×

กทม. เตรียมจัด ‘บางกอกวิทยา’ เปลี่ยนพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เทศกาลประจำเดือนสิงหาคม

โดย THE STANDARD TEAM
28.07.2022
  • LOADING...
บางกอกวิทยา

วานนี้ (27 กรกฎาคม) บริเวณหน้าห้องประชุมเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. สมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมหารือเรื่อง ‘เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ กิจกรรมประจำเดือนสิงหาคม 2565

 

ชัชชาติกล่าวว่า สำหรับนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา 2 เดือน กทม. เน้นทำเรื่องศิลปะ คือ ดนตรีในสวนและหนังกลางแปลง แต่วิสัยทัศน์ของเราคือเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานศิลปะโดยตรง อีกทั้งยังเล็งเห็นว่างานวิทยาศาสตร์ก็มีความสนุกได้ไม่แพ้งานศิลปะ รองผู้ว่าฯ จึงได้คิดโจทย์ออกมาเป็น ‘บางกอกวิทยา’ ซึ่งเหมือนกับชื่อโรงเรียน เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่

 

เราแปลงห้องเรียนวิทยาศาสตร์จากภายในห้องเรียนมาอยู่ในกรุงเทพฯ จะมีการจัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ โดยให้ทั้งความรู้ ความสนุก และความบันเทิง ระยะเริ่มต้นนี้มีภาคีเครือข่าย 4 ราย ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), บริษัท เทคซอสมีเดีย จำกัด (Techsauce) และสมาคมไทยสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ยังเปิดรับหน่วยงานที่ต้องการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเพิ่มเติมด้วย

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ Maker Space ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานเกี่ยวกับนวัตกรรม เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการที่คนสามารถมาสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งของได้ เช่น มีโรงไม้ เลื่อย เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถพิมพ์ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ออกมาได้ มีอุปกรณ์ตัด ในต่างประเทศที่มีศูนย์นวัตกรรมจะต้องมี Maker Space เพื่อให้คนสามารถนำไอเดียมาผลิตเป็นสิ่งของได้

 

สำหรับเอกชนของเมืองไทยก็มีอยู่ ในอนาคต กทม. อาจจะสร้าง Maker Space เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน สามารถมาผลิตสิ่งของได้ เพราะคนทั่วไปไม่สามารถซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้ แต่จะสามารถมาแชร์อุปกรณ์ส่วนกลางได้ เป็นการเปิดเวทีให้คนสามารถนำไอเดียมาพัฒนาเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จุดประกายความฝันที่ กทม. ตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นต่อไป

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ กทม. ไม่ได้เก่งวิทยาศาสตร์ แต่ กทม. มีพันธมิตรที่เก่ง การจะทำงาน ‘บางกอกวิทยา’ จึงต้องหาแนวร่วม กทม. มีสถานที่ เก่งเรื่องกฎระเบียบ เพราะฉะนั้นต้องหาคนที่เก่ง หาพันธมิตรที่สามารถให้เนื้อหาที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ และระยะต่อไปจะต้องพัฒนาข้อมูลพิพิธภัณฑ์เด็กให้มีความอัปเดต และหาพันธมิตรเก่งๆ เข้ามาช่วย

 

ด้านการบูรณาการเรื่องวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับหลักสูตรของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ศานนท์กล่าวว่า กิจกรรมที่ สวทช. จะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์เด็ก จะมีการสอนเรื่องของ Coding ซึ่งมองว่าหลักสูตรต่างๆ ของ กทม. ควรจะเพิ่มเรื่องของ Coding และ AI เข้าไป เบื้องต้นคือลองดูผลตอบรับจากกิจกรรมที่จะจัดขึ้นก่อนว่าจะสามารถเข้าในหลักสูตรใดได้บ้าง ส่วนกิจกรรมที่ อพวช. จัดขึ้น จะให้เด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครร่วมกิจกรรมที่สามย่านมิตรทาวน์ด้วย โดยเลือกนักเรียนห้องวิทยาศาสตร์หรือนักเรียนที่มีความสนใจไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้

 

สำหรับกิจกรรม ‘บางกอกวิทยา’ คือเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็น 1 ใน 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ สร้างกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศสามารถเข้าร่วม

 

กิจกรรมครั้งนี้ยังมีจุดประสงค์เป็นการกระตุ้นยอดขายจากงานเทศกาล เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นเปิดพื้นที่เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เป็นเรื่องสนุกใกล้ตัวแก่ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X