×

“ประชาชนสนใจว่าเงินภาษีของเขาถูกนำไปทำอะไร” ชัชชาติตอบปมไลฟ์ ชวนทุกคนมาร่วมมือร่วมใจเจียระไนกรุงเทพฯ

โดย THE STANDARD TEAM
22.06.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (22 มิถุนายน) มติชน จัดงานเสวนา ‘สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand’ โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และ เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา โดยมี สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ คอลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

สำหรับการดำเนินรายการเสวนาเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า นับเป็นเวลา 1 เดือนหลังจากได้มีการเลือกตั้งไปเมื่อ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นผู้แทนภาคธุรกิจในวันนี้ มีความเห็นอย่างไรบ้าง และพึงพอใจมากแค่ไหนกับการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. โดยเศรษฐาได้กล่าว แสดงความยินดีกับผู้ว่าฯ กทม. เพราะคะแนนเสียงที่ท่านได้มานั้นเป็นฉันทามติจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ ย่อมมีความคาดหวังที่สูงจากประชาชน ซึ่งมองว่าทำได้เหนือความคาดหวังและสร้างความประทับใจได้ โดยเชื่อว่าทุกคนจะเห็นได้จากการทำงานของท่าน คิดว่ามาถูกทางแล้ว ท่านเป็นเหมือนความหวังและแรงบันดาลใจให้แก่ชาวกรุงเทพฯ เป็นห่วงสุขภาพท่าน และอยากให้พักผ่อนบ้าง

 

“ถ้าถามว่า 1 เดือนที่ผ่านมา เหนื่อยหรือไม่ ต้องตอบเลยว่า ไม่เหนื่อย เพราะชาวบ้านเหนื่อยกว่าเราเยอะ เห็นเราทำงานหนัก ตื่นเช้า แต่ชาวบ้านตื่นก่อนเราและนอนหลังเรา มีคนที่งานหนักกว่าเราอีกเยอะเลย มีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าต่อไปจะกินอะไร อนาคตเป็นอย่างไร จริงๆ แล้ว สิ่งที่ทำไม่ได้หนักเกิน ยังมีคนที่หนักกว่าเรา ผมจะต้องทำเต็มที่เพื่อที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดยเมื่อเช้าได้แวะไปบ่อนไก่มา เพราะยังเป็นห่วงอยู่ เนื่องจากเมื่อวานมีไฟไหม้ และมีชาวบ้านประมาณ 109 คนที่ต้องไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราว บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยบ่อนไก่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีที่อยู่ในอนาคต นักเรียนอีกหลายคนที่ไม่มีชุดนักเรียนใส่เพราะไฟไหม้หมดแล้ว ยังใส่ชุดเก่าอยู่ ยังไม่ได้อาบน้ำเลย” ชัชชาติตอบคำถามผู้ดำเนินรายการ

 

การเสวนาในครั้งนี้ได้มีการกล่าวถึงหน้าที่ของ กทม. นโยบายต่างๆ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยชัชชาติกล่าวว่า หน้าที่ของ กทม. มี 3 เรื่องหลักๆ โดยเรื่องแรกคือ คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น น้ำเสีย น้ำท่วม ขยะ ฝุ่นพิษ มลพิษต่างๆ เรื่องที่สองคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง (Productivity) เพราะ กทม. เป็นผู้ถือกฎหมาย ถือกฎระเบียบต่างๆ โดยเราจะทำอย่างไรให้เมืองมีประสิทธิภาพขึ้น ลดขั้นตอนการปฏิบัติ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และเรื่องสุดท้ายคือ การสร้างโอกาส ซึ่งในเมืองจะมีทั้งคนที่รายได้เยอะและรายได้น้อย คือมีความเหลื่อมล้ำสูง หน้าที่ กทม. จะต้องคอยเกลี่ยความเหลื่อมล้ำตรงนี้ จากคนที่มีเยอะมาสู่คนที่มีน้อย ต้องสร้างสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชน นั่นคือ 3 หน้าที่หลักที่จะต้องทำ

 

เศรษฐาได้กล่าวถึงปัญหาของเมืองในมุมมองเอกชนว่า ปัญหาที่เผชิญปัจจุบันคือเรื่องปากท้อง ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ รายได้ที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้นำทั้งหลายควรร่วมมือกับภาคเอกชนที่จะทำให้คนมีรายได้ ลดปัญหารายจ่าย ลดปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยที่ผ่านมารัฐมักไม่มีการหารือกับภาคเอกชน แต่ความจริงแล้วรัฐสามารถเข้าหารือได้เสมอ เอกชนยินดีให้ความร่วมมือ ซึ่ง กทม. สามารถเข้าหารือได้เสมอ ทุกคนพร้อมสนับสนุน พร้อมช่วยเหลือ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น 

 

“ความจริงแล้ว กทม. ไม่ได้มีหน้าที่สร้างเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ซึ่งถามว่าคำนิยามของเมืองคืออะไร ผมชอบคำนิยามของ อแลง เบอร์ตัวด์  นักวิชาการด้านผังเมืองฝรั่งเศส ที่ได้นิยามไว้ว่า เมืองคือ Labor Market หรือตลาดแรงงาน ถามว่าเรามารวมกันที่กรุงเทพฯ เพราะอะไร นั่นก็เพราะกรุงเทพฯ มีงาน เพราะหัวใจคืองาน แล้วถามว่าใครสร้างงาน ไม่ใช่ กทม. สร้างงาน ราชการไม่ได้สร้างงานเยอะ แต่เอกชนเป็นหลัก ดังนั้น คนสร้างเมืองแท้จริงแล้วคือเอกชน เขาต้องสร้างงานที่มีคุณภาพให้เกิดเศรษฐกิจขึ้น ฉะนั้น กทม. ก็ต้องร่วมมืออย่างแข็งขันกับภาคเอกชนเพื่อจะร่วมสร้างเมืองนี้ในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราเดินสายพบเอกชนตลอด เพราะ กทม. ฝ่ายเดียวไม่สามารถสร้างเมืองที่มีคุณภาพได้ จะต้องใช้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ด้วย นี่คือสิ่งสำคัญ กทม. ต้องประสานและอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถสร้างงานและสร้างเมืองที่มีคุณภาพได้” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติยังกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่าดีใจคือ ข้าราชการ กทม. ปรับตัวได้เร็ว มีคนเก่งๆ เยอะ สามารถรับลูกต่อได้เร็ว ตั้งใจทำงาน และข้าราชการที่ดีมีเยอะมาก ผมเชื่อว่าทุกคนอยากจะช่วย อยากจะทำให้ประชาชนมีความสุข เราต้องเข้าไปคุยกับเขา ให้เกียรติเขา สำหรับการทำงานนั้น ทีมของเรามีคนรุ่นใหม่ ไม่มีกรอบ เลยคิดได้กว้างกว่า ก็ต้องขอบคุณทีมงานที่ทำให้เราเดินได้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่เรานำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) เข้ามาใช้ เพื่อลดการทำงานแบบระบบท่อ (Pipe Line) หรือระบบเส้นสาย เปลี่ยนมาเป็นระบบที่ประชาชนเห็น ผู้บริหารเห็น เขตเห็น หน่วยงานเห็น ทุกคนเห็นเท่ากัน เป็นการลดขั้นตอนการดำเนินการลง อีกทั้งสามารถดูได้ว่าใครรับเรื่องไป สั่งใครต่อ เรื่องไปติดอยู่ที่ใครหรือขั้นตอนใด เช่นเดียวกันกับนโยบาย 200 กว่าข้อที่อยู่บนแพลตฟอร์มของเรา ทุกหน่วยงานสามารถเห็นและดึงไปทำได้เลยโดยไม่ต้องรอให้สั่ง 

 

“เรียกได้ว่าแพลตฟอร์มเป็นการปฏิวัติระบบราชการ เป็นการทลายไซโล (Silo) ซึ่งหมายถึงการทำงานแบบแยกส่วน เพราะสามารถทำให้หน่วยงานต่างๆ มาบูรณาการการทำงานร่วมกับเราได้ ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณมากขึ้น แต่กลับทำให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น” ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติม

 

ด้านเศรษฐาได้กล่าวเสริมว่า นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ผู้ว่าฯ กทม. ตอนนี้มีความเด็ดขาดและมีความจริงใจ ซึ่งการทลายไซโลนี้จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันและทำให้ทุกคนมีความหวัง 

 

นอกจากนี้ ชัชชาติได้กล่าวถึงนโยบายต่างๆ ในการแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย ทั้งที่เป็นการดำเนินการแบบระยะยาว (Long Term) เพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 การปลูกต้นไม้ล้านต้นเพื่อลดมลพิษ ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้เลย ยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งทำเร็วเมืองก็ยิ่งน่าอยู่เร็วเท่านั้น แต่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายระยะสั้น (Short Term) ด้วย เช่น ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบสายสื่อสารบนดินโดยนำสายที่ไม่ใช้แล้วออก ซึ่งไม่ต้องใช้เวลานาน สามารถทำได้ทันที 

 

ส่วนสรกลยังได้สอบถามความคิดเห็นกรณีการไลฟ์ของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเศรษฐาตอบว่า เรื่องไลฟ์ก็ถือว่ามาถูกทาง ประชาชนจะได้เห็นว่าคนที่ตนเลือกมานั้นทำอะไรบ้าง เป็นการทำให้เห็นว่าสิ่งใดทำได้ก็ควรทำไปก่อน โดยชัชชาติกล่าวเสริมว่าโซเชียลมีเดียมีพลังในการสื่อสาร ถือเป็น Soft Power ที่ใช้สำหรับสื่อสารนโยบาย เป็นการสื่อสารโดยตรงถึงประชาชน ซึ่งการไลฟ์ไม่ใช่การจับผิดหน่วยงาน แต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการทำงานมากขึ้น สิ่งสำคัญคือหน่วยงานต้องมีความรู้ ความเข้าใจในปัญหานั้นๆ ถ้าไม่เข้าใจจะสื่อสารออกมาให้คนเข้าใจไม่ได้ ดังนั้นต้องหาข้อมูล ต้องศึกษาให้ดี และสื่อสารให้คนได้เข้าใจด้วย 

 

“ประชาชนสนใจว่าเงินภาษีของตนถูกนำไปทำอะไร การไลฟ์ทำให้เขาได้เห็นการทำงาน โดยการไลฟ์นั้นเป็นทางเลือกให้ผู้ชม ไม่ใช่การบังคับให้คนเข้ามาชม อย่างเมื่อวันก่อนผมได้พบเด็กผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่ง เธอบอกว่า ‘หนูเป็นโรคซึมเศร้า หนูดูไลฟ์อาจารย์แล้วมีพลังใช้ชีวิต’ แม้เป็นเพียงแค่คนเดียว แต่ก็ทำให้มีกำลังใจในการไลฟ์ต่อไป” ชัชชาติกล่าว

 

ในช่วงท้ายการเสวนา สรกลได้ถามถึงสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหา ชัชชาติกล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาของบ้านเราคือเรามีความขัดแย้งกันเยอะ เราแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เราใช้อารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจะมีเพียงคนกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้งตรงนี้ ดังนั้นเราจะต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือร่วมใจ เป็นหนึ่งเดียวกัน ใช้เหตุผลให้มากขึ้น ประเทศไทยก็จะไปต่อได้

 

ช่วงหนึ่งชัชชาติกล่าวถึงกรณีถนนลูกรังว่า จริงแล้วถนนลูกรัง เป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศ เพราะเมื่อเริ่มความเจริญ ถนนลูกรังจะไปก่อน และต่อมาต้องค่อยๆ เปลี่ยนเป็นลาดยางและคอนกรีต ดังนั้นประเทศไหนที่ยังไม่เคยมีถนนลูกรังคือหยุดเจริญ เป็นตัวนำความเจริญ ในสหรัฐอเมริกาก็เคยมีเยอะแยะไปหมด 

 

ส่วนเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของปากท้อง เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรที่เอื้อให้คนอยากเข้ามา หาวิธีในการลดขั้นตอนได้ไหม เพราะจะสามารถหารายได้เข้าประเทศได้เยอะ ผู้นำต้องมีการออกไปเจรจากับนานาประเทศด้วย เพื่อสร้างความหวังและกำลังใจให้ประชาชน สำหรับผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากคะแนนเสียงจำนวนมากขนาดนี้ สิ่งสำคัญคือการแบกรับความคาดหวังของประชาชน จะทำอย่างไรที่จะตอบสนองความคาดหวังนั้นได้

 

“สิ่งที่เราทำคือการเปลี่ยนความคาดหวังให้เป็นความร่วมมือ เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหา เราจึงมีแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม เข้ามาช่วยกันเปลี่ยนแปลงเมืองให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ถามว่าเมืองแห่งอนาคตแข่งกันที่อะไร มันแข่งกันว่า เมืองไหนดึงคนเก่งได้มากกว่า เพราะคนเก่งคือคนที่สร้างงานสร้างธุรกิจต่างๆ และคนเก่งมีสิทธิเลือกว่าอยากจะใช้ชีวิตที่ไหน การจะดึงคนให้อยู่ได้ ในส่วนของ กทม. จะต้องพัฒนาเรื่องคุณภาพชีวิต อากาศดี ไม่มีขยะ ไม่มีน้ำเสีย เดินทางสะดวก ฯลฯ แต่หากมองในแง่ของประเทศ ก็อาจจะต้องเป็นเมืองที่มีความยุติธรรม กฎหมายตอบสนองเร็ว โปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ผมว่ากรุงเทพฯ เหมือนเพชร เราไม่แพ้เมืองไหนในโลก เพียงแต่เราเป็นเพชรที่ต้องการการเจียระไนจากทุกฝ่ายเท่านั้นเอง” ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติม

 

ขณะที่เศรษฐากล่าวทิ้งท้ายว่า หลายปัญหาที่หยิบยกขึ้นมา อาจจะบั่นทอนพอสมควร แต่เราควรจะเข้าใจว่ายังมีอะไรดีๆ อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร เด็กรุ่นใหม่ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ เราแค่ต้องการนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ เพื่อให้เขาสร้างความหวังขึ้นมา เชื่อว่าต่อไปพลังมวลชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจะสามารถเลือกผู้ที่เหมาะสมเข้ามาทำงานให้เราได้ อย่าหมดหวัง อย่าหมดกำลังใจ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นตัวอย่างของแรงบันดาลใจและความหวังให้กับคนไทยทั้งประเทศ

 

“ผมว่านี่คือความงดงามของระบอบประชาธิปไตยครับ เราทุกคนมีสิทธิ์เลือก ชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น เราเริ่มต้นการเสวนาด้วยปัญหา และจบการเสวนาด้วยความหวัง เพราะความหวังมีคุณค่าและมีพลัง ทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่ เป็นพลังให้เราก้าวต่อไปได้” สรกล ผู้ดำเนินรายการกล่าวสรุปในตอนท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising