วันนี้ (1 มิถุนายน) เมื่อเวลา 13.19 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย พระพุทธนวราชบพิตร, ศาลพระภูมิ, พระพุทธชินราช, พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
จากนั้นได้ร่วมพิธีส่งมอบงานในหน้าที่ โดยมี ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเข้ารับมอบนโยบาย 214 ข้อ
ชัชชาติกล่าวขณะมอบนโยบายว่า ขอขอบคุณประชาชนที่เลือกเข้ามาทำหน้าที่รับใช้ ที่ผ่านมาลงพื้นที่เดินมานาน 2 ปีกว่า หลังจากนี้ก็จะลงพื้นที่เดินต่อ พร้อมฝากบอกว่าตนเองไม่ใช่นาย อย่าเรียกว่านาย เราเป็นหน่วยราชการ ไม่ได้เข้ามาเป็นนาย หากมีอะไรสามารถหารือแนะนำกันได้ เพราะตนเองก็เป็นคนใหม่ของกรุงเทพมหานคร ถ้าทำอะไรไม่เหมาะบอกได้ เช่น นโยบาย 214 ข้อ ก็ขอให้ข้าราชการ กทม. ช่วยกันอ่าน และวิเคราะห์ว่าดีหรือไม่ ควรต้องปรับปรุงจุดไหนอย่างไร และ 8 วันที่ผ่านมา เชื่อว่าข้าราชการ กทม. มีแต่คนเก่งๆ และพร้อมทำงาน ขอให้เดินไปด้วยกัน พูดคุยกัน อย่าเก็บไว้ในใจ
ทั้งนี้ ชัชชาติยืนยันว่า ตนจะไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันเด็ดขาด ขอเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใส เพราะตอนนี้เริ่มมีคนนำชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไปแอบอ้าง หากพบขอให้รีบแจ้งทีมงาน เพราะเรามาด้วยความโปร่งใส สุจริต และอยากให้ข้าราชการ กทม. มีชื่อเสียงในส่วนนี้ด้วย และเชื่อมั่นว่าทุกคนอยากทำงานด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม
ทั้งนี้ด้วยไลฟ์สไตล์ของตนเองจะเป็นคนตื่นเช้า ออกกำลังกาย และทำงานต่อ ก็ขอให้ข้าราชการ กทม. อย่ากังวล ไม่ต้องตื่นเช้าตาม และย้ำว่าเวลาที่ตนเองลงพื้นที่ไม่ต้องตามมากันเยอะ มาเฉพาะที่จำเป็น ส่วนใครจะมาด้วยต้องบอกให้ได้ว่ามาทำไม ที่เหลือขอให้เอาเวลาไปทำหน้าที่ตัวเองและดูแลประชาชน รวมถึงกำชับเรื่องของป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ห้ามมีชื่อและรูปของตนเอง เพราะไม่ต้องการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ขอความเรียบง่ายและอย่าทำความเดือดร้อนให้ประชาชน
ชัชชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีอีกนโยบายคือการเป็นผู้ว่าฯ สัญจร จะลงพื้นที่แต่ละเขตทุกวันอาทิตย์ พร้อมตั้งเป้าการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้เขตละ 20,000 ต้น 1 ปี ครบ 1 ล้านต้นพอดี ส่วนนโยบายอื่นๆ หลังจากนี้จะต้องประชุมหารือกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ชัชชาติยังกล่าวทิ้งท้ายว่า สุดท้ายการที่จะเดินไปด้วยกัน ต้องกล้าพูด ให้เป็นเพื่อนร่วมงาน กล้าพูดกล้าแสดงออก เชื่อว่าทุกคนเก่ง ก็ขอให้ทุกคนช่วยกัน
ด้าน ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวต้อนรับว่า ขอขอบคุณชัชชาติที่ตั้งใจแน่วแน่ที่จะพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานครไปข้างหน้าเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน ขอให้เชื่อมั่นว่าพวกเราจะทำงานเป็นอย่างดี
จากนั้นชัชชาติได้แถลงเปิดตัวทีมงาน ประกอบรวมทั้งหมด 18 คน
ทีมรองผู้ว่าฯ กทม. 4 คน
- รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล – จบด้านวิศวะ เป็นคนดูแลเรื่องผังเมืองโยธา
- จักกพันธุ์ ผิวงาม – อดีตข้าราชการ กทม. ที่คนใน กทม. ยืนยันด้วยฝีมือและผลงาน
- ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช – ดูเรื่องภัยพิบัติ เรื่องยุทธศาสตร์
- ศานนท์ หวังสร้างบุญ – เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 33 ปี ทำงานเรื่องชุมชน NGO สิ่งแวดล้อม ให้มาดูปัญหาต่างๆ ของเมือง
คณะที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. 9 คน ประกอบด้วย
- ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษา
- ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
- พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก
- พล.อ.ท. นพ.อนุตตร จิตตินันทน์
- พล.ต.อ. อดิศร์ งามจิตสุขศรี
- ดร.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ
- อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี
- ภาณุมาศ สุขอัมพร (ตัวแทนคนผู้พิการ)
- พรพรหม วิกิตเศรษฐ์
เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ
- ภิมุข สิมะโรจน์ (เลขานุการ)
- เอกวรัญญู อัมระปาล (โฆษก กทม.)
- ศนิ จิวจินดา
- จิรัฏฐ์ ม้าไว
- สิทธิชัย อรัณยกานนท์
พร้อมกันนี้ ชัชชาติยังระบุว่า จะมีกลุ่มที่ปรึกษาเทคนิคและนักวิชาการ จะมีการเปิดตัวอีกครั้ง กลุ่มนี้ช่วยกันทำงานมานานกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งเหตุผลที่เลือกบุคคลเหล่านี้มาเป็นทีมงาน เพราะมีความหลากหลายในหลายมิติ ทั้งเรื่องความซื่อสัตย์ โปร่งใส สุจริต และแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญหลากหลายกันไป
ชัชชาติกล่าวว่าพร้อมเริ่มงานทันที โดยเรื่องด่วนที่ต้องดำเนินการ คือเรื่องการแก้ปัญหารับมือน้ำท่วม ความปลอดภัย และเรื่องหาบเร่แผงลอย เพื่อหาข้อสรุปจุดที่สมดุล และเรื่องสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งพรุ่งนี้จะเชิญกรุงเทพธนาคมมาให้ข้อมูลสัญญาต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะมีคณะทำงานที่ทำมา 2-3 สัปดาห์แล้ว เพื่อทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส และจะนำข้อมูลไปหารือต่อรัฐบาล
ส่วนประเด็นเรื่องของงบประมาณปี 2565 ของ กทม. ที่เหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท จะจัดสรรงบประมาณอย่างไรให้พอดีนั้น ชัชชาติกล่าวว่า ที่งบประมาณน้อยเพราะที่ผ่านมาอาจจะมีการลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และส่วนอื่นๆ ทั้งนี้จึงไม่กังวลเรื่องงบประมาณ เพราะยืนยันว่านโยบาย 214 ข้ออยู่บนพื้นฐานที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะ และไม่ได้มีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งอะไรที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะก็สามารถทำได้ก่อน เช่น ที่ได้เดินหน้าไปแล้วคือการใช้แอปพลิเคชันเป็นช่องทางร้องเรียนให้คนกรุงเทพฯ และหลายอย่างก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ส่วนนโยบายที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณนั้น ก็สามารถที่จะรองบประมาณปี 2566 ได้ รวมถึง กทม. ยังมีเงินสะสมกว่า 1 หมื่นล้านบาทด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการเข้าพบนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัชชาติตอบว่า คงไม่ใช่ตอนนี้ เพราะไม่รู้จะคุยอะไรกับท่าน จะต้องโฟกัสเรื่องของเราก่อน รองผู้ว่าฯ และที่ปรึกษาจะต้องไปลุยงานก่อน โดยวันธรรมดาก็จะลุยงานกับข้าราชการในการผลักดันนโยบาย ส่วนปัญหาต่างๆ ที่เร่งด่วน วันเสาร์-อาทิตย์ก็จะลงพื้นที่ดูหน้างาน ซึ่งคงมีการทำงานผสมกันไป โดยดูช่วงเวลาที่เหมาะสม
ชัชชาติย้ำว่า ขอโฟกัสเรื่องงานในท้องถิ่นก่อน เพราะตนได้รับเลือกตั้งให้มาทำงานในท้องถิ่น และหากจะพูดคุยก็จะทำตามลำดับขั้น คือเข้าพบ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน
ส่วนประเด็นที่มีการเปรียบเทียบทางการเมืองระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าฯ กทม. นั้น ชัชชาติยืนยันว่า เป็นมวยคนละชั้น ซึ่งตนเองคือระดับท้องถิ่น แต่นายกรัฐมนตรีเป็นระดับรัฐบาลที่บริหารงานทั้งประเทศ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีรอยต่อในการทำงานแน่นอน และตนเองทำงานได้กับทุกคน
ทั้งนี้ชัชชาติยังฝากถึงข้าราชการ กทม. ที่ทำงานมานานและยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งด้วยว่า รับประกันว่าจะให้ความเป็นธรรมในการบรรจุแต่งตั้ง โดยจะเชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้ามาร่วมหารือถึงประเด็นนี้ในสัปดาห์หน้า
ชัชชาติยังตอบคำถามเรื่องการย้ายศาลาว่าการ กทม. ไปรวมไว้ที่ กทม. 2 ดินแดง ที่เริ่มมีข้าราชการหลายคนไม่เห็นด้วยว่า ขอให้มองภาพใหญ่ที่ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน และตอนนี้ยังเป็นแค่แนวคิด เป็นเพียงนโยบายที่จะนับหนึ่ง โดยที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อดี ข้อเสีย และงบประมาณ และขอให้นึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ชัชชาติยังกล่าวทิ้งท้ายกับประชาชนว่า จะทำให้ดีที่สุดและจะไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะทุกอย่างโปร่งใส นโยบายอยู่บนเว็บไซต์ ตามความคืบหน้าได้ และวันนี้เดินหน้านโยบายแรก ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น และเปิดงาน Pride Month ซึ่งถือว่ารอมานาน และเป็นอีกบทหนึ่งที่ต้องก้าวต่อไป และน่าจะไปได้ตามที่เราคิดไว้