอง และพยายามทำนโยบายของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะส่งใครหรือไม่ส่งใคร ปัญหาของ กทม. ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งทีมงานยังต้องลงพื้นที่รับฟังปัญหาให้ได้มากที่สุด เพื่อมาจัดทำนโยบายให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง