วันนี้ (18 กรกฎาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2565 ถึงแนวทางปฏิบัติการพิจารณาใช้ที่ดินเอกชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ชัชชาติกล่าวว่า เนื่องจากมีเอกชนเสนอที่ดินให้ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการบริจาค แต่เป็นการจัดสรรให้ กทม. ใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและถือเป็นการช่วยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากยกที่ดินให้ทำประโยชน์สาธารณะจะงดเว้นการเก็บภาษีได้ ชัชชาติกล่าวว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการยกที่ดินให้ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะและไม่ถูกเก็บภาษีถือว่าไม่ได้เป็นที่ดินฟรี
เพราะ กทม. ต้องเสียรายได้จากการเก็บภาษีไปด้วย จึงต้องมีกระบวนการอย่างชัดเจน เพราะที่ดินที่รับมาก็จะมีค่าใช้จ่าย เช่น การรักษาความปลอดภัย ค่าน้ำ ค่าไฟ
อย่างไรก็ตาม จะมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์เพื่อพิจารณา เช่น ใช้ที่ดินได้กี่ปีเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการพัฒนา เพราะต้องคุ้มกับรายได้ที่เสียไปเพื่อประโยชน์ที่คุ้มค่าสูงสุดกับประชาชน
ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นว่า ตอนนี้มี LINE Official Account รูปแบบเหมือน Traffy Fondue ใช้ชื่อว่า ‘ปลูกอนาคต’ วิธีการคือเข้าไปเพิ่มเพื่อนใน LINE ใส่คำค้นหา @tomorrowtree และบันทึกข้อมูลต้นไม้ที่ปลูกได้ ถ่ายรูป เลือกพันธุ์ไม้ มีแผนที่ ติดโลเคชัน
จุดประสงค์ที่ทำคือ เมื่อมีต้นไม้ต้องไปดูแลด้วย คือต้นไม้ที่ไปปลูกที่ไหนมาก็จะมีประวัติ สามารถติดตามและอัปเดตสถานะได้ และขณะนี้มีผู้จองร่วมปลูกต้นไม้กับ กทม. แล้วประมาณ 1.6 ล้านต้น